ความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียกัมมันตภาพรังสีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ทำให้ฮ่องกงแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนที่จะสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น รวมถึงโตเกียว หากมีการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทร
ข้อเสนอของญี่ปุ่นเกี่ยวข้องกับการปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วกว่าล้านตัน ซึ่งมีทริเทียม ที่เป็นไอโซโทปของไฮโดรเจนกัมมันตภาพรังสีลงสู่ทะเล คาดว่าจะใช้เวลาต่อเนื่องกว่า 30 ปีด้วยกัน
ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจดังกล่าวกระตุ้นให้ฮ่องกงแสดงท่าทีแข็งกร้าว โดยมีเป้าหมายหลักคือเพื่อปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของประชากรฮ่องกง “เพื่อเป็นมาตรการป้องกัน เมื่อญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียลงทะเล รัฐบาลจะห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งหมดจาก 10 จังหวัดในญี่ปุ่นทันที รวมถึงอาหารทะเลทุกชนิด เกลือทะเล และสาหร่าย” เซชินวัน (Tse Chin-wan) รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกาหลีเหนือจวก IAEA หลังอนุมัติญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
- หน่วยงานกำกับดูแลนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นอนุมัติระบบปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงมหาสมุทร
- ทำไมญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำเสียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงมหาสมุทรแปซิฟิก ปลอดภัยแล้วหรือ?
จังหวัดที่รวมอยู่ในคำเตือนนี้ ได้แก่ โตเกียว, ฟุกุชิมะ, ชิบะ, โทชิงิ, อิบารากิ, กุนมะ, มิยางิ, นีงาตะ, นากาโนะ และไซตามะ ซึ่งทั้งหมดระบุว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงเนื่องจากอยู่ใกล้กับโรงงานฟุกุชิมะ 5 จังหวัดเหล่านี้ ได้แก่ ฟุกุชิมะ, ชิบะ, กุนมะ, อิบารากิ และโทชิงิ ปัจจุบันกำหนดให้ต้องแสดงใบรับรองรังสีสำหรับอาหารบางประเภทที่ส่งออกไปยังฮ่องกง
ตัวเลขอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่า ในปีที่แล้ว 6.75% ของอาหารทะเลทั้งหมดที่บริโภคในท้องถิ่นมาจากญี่ปุ่น นอกจากนี้ ฮ่องกงนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นกว่า 457,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง สินค้านำเข้ายอดนิยม ได้แก่ ผลไม้ และปลา มูลค่า 1.37 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง และ 1.07 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง ตามลำดับ
ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับแผนการของญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อน และประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า พวกเขาจะยังคงห้ามนำเข้าสินค้าจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่นต่อไป
อย่างไรก็ตาม นาโอโตะ นากาฮาระ รองกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นประจำฮ่องกง ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia โดยอ้างว่า ฮ่องกงพยายามประจบประแจงปักกิ่งผ่านท่าทีแข็งกร้าวต่อแผนของญี่ปุ่น ความคิดเห็นนี้เกิดขึ้นหลังจาก จอห์น ลี คาชิว เตือนถึงการแบนผลิตภัณฑ์จากทะเลของญี่ปุ่นในปริมาณมาก หากญี่ปุ่นดำเนินการตามแผนการปล่อยน้ำเสียที่มีข้อขัดแย้ง
กระนั้น รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาฮ่องกง แย้งว่า การแบนที่เสนอนี้ไม่เกี่ยวข้องกับปักกิ่ง และย้ำว่าฮ่องกงยังคงรักษาระดับการปกครองตนเองในระดับสูงภายใต้หลักการปกครองแบบหนึ่งประเทศสองระบบ
ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ให้คำมั่นระหว่างการประชุมกับประธานาธิบดียุนซอกยอลของเกาหลีใต้ ว่าจะหยุดปล่อยน้ำทันที หากระดับกัมมันตภาพรังสีเกินมาตรฐานความปลอดภัย ในขณะเดียวกัน มีรายงานว่าตัวแทนจากหอการค้าญี่ปุ่นพยายามที่จะเกลี้ยกล่อมให้รัฐบาลฮ่องกงยอมรับแผนการที่ลดผลกระทบต่อการค้าของทั้งสองแห่ง แม้ว่าอำนาจของพวกเขาอาจมีจำกัดก็ตาม เนื่องจากท่าทีของทางการฮ่องกงต้องสอดคล้องกับปักกิ่ง
ภาพ: Vernon Yuen / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง:
- www.scmp.com/news/hong-kong/health-environment/article/3227389/japanese-diplomat-hong-kong-accuses-city-trying-win-brownie-points-beijing-tough-stance-fukushima
- www.washingtonpost.com/business/2023/07/11/hong-kong-fukushima-wastewater-seafood/582316a6-1fa9-11ee-8994-4b2d0b694a34_story.html
- apnews.com/article/hong-kong-wastewater-fukushima-seafood-japan-428399d3b8577b40dcd63cbd14393032