×
SCB Omnibus Fund 2024

Home Bias อคติความเคยชินในการลงทุน กับผลตอบแทนที่หายไป

08.12.2020
  • LOADING...
Home Bias อคติความเคยชินในการลงทุน กับผลตอบแทนที่หายไป

“อย่าลงทุนในธุรกิจที่คุณยังไม่เข้าใจดี” เป็นประโยคแรกๆ ที่นักลงทุนส่วนใหญ่มักเห็นผ่านตาจากหนังสือต่างๆ และยังเป็นคำพูดที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดังของโลกได้กล่าวไว้อีกด้วย แต่อย่าลืมว่าสไตล์การลงทุนของบัฟเฟตต์นั้นค่อนข้างลงทุนเป็นจำนวนเงินก้อนใหญ่ และไม่ถือหุ้นเป็นจำนวนมากโดยถือคติ “ใส่ไข่ทุกฟองไว้ในตะกร้าใบเดียว แล้วจงดูแลมันอย่างดี” ซึ่งค่อนข้างตรงข้ามกับหลักการลงทุนที่ให้กระจายความเสี่ยง โดยผมมองว่าอาชีพหลักของบัฟเฟตต์คือการเป็นนักลงทุนอาชีพ แตกต่างกับนักลงทุนทั่วไปที่อาจไม่ได้มีรายได้หลักมาจากการลงทุน แต่มาจากเงินเดือนหรือธุรกิจส่วนตัว ซึ่งทำให้อาจไม่มีเวลามากพอที่จะดูแลตะกร้าใบเดียวให้ดี แต่อาจจะเหมาะกับการใส่ไข่ไว้ในตะกร้าหลายใบมากกว่า

แม้ทฤษฎีจะบอกให้เรากระจายการลงทุนไปในหลายสินทรัพย์ หลากหลายประเทศ เพื่อสร้างพอร์ตโฟลิโอที่เหมาะสม แต่ผมเชื่อว่าเมื่อดูภาพรวมพอร์ตโฟลิโอของนักลงทุนคนไทยแล้วนั้น ยังน่าจะมีสัดส่วนการลงทุนในไทยมากกว่าในต่างประเทศ โดยหากเทียบ Market Cap ตลาดหุ้นทั่วโลกกว่า 40 แห่ง เราควรจะมีหุ้นสหรัฐฯ ในสัดส่วน 40% หุ้นจีน 18% และหุ้นไทยเพียง 0.50% เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วพอร์ตหุ้นของหลายๆ ท่านเกินกว่าครึ่งน่าจะลงทุนในไทยมากกว่าต่างประเทศ

‘Home Bias’ หรือ ‘Familiarity Bias’ คือพฤติกรรมที่เราลงทุนในประเทศที่เราอาศัยอยู่หรือคุ้นชินเป็นสัดส่วนมากกว่า เสมือนการลงทุนอยู่ใน Comfort Zone โดยไม่มีเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์มารองรับ เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า อคติการลงทุนประเภทหนึ่ง ที่นักลงทุนใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจมากกว่าการใช้เหตุผล

ไม่ใช่แค่นักลงทุนในไทยหรอกครับที่มีพฤติกรรม Home Bias จากผลการศึกษาในต่างประเทศที่สนับสนุนโดย Charles Schwab Investment Management รายงานว่า นักลงทุนที่เป็น High Net Worth ก็ยังมีพฤติกรรม Home Bias โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นนักลงทุนที่อยู่ในช่วง Silent Generation (เกิดปี 1928-1945) โดยนักลงทุนที่อายุน้อยมักจะมีพฤติกรรม Home Bias ที่น้อยกว่า แม้กระทั่งมืออาชีพอย่างผู้จัดการกองทุนก็ยังพบพฤติกรรมนี้บ้าง แต่ส่วนใหญ่มักจะปรากฏในพอร์ตของนักลงทุนรายย่อยมากกว่าครับ

Home Bias เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น สาเหตุหลักมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘Information Advantage’ ที่ผู้ลงทุนได้ใช้สินค้าและบริการของหุ้นหรือบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศที่อาศัยอยู่ ทำให้มองว่าเราสามารถเข้าใจธุรกิจนี้ได้ดี และก่อให้เกิดความมั่นใจในการลงทุน เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในประเทศที่ไม่เคยไป บริษัทที่ชื่อไม่คุ้นหู และสินค้าที่เราไม่เคยใช้บริการ

โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เปิดตลาดทุนมาได้เพียง 45 ปี ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหม่ การทำให้นักลงทุนรู้จักตลาดหุ้น หรือการลงทุนในช่วงแรกก็ค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร อีกทั้งช่องทางในการลงทุนต่างประเทศเมื่อก่อนก็ค่อนข้างจำกัด ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนไทยเกิดพฤติกรรม Home Bias ได้ง่ายขึ้น

บางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้ว Home Bias ไม่ดีอย่างไร ตราบใดที่เราลงทุนแล้วยังได้กำไรก็ถือว่าใช้ได้แล้วไม่ใช่หรือ หากมองเทียบกับผลตอบแทนชนะเงินฝากหรือเงินเฟ้อนั้น การลงทุนแต่ในประเทศที่อาศัยอยู่ก็ไม่ได้ผิดอะไรหรอกครับ แต่มันจะเป็นการจำกัดโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เป็นผู้นำอย่างสหรัฐฯ หรือประเทศที่มีโอกาสการเติบโตสูงในแถบเอเชีย

การที่นักลงทุนมี Home Bias แล้วจะส่งให้ผลตอบแทนหายไปมากน้อยเท่าใดนั้น เราสามารถหาคำตอบได้โดยใช้วิธีที่เรียกว่าการทำ Back Test หรือจำลองผลตอบแทนจากการลงทุน โดยในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม 2000 ถึง 31 ตุลาคม 2020 โดยมีสมมติฐานว่าได้รับผลตอบแทนทั้งในรูปแบบของส่วนต่างของราคาและเงินปันผล (Total Return) และมีผลต่างของค่าเงิน (FX Gain/Loss) ให้สะท้อนเสมือนการลงทุนจริงจะได้ผลลัพธ์ดังนี้

 

 

จากกราฟข้างต้นจะเห็นได้ว่าหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นและเติบโตได้ดีในช่วงปี 2010-2013 แต่ในช่วงปี 2017-2020 หุ้นไทยมีผลตอบแทนที่ค่อนข้างไม่ดีนัก ในทางกลับกัน ดัชนีหุ้น NASDAQ ที่ปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างที่ใครคาดไม่ถึง ก็มีผลตอบแทนค่อนข้างแย่ในช่วงปี 2010-2014 ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่นักลงทุนมี Home Bias จะทำให้พลาดโอกาสในการลงทุนของภูมิภาคอื่นที่มีการปรับตัวได้ดี

หากเป็นสมัยก่อนเราอาจจะบอกได้ว่าเพราะเราไม่รู้จักบริษัทหรือหุ้นต่างประเทศ ทำให้ไม่กล้าเข้าไปลงทุน แต่ในปัจจุบันที่โลกเรามีความเป็น Globalization มากขึ้น ผมว่าเราจะรู้จักบริษัทต่างประเทศมากกว่าบริษัทไทยเสียอีก เพราะเราใช้โทรศัพท์ iPhone, Samsung หรือ Xiaomi เครื่องใช้ไฟฟ้า Sony, LG, Samsung การทำงานเราก็ใช้ Windows, Gmail, LINE ด้านสันทนาการก็ใช้ Spotify, Netflix หรือช้อปปิ้งผ่าน Lazada และ Shopee ดังนั้นจะบอกว่าเราไม่รู้จักหุ้นหรือบริษัทต่างประเทศนั้นก็อาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว

แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถไป Company Visit หรือสัมภาษณ์ผู้บริหารได้เหมือนในประเทศเราเอง แต่ผมก็ไม่คิดว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะทำเช่นนั้นกับหุ้นทุกตัวที่ถืออยู่ แต่จะเป็นการลงทุนที่กระจายลงไปในหุ้นหลายๆ ตัว หรือซื้อทั้งตลาดที่เรียกว่า Index ไปเลยมากกว่า ทำให้ความเสี่ยงเฉพาะตัวของบริษัทย่อมลดน้อยลงไปด้วย

อีกทั้งในปัจจุบันช่องทางในการลงทุนต่างประเทศนั้นก็มีการเปิดกว้างและมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนเหมือนสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ ผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ ที่มีทั้งผู้จัดการกองทุนของ บลจ. ในไทยคัดเลือกหุ้นและลงทุนเอง หรือนำเงินของผู้ลงทุนไปลงทุนกองทุนต่างประเทศอีกต่อ (Feeder Fund หรือ Fund of Funds) ผ่านบริษัทชั้นนำอย่าง BlackRock, JPMorgan, UBS และอื่นๆ อีกมากมาย หรือลงทุนผ่าน Broker บริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถเปิดบัญชี Off-Shore เพื่อลงทุนซื้อหุ้นต่างประเทศได้โดยตรง ซึ่งบางแห่งก็มีบริการบทวิเคราะห์หุ้นต่างประเทศให้อีกด้วย

แน่นอนว่ามนุษย์เราคงไม่มีใครสามารถลงทุนโดยไม่มีอคติได้ 100% แต่อย่างน้อยการที่รู้จักเรื่องของ Home Bias นี้ก็น่าจะทำให้นักลงทุนหันมาดูพอร์ตการลงทุนของตัวเอง ว่าสัดส่วนประเทศที่เราลงทุนนั้นเป็นเพราะหุ้นประเทศนั้นมีโอกาสเติบโตได้ดี หรือมาจากอคติความเคยชินกันแน่ เพราะศัตรูคนสำคัญของการลงทุนอาจไม่ใช่ตลาดหุ้น การเมือง หรือเศรษฐกิจ แต่เป็นตัวนักลงทุนเราเองนี่แหละครับ

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising