ฮ่องกงออกแพ็กเกจแจกเงินและลดภาษีอีกรอบ หลังเปิดพรมแดนครั้งแรกในรอบ 3 ปี หวังเร่งเครื่องเศรษฐกิจ หลังสิงคโปร์จ่อชิงตำแหน่งศูนย์กลางธุรกิจ-การลงทุน อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม เนื่องจากรัฐบาลต้องการลดการขาดดุลงบประมาณ สร้างความยั่งยืนทางการคลัง
พอล ชาน (Paul Chan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฮ่องกง กล่าวระหว่างการนำเสนองบประมาณประจำปีว่า ทางการฮ่องกงจะเริ่มลดมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค เนื่องจากต้องการสร้างสมดุลระหว่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกับการขาดดุลการคลังที่ลึกขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจฮ่องกงจะขยายตัว 3.5-5.5% ในปีนี้ หลังจากหดตัว 3.5% ในปี 2022
โดยรัฐบาลจะมอบบัตรกำนัลมูลค่า 5,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (หรือราว 22,092 บาท) แก่ผู้อยู่อาศัยในฮ่องกงที่มีสิทธิ์ ซึ่งคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ได้สิทธิ์เมื่อปีที่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีการลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลสูงสุดที่ 6,000 ดอลลาร์ฮ่องกงสำหรับปีงบประมาณ ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2023 ลดลงจาก 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกงในปีก่อนหน้า
และยังมีการลดอากรแสตมป์ (Stamp Duty) ซึ่งเป็นภาษีรูปแบบหนึ่ง สำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าน้อยกว่า 20 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงเป็นครั้งแรกด้วย
แม้ว่าอัตราภาษีอื่นๆ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่รัฐบาลฮ่องกงก็ยังปรับขึ้นภาษีผลิตภัณฑ์ยาสูบ หวังลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากครั้งแรกในรอบ 10 ปี พร้อมทั้งเสนอให้เก็บภาษีสำหรับการพนันฟุตบอลถึง 2.4 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกงต่อปี เป็นเวลา 5 ปีด้วย
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของฮ่องกงรอบนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลต้องการควบคุมการขาดดุลงบประมาณ แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ฮ่องกงจะกลับมาเกินดุลการคลังเล็กน้อยในปีนี้ แต่รัฐมนตรีคลังฮ่องกงกล่าวว่า เขาจะยึดจุดยืนทางการคลังแบบ ‘เสรีนิยมปานกลาง’ (Moderately Liberal Fiscal Stance) และฮ่องกงจะยังคงขาดดุลประมาณราว 5.44 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกงในปีงบประมาณนี้ จาก 1.4 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกงในปีก่อนหน้า
ฮ่องกงกำลังเร่งเครื่องเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากเห็นการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางอีกแห่งที่น่าสนใจในเอเชียสำหรับนักธุรกิจ ผู้มีความสามารถ และนักลงทุน ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทั่วโลกที่อ่อนแอลง การอพยพของประชากรในช่วงที่เกิดโรคระบาด และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ฮ่องกง’ ทำไมสถานะ ‘ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย’ กำลังถูกสั่นคลอน และอาจกลายเป็นแค่อดีต
- ส่องกรณีศึกษาการเติบโตของ เศรษฐกิจสิงคโปร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า
- เปิดจุดเด่น เวียดนาม หลังจ่อขึ้นแท่นประเทศที่คว้าชัยในยุค Deglobalization
อ้างอิง: