×

ยิงกระสุน ‘บาซูก้า’ การคลังอย่างไรให้โดนเป้าและตรงจุด หลักการ 5 ข้อ รับมือวิกฤตโควิด-19 ที่รัฐต้องใช้

16.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • นักเรียนเศรษฐศาสตร์จะคุ้นกับหลัก 3T สำหรับนโยบายกระตุ้นทางการคลัง คือ Targeted (ถูกเป้า), Timely (ถูกเวลา) และ Temporary (ใช้ชั่วคราว) แต่ในยามที่สถานการณ์เป็นเสมือนการออกสงครามครั้งใหญ่อย่างในปัจจุบัน เราอาจต้องเติมอีก 2 ตัวคือ Titanic (แปลว่าใหญ่มหาศาล) และ Transparent (โปร่งใส)
  • อำนาจย่อมต้องมาคู่กับความรับผิดชอบ ยิ่ง ‘ปืน’ ที่ใช้ยิ่งใหญ่ ก็ยิ่งต้องมีความโปร่งใสในการใช้เม็ดเงินเปิดเผยให้ประชาชนรู้ โดยควรมีเพจศูนย์กลางที่รวบรวมและอัปเดตข้อมูลให้ประชาชนว่าแต่ละมาตรการกระตุ้นตั้งแต่ชุด 1-3 ที่ออกมา ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว และได้ผลอย่างไรบ้าง
  • สุดท้ายต้องไม่ลืมว่า นโยบายบาซูก้าการคลังควรใช้เฉพาะ ‘ยามสงคราม’ เท่านั้น เมื่อวิกฤตโควิด-19 จบ ต้องอย่าลืมเอา ‘ไปเก็บ’ ด้วย เพราะนโยบายบาซูก้าไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว และไม่ควรหยิบมาใช้บ่อยๆ ใน ‘ศึกเล็กๆ’ ด้วย

ในที่สุดรัฐบาลไทยก็ประกาศใช้ ‘บาซูก้า’ การคลังออกมา โดยจะออก พ.ร.ก. กู้เงินถึง 1 ล้านล้านบาท พร้อมกับมาตรการทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือ SMEs และตลาดหุ้นกู้

 

แต่เราจะดูอย่างไรว่ามาตรการการคลังที่ออกมานี้ ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ บาซูก้าที่ดีควรจะมีลักษณะอย่างไร

 

ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าบาซูก้าที่ดีต้องมี 5T คือ ยึดหลัก 5 ข้อ ที่ขึ้นต้นด้วยตัว ‘T’ ทั้งหมด

 

นักเรียนเศรษฐศาสตร์จะคุ้นกันกับหลัก 3T สำหรับนโยบายกระตุ้นทางการคลัง คือ Targeted (ถูกเป้า), Timely (ถูกเวลา) และ Temporary (ใช้ชั่วคราว)

 

แต่ในยามที่สถานการณ์เป็นเสมือนการออกสงครามครั้งใหญ่อย่างในปัจจุบัน เราอาจต้องเติมอีก 2 ตัวคือ Titanic (แปลว่าใหญ่มหาศาล ไม่ใช่ชื่อเรือใหญ่แต่ล่มนะครับ) และ Transparent (โปร่งใส)

 

Titanic คือต้องใหญ่พอ

เพราะวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 น่าจะทั้ง ‘ลึก’ และ ‘ยาว’

 

การช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลจึงต้องมีกระสุนมากพอ ซึ่งประเด็นนี้ผมได้อธิบายไปพอสมควรแล้วในบทความก่อน (อ่าน https://www.the101.world/fiscal-bazooka/)

 

Transparent ต้องโปร่งใส

แต่อำนาจย่อมต้องมาคู่กับความรับผิดชอบ

 

ยิ่ง ‘ปืน’ ที่ใช้ยิ่งใหญ่ ก็ยิ่งต้องมีความโปร่งใสในการใช้เม็ดเงินเปิดเผยให้ประชาชนรู้ โดยควรมีเพจศูนย์กลางที่รวบรวมและอัปเดตข้อมูลให้ประชาชนว่าแต่ละมาตรการกระตุ้นตั้งแต่ชุด 1-3 ที่ออกมา ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว และได้ผลอย่างไรบ้าง

 

การมีช่องทางออนไลน์กลางเช่นนี้ไม่ได้มีเพื่อจะตรวจสอบการใช้เงินของรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในการสื่อสารให้คนเข้าใจถึงความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ทั้งยังจะช่วยเป็น ‘หน้าต่าง’ รับฟังเสียงตอบรับของประชาชนด้วยว่ามาตรการต่างๆ ‘เข้าเป้า’ หรือไม่อย่างไร จะได้คอยปรับปรุง คอยต่อเติมมาตรการต่างๆ ไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

 

แต่นั่นไม่ได้แปลว่า T อีก 3 ตัว สำคัญน้อยกว่านะครับ

 

ความจริงแล้วในระยะต่อไปนี้ การใช้บาซูก้ายิงให้ทัน (Timely) ท่วงทีและตรงเป้า (Targeted) จะเป็นหัวใจสำคัญว่ามาตรการนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่

 

