รัฐบาลฮ่องกงเตรียมอนุมัติแพ็กเกจเงินกู้เกือบ 30,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 121,000 ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือสายการบิน Cathay Pacific ที่ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก หลังเผชิญวิกฤตการประท้วงและการระบาดของโรคโควิด-19
การช่วยเหลือดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาลฮ่องกงที่อัดฉีดเม็ดเงินช่วยเหลือโดยตรงแก่บริษัทเอกชน ขณะที่ Cathay ต้องรับเงื่อนไขแลกเปลี่ยน คือเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างการเงินของสายการบินกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง และให้รัฐบาลฮ่องกงเข้าถือหุ้นแบบไม่เปิดเผยจำนวน พร้อมทั้งส่งตัวแทนเข้าไปนั่งเก้าอี้บอร์ดบริหาร 2 ตำแหน่ง เพื่อสังเกตการณ์ แต่ไม่มีอำนาจลงมติ โดยสามารถแสดงความเห็นได้เฉพาะการตัดสินใจในประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน เช่น การไม่อนุญาตให้ปลดพนักงานจำนวนมาก และคงคุณค่าของสายการบินให้สอดคล้องกับหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ
ช่วงเช้าวันนี้ (9 มิถุนายน) แคร์รี ลัม ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ได้ร่วมประชุมกับคณะผู้บริหาร เพื่ออนุมัติแพ็กเกจเงินกู้ดังกล่าวในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการภายในวันนี้
หนังสือพิมพ์ South China Morning Post รายงานอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า สาเหตุที่รัฐบาลฮ่องกงตัดสินใจอุ้มสายการบิน Cathay Pacific เนื่องจากต้องการคงสถานะการเป็น Hub หรือศูนย์กลางการบินในภูมิภาคต่อไป
ขณะที่ก่อนหน้านี้ Cathay พยายามหาทางกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องจากตลาดตราสารทุนเอกชน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงจำเป็นต้องยอมให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร
ปัจจุบันสายการบิน Cathay Pacific เป็นธุรกิจในเครือของกลุ่มบริษัท Swire Group ซึ่งถือหุ้นกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ และสายการบิน Air China ถือหุ้น 29.99 เปอร์เซ็นต์
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เครื่องบินของ Cathay ครองพื้นที่รันเวย์สนามบินฮ่องกงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นหนึ่งในสายการบินใหญ่ที่สุดของเอเชีย และเป็นผู้ให้บริการขนส่งทางอากาศรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก โดยมีเครื่องบิน 283 ลำ และมีผู้โดยสายใช้บริการกว่า 35.2 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้โดยสารกว่าครึ่งมาจากฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่
แต่ผลกระทบจากวิกฤตการเมืองและการระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ที่ทำให้สายการบินทั่วโลกหยุดชะงัก ทำให้สายการบิน Cathay Pacific ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักในช่วง 4 เดือนแรก กว่า 4,500 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 18,000 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: