×

4 เหตุผลของคนนอกใจ! มองพฤติกรรมการนอกใจผ่านมุมมองนักเศรษฐศาสตร์

13.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เวลาที่คุณกำลังอิ่มอยู่ คุณมักจะไม่สามารถจินตนาการได้ว่าความรู้สึกหิวนั้นเป็นอย่างไร เช่นเดียวกันกับความต้องการทางเพศ ด้วยเหตุผลนี้เอง คนที่อยู่ใน cold-state อยู่ มักจะประเมินผลกระทบของการมีอารมณ์ทางเพศต่อพฤติกรรมการนอกใจของตัวเองต่ำเกินไป ซึ่งส่งผลทำให้คนเรามักจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมโดยไม่ได้ตั้งใจ
  • ระบบความคิดที่มีอารมณ์เป็นตัวนำ มักจะทำงานรวดเร็วกว่า แถมยังใช้พลังงานในการทำงานน้อยกว่าระบบความคิดที่มีเหตุผลเป็นตัวนำเยอะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราส่วนใหญ่มักเลือกพฤติกรรมที่ทำให้พวกเขาและเธอมีความสุขทันที โดยที่ไม่คำนึงถึงปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง
  • การนอกใจเป็นพฤติกรรม ‘แหกกฎของ routine ชีวิต’ ที่คนเราเลือกที่จะปฏิบัติเพียงเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกว่าชีวิตยังมีสีสันมากกว่าแค่ที่มีอยู่ 

คุณเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมหลายต่อหลายคนในสังคมของเราจึงเลือกที่จะนอกใจภรรยาหรือสามีของตัวเอง ทั้งๆ ที่พวกเขาและเธอเหล่านี้ต่างก็ดูมีความสุขในชีวิตแต่งงานและชีวิตครอบครัว คนที่ดูท่าทางเป็นคนดี (และก็คงจะเป็นคนที่ดีจริงๆตามบรรทัดฐานของความเป็นคนดีของคน) ทำไมพวกเขาและเธอจึงยอมเสี่ยงที่จะสูญเสียทุกๆ อย่างในชีวิตที่มีเพื่อแลกกับการสนองความใคร่ หรือความสุขเพียงแค่ชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น

 

วันนี้ผมจึงขอถือโอกาสนำเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ จากเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาเขียนอธิบายถึงต้นตอของพฤติกรรมการนอกใจของคนเราให้คุณผู้อ่าน THE STANDARD ลองอ่านดูนะครับ เริ่มต้นด้วย

 

1. คนเราไม่เก่งในการพยากรณ์อารมณ์ของตัวเอง

 

เวลาที่คุณกำลังอิ่มอยู่ คุณมักจะไม่สามารถจินตนาการได้ว่าความรู้สึกหิวนั้นเป็นอย่างไร เช่นเดียวกันกับเวลาที่คุณกำลังหิวอยู่ คุณก็มักจะไม่สามารถจินตนาการได้ว่าความรู้สึกอิ่มนั้นเป็นอย่างไร และถ้าคุณต้องออกไปซื้อกับข้าวมาทำอาหารในขณะที่คุณกำลังอิ่มอยู่ โอกาสที่คุณจะซื้อกับข้าวมาน้อยกว่าที่จำเป็นก็จะสูงกว่าการออกไปซื้อกับข้าวมาทำอาหารในขณะที่คุณกำลังหิวอยู่

 

เช่นเดียวกันกับความต้องการทางเพศ เวลาที่คนเราอยู่ใน cold-state หรือเวลาที่คนเรากำลังอยู่ในสภาวะที่ความต้องการทางเพศอยู่ในระดับที่ตำ่ เราก็มักจะจินตนาการไม่ค่อยได้ว่าความรู้สึกตอนที่อารมณ์ทางเพศของเรากำลังสูงอยู่ (หรือสภาวะ hot-state) เป็นอย่างไร และมันจะมีผลกระทบต่อทัศนคติ จริยธรรม และพฤติกรรมของเราอย่างไรบ้าง

 

และด้วยเหตุผลนี้นี่เอง คนที่อยู่ใน cold-state อยู่ มักจะประเมินผลกระทบของการมีอารมณ์ทางเพศต่อพฤติกรรมการนอกใจของตัวเองต่ำเกินไป ซึ่งส่งผลทำให้คนเรามักจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมโดยไม่ได้ตั้งใจ และเมื่อพวกเขาเข้าไปอยู่ในสภาวะ hot-state แล้วอะไรจะเกิดขึ้นก็ได้

 

2. คนเราชอบความสุขทันทีและมักจะไม่คิดถึงปัญหาที่จะตามมา

 

นอกจาก hot-state และ cold-state แล้ว คนส่วนใหญ่มักจะมีความขัดแย้งภายในใจของตัวเองระหว่าง สิ่งที่เราต้องการ และ สิ่งที่เราควรจะทำสิ่งที่เราต้องการนั้นถูกควบคุมด้วยระบบความคิดที่มีอารมณ์เป็นตัวนำ ส่วนสิ่งที่เราควรจะทำนั้นถูกควบคุมด้วยระบบความคิดที่มีเหตุผลเป็นตัวนำ

 

ถ้าคนเราทุกคนใช้เวลาและความพยายามในการให้ระบบความคิดที่มีเหตุผลเป็นตัวนำในการตัดสินใจทุกครั้งล่ะก็ โลกของเราก็คงจะไม่มีใครที่มีความสุขในชีวิตแต่งงาน นอกใจคู่ตัวเองเป็นแน่แท้ (ทั้งนี้ก็เพราะผลกระทบทางด้านลบของการเลิกกัน ถ้าถูกจับได้น่าจะสูงกว่าความสุขชั่วคราวที่ได้มาจากการนอกใจแน่ๆ)

 

แต่ปัญหาก็คือ ระบบความคิดที่มีอารมณ์เป็นตัวนำนั้นมักจะเริ่มทำงานอย่างรวดเร็วกว่า แถมยังใช้พลังงานในการทำงานน้อยกว่าระบบความคิดที่มีเหตุผลเป็นตัวนำเยอะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่มักเลือกพฤติกรรมที่ทำให้พวกเขาและเธอมีความสุขทันทีโดยที่ไม่คำนึงถึงปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง

 

และยิ่งถ้าระบบความคิดที่มีเหตุผลเป็นตัวนำกำลังต้องทำงานหนักและกำลังโอเวอร์โหลดอยู่ล่ะก็ อย่างเช่นเวลาที่เรากำลังเครียดจากงานอยู่ หรือเวลาที่จำเป็นต้องใช้สมองหนักๆ โอกาสที่เราจะควบคุมอารมณ์ของตัวเองเพื่อไม่ให้ทำในสิ่งที่เราต้องการทำก็จะสูงขึ้นตามๆ กันไป

 

3. ยิ่งรู้จักเพื่อนหรือคนที่นอกใจเยอะ ยิ่งเพิ่มโอกาสให้คนเรานอกใจ

 

ถ้าเราว่ากันตามทฤษฎีของ Social norms หรือบรรทัดฐานของสังคมแล้ว ยิ่งมีคนที่ทำผิดกฎเยอะเท่าไร กฎก็จะไม่เป็นกฎอีกต่อไป และการทำผิดกฎก็จะไม่ทำให้เรารู้สึกผิดเท่ากับที่เราควรจะรู้สึก

 

ยกตัวอย่างเช่น คนที่ตกงานในเมืองที่ทุกคนมีงานทำ จะมีความรู้สึกเสียใจมากกว่าคนที่ตกงานในเมืองที่คนอื่นๆ ก็ตกงานเหมือนๆ กันกับเขา

 

เช่นเดียวกันกับการที่เรามีเพื่อนหรือคนที่รู้จักนอกใจเยอะๆ ซึ่งการมีกลุ่มเปรียบเทียบอย่างนี้ ทำให้การนอกใจดูเป็นเรื่องธรรมดา ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วเราอาจจะมีความสุขในชีวิตคู่ของเราก็ตาม และยังเป็นเครื่องมือที่คนเรามักหยิบขึ้นมาใช้เป็นเหตุผลในการทำผิดของเราเอง (“คนอื่นๆ เขาก็ทำกัน ไม่เห็นเป็นอะไรเลย”)

 

4. คนเรามักจะมีช่วงชีวิตที่ต้องเผชิญกับ Identity crisis ของตัวเอง

 

เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าคนเรามักจะมีความสุขน้อยที่สุดตรงช่วงที่เรามีอายุได้ประมาณ 40 ต้นๆ ซึ่งเรามักจะเรียกหลักฐานของความสุขที่ต่ำตอนช่วงวัยกลางคนตัวนี้ว่า Midlife crisis แต่คุณอาจจะไม่ทราบว่าโอกาสที่คนเราจะนอกใจสามีหรือภรรยาของเรานั้นมีค่าสูงเกือบที่สุดตอนอายุประมาณ 40 ต้นๆ เช่นเดียวกัน

 

สาเหตุใหญ่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนอายุ 40 ต้นๆ ไม่มีความสุขเท่าที่ควรจะมี ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ต่างก็แต่งงานมีครอบครัวและมีรายได้ที่ดีกว่าที่เคยได้มากันทั้งนั้น ก็คือความรู้สึกที่ว่า ‘ชีวิตเรามีแค่นี้เองหรือ’

 

พูดง่ายๆ ก็คือช่วงวัย 40 ปีต้นๆ มักเป็นช่วงที่คนเราหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม กำลังเผชิญหน้ากับ Identity crisis หรือความรู้สึกว่าหน้าที่ของชีวิตเรากับคนที่รัก กับคนที่ทำงาน และกับคนในสังคมคืออะไรกันแน่ เพราะตั้งแต่เกิดมาจนถึงอายุวัยกลางคน เราได้ทำแต่สิ่งที่สังคมบอกให้เราทำ และถ้าได้ทำตามที่สังคมบอก เราก็จะมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการเรียนสูง การหางานที่ดีทำ การหาคู่ครองที่ดี การมีลูก เป็นต้น

 

แต่พอเราได้ทุกอย่างที่เราคิดว่าเราต้องการ บวกกับการมี routine ของชีวิตประจำวันแล้ว คนเรากลับไม่มีความสุขมากเท่าที่ตัวเองคิด อาจเป็นเพราะคนเราตั้งความหวังไว้เยอะว่า พอเราได้ทุกอย่างที่เราคิดว่าเราต้องการแล้ว เราคงจะมีความสุขมากเป็นที่สุด ซึ่งก็ทำให้โอกาสที่คนส่วนใหญ่จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า “แล้วชีวิตของคนเรามีแค่นี้หรือ” สูงขึ้นตามไปด้วย

 

การนอกใจจึงกลายเป็นพฤติกรรม ‘แหกกฎของ routine ชีวิต’ ที่คนเราเลือกที่จะปฏิบัติเพียงเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกว่าชีวิตยังมีสีสันมากกว่าที่มีอยู่

 

ด้วยเหตุผลนี้เอง วิธีป้องกันการนอกใจของตัวเองเพื่อความสุขของตัวเราและคนที่เรารักรอบข้าง คือ

 

1. ทำความเข้าใจว่าคนเราเกือบทุกคนไม่มีความสามารถในการควบคุมตัวเองได้อย่าง 100% เวลาที่อารมณ์กำลังขึ้น (hot-state) เพราะฉะนั้น เราก็ควรที่จะหาวิธีป้องกันไม่ให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลมให้ได้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ

 

2. ทำความเข้าใจว่าเวลาที่เราใช้สมองหนักๆ หรือเวลาที่เครียดๆ ระบบความคิดที่มีเหตุผลของเรามักจะทำงานหนักเกินความจำเป็น ซึ่งก็จะส่งผลให้ความสามารถในการควบคุมตัวเองเพื่อทำใน ‘สิ่งที่เราควรจะทำ’ แทน ‘สิ่งที่เราต้องการจะทำ’ ลดน้อยลงตามๆ กันไปด้วย

 

3. เลิกคบเพื่อนที่เจ้าชู้ นอกใจแฟนตัวเอง หรือไม่สุงสิงกับพวกเขามากจนเกินไป

 

4. ทำความเข้าใจว่าคนเราเผชิญกับ Midlife crisis กันเกือบทุกคน และถ้าเราปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน เราก็จะพบว่าความสุขของเราก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปตามอายุของเรา โดยที่เราไม่ต้องไปขวนขวายหาความสุขชั่วครู่ชั่วคราวอย่างการนอกใจคนที่เรารักเลย

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 
อ้างอิง:

  • Akerlof, G.A., 1980. A theory of social custom, of which unemployment may be one consequence. Quarterly Journal of Economics, 94(4), pp.749-775.
  • Ariely, D. and Loewenstein, G., 2006. The heat of the moment: The effect of sexual arousal on sexual decision making. Journal of Behavioral Decision Making, 19(2), pp.87-98.
  • Cheng, T.C., Powdthavee, N. and Oswald, A.J., 2017. Longitudinal Evidence for a Midlife Nadir in Human Well‐being: Results from Four Data Sets. Economic Journal, 127(599), pp.126-142.
  • Laibson, D., 1997. Golden eggs and hyperbolic discounting. Quarterly Journal of Economics, 112(2), 443-478.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X