Timely ต้องทันท่วงที

ทางรัฐบาลอาจจะต้องการให้มาตรการช่วยเหลือลงไปที่กลุ่มคนที่ต้องการจริงๆ บวกกับอาจจะอยากเก็บข้อมูลของคนที่มาขอความช่วยเหลือ อย่างเช่น ในกรณีแจก 5,000 บาท ให้แรงงานนอกระบบฯ จึงให้มีการลงทะเบียนเข้าระบบ ก่อนจะถูกคัดเลือกให้ได้รับการเยียวยา

 

แต่ความท้าทายก็คือ การตั้งเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้สร้างภาระกับผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ และทำให้การเยียวยาช้าลง (และเสี่ยงต่อการตกหล่นด้วย) ในวันที่เรากำลังแข่งกับเวลา เพราะทุกวัน คนและธุรกิจเหมือน ‘จมน้ำ’ กำลังตะเกียกตะกายลอยตัวให้ไม่ขาดอากาศ

 

หนทางแก้ไขหนึ่งก็คือ ก่อนจะใช้มาตรการแบบช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มในลักษณะที่ว่านี้ (Targeted Measures) อาจต้องใช้มาตรการความช่วยเหลือแบบยิงเป็นวงกว้าง ‘ปูพรม’ ไปก่อน เช่น การแจกเงินสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนก่อนในจำนวนไม่ต้องมาก เมื่อปูพรมด้วยมาตรการเช่นนี้แล้ว จึงเสริมด้วยนโยบายแบบเฉพาะเจาะจงให้คนบางกลุ่มที่อาจใช้เวลาในการปฏิบัติอีกที ซึ่งนี่เป็นแนวทางที่มีหลายประเทศใช้กัน

 

Targeted ต้องถูกเป้าหมาย

ต้องยอมรับว่า รอบนี้ทุกคนถูกกระทบหมด แต่น่าจะมีกลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ ดังนี้

 

  1. สาธารณสุข ทัพหน้าของเราต้องพร้อมทั้งกำลังคน อุปกรณ์ สถานที่เพื่อการตรวจ (Test) แกะรอย (Trace) แยกตัว (Isolate) รักษา พักฟื้น ยิ่งเอาไวรัสอยู่เร็ว ยิ่งกดปุ่มเปิดเครื่องเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น

 

  1. ผู้ที่มีสายป่านสั้น เช่น SMEs แรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะพวกหาเช้ากินค่ำ ครัวเรือนรายได้น้อย เพื่อให้เขาไม่ต้องออกมาทำงานจนเสี่ยงการติดเชื้อ

 

  1. ลูกจ้าง ปัจจุบันมีการช่วยเหลือคนถูกเลิกจ้าง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การให้แรงจูงใจบริษัทต่างๆ ไม่ให้เลิกจ้างคนงาน เพราะเมื่อคนงานถูกเลิกจ้างไปแล้ว อาจจะกลับมาทำงานใหม่ไม่ได้ง่ายๆ แม้ในวันที่เศรษฐกิจฟื้นแล้ว

 

ผมยังคงความเห็นเดิมว่า รัฐบาลอาจควรพิจารณาใช้นโยบายช่วยชดเชยค่าจ้างพนักงานให้บริษัทแบบที่อังกฤษและสิงคโปร์ทำ โดยมีข้อแม้ให้ไม่ไล่คนออกหรือลดเงินเดือนเกินกว่า x% เทียบกับก่อนโควิด-19

 

  1. การช่วยธุรกิจใหญ่หน่อย รัฐบาลอาจควรตั้งเงื่อนไขเพื่อสร้างให้เกิด ‘ห่วงโซ่แห่งการเยียวยา’ หรือการส่งความช่วยเหลือต่อเป็นทอดๆ (คล้ายแนวคิดห่วงโซ่การผลิต) ไม่หยุดอยู่ที่แค่คนแรกที่ได้รับประโยชน์จากรัฐบาลโดยตรง

 

ยกตัวอย่างเช่น หากช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์/เจ้าของที่ อาจมีเงื่อนไขว่า ให้บริษัทนั้นต้องลด/งดค่าเช่าชั่วคราวให้ผู้เช่าด้วย หากช่วยสถาบันก็ต้องส่งผ่านดอกเบี้ยที่ถูกลง หรือการพักชำระหนี้ให้ลูกหนี้ด้วย

 

Temporary ต้องชั่วคราวเท่านั้น

สุดท้ายต้องไม่ลืมว่า นโยบายบาซูก้าการคลังควรใช้เฉพาะ ‘ยามสงคราม’ เท่านั้น เมื่อวิกฤตโควิด-19 จบ ต้องอย่าลืมเอา ‘ไปเก็บ’ ด้วย เพราะนโยบายบาซูก้าไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว และไม่ควรหยิบมาใช้บ่อยๆ ใน ‘ศึกเล็กๆ’ ด้วย

 

ในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น วิกฤตโควิด-19 อาจไม่ใช่เป็นสงครามใหญ่ศึกเดียวในช่วงชีวิตที่แต่ละคนต้องเผชิญ

 

วันนี้เรายืม ‘กระสุนการคลัง’ จากอนาคตมาใช้

 

เมื่อสงครามจบ ก็ควรเริ่มเก็บสะสมกระสุนเข้าคลังใหม่ เพื่อให้คนรุ่นลูกหลานมีใช้ในศึกใหญ่ที่เขาจะต้องเผชิญ

 

หมายเหตุ: ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัว มาพยายามช่วยๆ กันระดมสมอง คิดหาทางออกกันนะครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising