หากรู้สึกเจ็บบริเวณหน้าอก จนอาจสงสัยว่าเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ นั่นไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะโรคหัวใจเป็นโรคอันตรายอันดับต้นๆ ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจวาย (Heart Attack) ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยป่วยเป็นโรคนี้กันมากขึ้น
โรคหัวใจวาย หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างปกติ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจและส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอ และเป็นเหตุให้หลายคนถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด โดยในแต่ละปีพบว่า มีชาวอเมริกันกว่า 790,000 คน ป่วยเป็นโรคหัวใจวาย อีกทั้งยังมีข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลกที่เผยว่า ผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดทั้งหมด 85% ทั่วโลก เกิดจากภาวะหัวใจวายและภาวะสมองขาดเลือด
จากงานวิจัยล่าสุดที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Circulation พบว่า ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการเข้ารับการรักษาโรคหัวใจวายในโรงพยาบาลที่สหรัฐฯ ของผู้ป่วยในช่วงอายุ 35-54 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 27% ในปี 1995-1999 เป็น 32% ในปี 2010-2014 และจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ยังเกิดในกลุ่มหญิงสาวมากกว่าชายหนุ่ม โดยเพิ่มขึ้นจากเดิม 10% เทียบกับชายหนุ่มที่เพิ่มขึ้นมาเพียง 3% เท่านั้น
“แม้ประชากรของเราจะมีอายุเพิ่มมากขึ้น แต่น่าแปลกที่เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคหัวใจส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและเป็นหญิงสาวมากกว่า” เมลิซซา คอกี (Melissa Caughey) นักวิจัยและอาจารย์ผู้สอนในแผนกโรคหัวใจ วิทยาลัยแพทย์นอร์ธแคโรไลนา เผย
หลายคนมักคิดว่าโรคหัวใจวายจะเป็นเช่นที่เห็นในภาพยนตร์ ที่จู่ๆ ตัวละครยกมือกุมหน้าอกแล้วล้มลง แต่อีกหนึ่งงานวิจัยในวารสาร Circulation เผยว่า ผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 55 ปี มีแนวโน้มที่จะพบอาการของโรคหัวใจวาย ที่นอกเหนือจากการเจ็บที่บริเวณหน้าอก อย่างการหายใจถี่ คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ เหงื่อออก เจ็บปวดตามบริเวณแขน หลัง คอ กราม หรือช่องท้อง ทำให้ไม่คาดคิดว่าอาการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ
นักวิจัยกำลังศึกษาหาสาเหตุที่ผู้หญิงมีเปอร์เซ็นต์การป่วยโรคหัวใจวายมากขึ้น ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการที่ผู้หญิงมีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับการรักษาบางประเภท เช่น ยาลดคอเลสเตอรอล หรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ซึ่งใช้รักษาโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง อันเป็นที่ทราบดีว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่โรคหัวใจวาย ทำให้มีอัตราการเกิดโรคสูงในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย
นอกจากนั้นไม่ใช่แค่โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเท่านั้นที่นำไปสู่โรคหัวใจ แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น ขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ อดหลับอดนอน หรือความเครียดที่ไปกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูง ส่วนผู้ที่อยากอยู่ห่างไกลโรคหัวใจวาย ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ และคอยสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้พบแพทย์ได้อย่างทันท่วงที
อ่านเรื่อง อังกฤษพัฒนา AI ช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจและมะเร็งปอดสำเร็จ ได้ที่นี่
อ่านเรื่อง ใจสลาย! ผลการศึกษาชี้ กินไก่ทอดทุกวันเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 13% ได้ที่นี่
ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: