×

ได้ยินว่าหัวหน้าทีมอื่นแจกเงินลูกน้องเป็นว่าเล่นจนลูกน้องเราอิจฉา เราจะให้อะไรลูกน้องดีคะ

15.01.2020
  • LOADING...
รางวัลให้ลูกน้อง

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • รางวัลที่ให้ลูกน้องจะมีรางวัลแบบที่บรรจุอยู่ในนโยบายของบริษัทอยู่แล้ว เช่น ค่าคอมมิชชันที่เพิ่มขึ้นถ้าทำยอดได้ถึง, การเลื่อนตำแหน่ง, การมอบรางวัลเป็นกิจจะลักษณะ, การประกาศเกียรติคุณ, โบนัส ฯลฯ กับรางวัลแบบที่เราซึ่งเป็นหัวหน้าสามารถออกแบบให้เหมาะกับทีมของเราได้ ซึ่งอย่างหลังนี่ล่ะครับที่ทำให้เราสามารถ ‘สนุก’ กับการสร้างขวัญกำลังใจให้ทีมของเราได้ และสามารถสร้างวัฒนธรรมของทีมได้เองแบบที่ไม่ต้องรอให้บริษัทมาทำให้ 
  • เราสามารถแบ่งเป็นรางวัลที่ให้ได้ทุกวันและรางวัลที่ให้อย่างมีเงื่อนไข โดยรางวัลที่ให้ได้ทุกวันคือการให้ลูกน้องได้ทำงานที่มีความหมาย ทำให้เขารู้สึกว่าอยากตื่นมาทำงาน รู้สึกดีใจที่ได้ทำงานในองค์กร รู้สึกว่าได้ทำงานสมกับศักยภาพที่เขามี และการทำงานที่นี่ทำให้เขาได้พัฒนาชีวิตยิ่งขึ้น รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ทำให้รู้สึกมีความสุข
  • รางวัลอีกประเภทคือรางวัลที่ให้อย่างมีเงื่อนไข เช่น พาไปเลี้ยงข้าวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในทีม เลี้ยงเพื่อให้กำลังใจเวลาลูกน้องจิตตก ซื้อของมาฝากเวลาเราไปเที่ยว หรือที่เรียบง่ายที่สุดแต่ผมคิดว่ามีความหมายมากๆ ก็คือคำขอบคุณ คำชื่นชม รวมถึงวิธีหนึ่งที่ผมคิดว่าน่ารักมากๆ ก็คือการเขียนอีเมลขอบคุณลูกน้องทุกครั้งที่ทำงานร่วมกันสำเร็จ 
  • สุดท้ายแล้วถ้าถามว่าจะให้รางวัลอะไรกับลูกน้องดี ผมอยากให้กลับมามองว่าทั้งรางวัลที่เราให้ได้ทุกวันและรางวัลแบบที่ให้อย่างมีเงื่อนไขนี้ ให้อะไรแล้วจะเป็นการสร้างชีวิตที่ดีขึ้นกับลูกน้อง พร้อมกับสร้างเราให้เป็นหัวหน้าที่ดีของพวกเขาด้วย

Q: ได้ยินว่าหัวหน้าทีมอื่นป๋ามาก แจกเงินรางวัลให้ลูกน้องเป็นว่าเล่น ลูกน้องเราก็แอบอิจฉาทีมอื่นเบาๆ อยู่เหมือนกัน แต่หัวหน้าทีมนั้นเขารวยอยู่แล้ว เขาก็ทำได้นี่คะ เราไม่ได้รวยเหมือนเขา เราจะให้รางวัลอะไรลูกน้องดีคะ

 

A: เรื่องการให้รางวัลลูกน้องเป็นสิ่งสำคัญครับ เพราะเป็นการชื่นชมและสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้องได้ อย่างแรกขอปรบมือให้ก่อนว่าคุณอยากให้รางวัลลูกน้อง เพราะแปลว่าคุณอยากทำให้ลูกน้องมีความสุข อยากเป็นกำลังใจให้ลูกน้อง

 

ทีนี้พูดถึงรางวัลที่ให้ลูกน้อง มันจะมีรางวัลแบบที่บรรจุอยู่ในนโยบายของบริษัทอยู่แล้ว เช่น ค่าคอมมิชชันที่เพิ่มขึ้นถ้าทำยอดได้ถึง, การเลื่อนตำแหน่ง, การมอบรางวัลเป็นกิจจะลักษณะ, การประกาศเกียรติคุณ, โบนัส ฯลฯ กับรางวัลแบบที่เราซึ่งเป็นหัวหน้าสามารถออกแบบให้เหมาะกับทีมของเราได้ ซึ่งอย่างหลังนี่ล่ะครับที่ทำให้เราสามารถ ‘สนุก’ กับการสร้างขวัญกำลังใจให้ทีมของเราได้ และสามารถสร้างวัฒนธรรมของทีมได้เองแบบที่ไม่ต้องรอให้บริษัทมาทำให้ บางบริษัทอาจจะใหญ่โตเกินไป หรือจะทำอะไรทีก็ต้องใช้เวลาขับเคลื่อนหน่อย อันไหนที่เราสามารถทำได้เองแล้วมีผลดีต่อทีมเราเสียอย่าง เราก็ออกแบบเองเลยครับ แล้วถ้ามันเวิร์กมากๆ ก็อาจจะกลายเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ได้ในอนาคต แต่เราเริ่มจากเอามาทดลองในทีมของเราเองนี่ล่ะครับ ถ้าเราเห็นโอกาสนี้เป็นเรื่องดี เราจะสามารถสร้างทีมที่แข็งแกร่งได้

 

รางวัลที่ให้ลูกน้องอันดับหนึ่งคนมักจะคิดว่าให้เงิน ใครๆ ก็ต้องการเงินใช่ไหมครับ แต่ผมอยากแนะนำว่าเงินไม่ใช่ทางออกเดียวของการให้รางวัลลูกน้อง และไม่อยากให้มองว่าต้องมีเงินเยอะๆ ก่อนค่อยให้รางวัลลูกน้องได้ ผมอยากให้มองการให้รางวัลลูกน้องกว้างกว่าการให้เงินครับ เดี๋ยวผมจะเล่าว่ามีอะไรได้บ้าง

 

เราสามารถแบ่งรางวัลของลูกน้องเป็นรางวัลที่ให้ได้ทุกวัน และรางวัลที่ให้ได้อย่างมีเงื่อนไข

 

รางวัลที่ให้ได้ทุกวันคือการให้ลูกน้องได้ทำงานที่มีความหมาย ทำให้เขารู้สึกว่าอยากตื่นมาทำงาน รู้สึกดีใจที่ได้ทำงานในองค์กร รู้สึกว่าได้ทำงานสมกับศักยภาพที่เขามี และการทำงานที่นี่ทำให้เขาได้พัฒนาชีวิตยิ่งขึ้น รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ทำให้เขารู้สึกมีความสุข

 

อ่านดูแล้วผมไม่ได้พูดเรื่องเงินในข้อนี้เลยเห็นไหมครับ ซึ่งรางวัลที่ให้ได้ทุกวันนี้ เราในฐานะหัวหน้าสามารถมอบให้ลูกน้องได้ทุกวัน กลับมาสำรวจตัวเองครับว่าเราพูดดีๆ กับลูกน้องไหม เราเป็นที่ปรึกษาที่ดีของลูกน้องหรือเปล่า เราเป็นหัวหน้าที่เขาเคารพศรัทธาได้ไหม แล้วงานที่เรามอบหมายไปทำให้เขารู้สึกว่ามีความหมายหรือเปล่า เขาอยากทำงานแบบไหน แล้วงานที่เขาได้ทำนั้นตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตเขาไหม เราให้เขาทำงานคุ้มศักยภาพที่มีไหม เวลาเราเจอลูกน้อง ในแววตาเขามีความหวังอยู่หรือเปล่า เขารู้สึกไหมว่ามีตัวตนในองค์กร

 

สภาพแวดล้อมในการทำงานก็เป็นสิ่งที่เรามอบเป็นรางวัลให้กับลูกน้องได้ทุกวันครับ เรามีที่ทำงานที่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตของเขาหรือเปล่า ลูกน้องเราเป็นออฟฟิศซินโดรมอยู่ไหม เขากลับบ้านปลอดภัยดี หรือว่าเขาต้องกลับบ้านดึกดื่นด้วยความเหนื่อยล้าและเสี่ยงอันตราย เราคัดสรรคนที่มีทัศนคติที่ดีมาเป็นเพื่อนร่วมงานให้ลูกน้องเราด้วยหรือเปล่า เราได้สร้างบรรยากาศการทำงานที่ทำให้เขารู้สึกมีพลังอยากใช้ชีวิตอยู่ที่องค์กรของเราไหม

 

รางวัลที่ผมบอกนี้เราสามารถให้ได้เลยโดยไม่ต้องรอครับ ไม่ได้ใช้เงิน และควรเป็นรางวัลที่เรา ‘ต้อง’ ให้ในฐานะหัวหน้าที่ดี

 

รางวัลอีกประเภทคือรางวัลที่ให้อย่างมีเงื่อนไข นอกจากเงื่อนไขตามกฎเกณฑ์ของบริษัทที่มอบให้พนักงานแล้ว เราในฐานะหัวหน้าก็ควรให้เป็นท็อปอัพเข้าไปเป็นกำลังใจให้ลูกน้องอีก คิดแบบเร็วๆ คนก็มักจะให้เป็นเงิน เป็นเงินก็ดีครับ แต่อย่าให้เป็นเงิน ‘ทุกครั้ง’ เพราะมันทำให้ลูกน้องคาดหวังว่าเขาต้องได้เงินทุกครั้ง ถ้าเราป๋ามากและเราไม่ได้เดือดร้อนก็เรื่องหนึ่งครับ แต่โดยส่วนตัวผมก็คิดว่าถ้าได้เงินตลอด เขาอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ได้พิเศษอะไร และเผลอๆ มันจะเหมือนกับหัวหน้าตีค่าลูกน้องเป็นจำนวนเงินตลอดเวลา ซึ่งมันจะทำให้ลูกน้องเรามองทุกอย่างเป็นเงินหมด มันเป็นการปลูกฝังวิธีคิดที่ไม่ค่อยดีเท่าไรในระยะยาว ยิ่งกว่านั้นถ้าตัวเราเองเอาแต่ให้เงินลูกน้องเป็นรางวัล ถ้าลูกน้องเคารพเราเพียงเพราะเราให้เงินเขา วันที่เราไม่ให้เงินเขาแล้ว เราอาจจะหมดประโยชน์ในสายตาลูกน้องก็ได้ครับ ผมจึงคิดว่าถ้าเอาแต่แจกเงินตลอดมันคงไม่ค่อยเป็นผลดีต่อทั้งตัวเราและลูกน้องเท่าไร 

 

ถ้าจะให้เงิน ผมคิดว่าให้เป็นโอกาสพิเศษมากจริงๆ จะดีกว่า เช่น ถ้าไปเอาท์ติ้งกันแล้วลูกน้องตั้งใจทำการแสดงมาเพื่อให้ทุกคนมีความสุข เราสมทบทุนให้ตั้งแต่แรกและตบเงินให้เป็นรางวัลเลยครับ ให้มากให้น้อยอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ลูกน้องต้องไม่ขาดทุนและไม่กลับบ้านมือเปล่า หรือถ้าลูกน้องลาออกไปเริ่มกิจการของตัวเอง อันนี้ผมว่าถ้าเราจะมอบเงินสมทบทุนให้ก็เป็นน้ำใจที่ดีครับ ไม่ต้องให้เยอะ แต่ให้เพราะมันมีความหมายและเป็นกำลังใจให้เขา เพราะเรารู้ว่าจากนี้เมื่อไปทำกิจการของตัวเองแล้วเงินทุกบาทจะมีความหมาย ให้เขาเก็บเงินที่เราให้ไว้เป็นทุนเผื่อฉุกเฉิน 

 

ทีนี้ถ้าไม่ให้เป็นเงินแล้วจะเป็นอะไรได้บ้าง ผมว่าทำได้หมดเลย พาไปเลี้ยงข้าวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในทีม จะเป็นเลี้ยงหลังเสร็จงานสำคัญๆ หรือครบรอบทำงาน วันเกิด วันที่ได้รางวัล หรือเลี้ยงเพื่อให้กำลังใจเวลาลูกน้องจิตตกก็ดีเช่นกัน ซื้อของมาฝากเวลาเราไปเที่ยวแล้วลูกน้องอยู่ทำงานก็น่ารักมากครับ ใครมีความสามารถอยากทำขนมมาให้ลูกน้องก็เยี่ยมไปเลย หรือที่เรียบง่ายที่สุดแต่ผมคิดว่ามีความหมายมากๆ ก็คือคำขอบคุณ คำชื่นชมเมื่อเขาทำดี ซึ่งผมคิดว่ามีค่ามากและเราต้องให้ทุกครั้ง วิธีหนึ่งที่ผมคิดว่าน่ารักมากๆ ก็คือการเขียนอีเมลขอบคุณลูกน้องทุกครั้งที่ทำงานร่วมกันสำเร็จ เขียนเรียงรายคนและสำเนาอีเมลให้ทุกคนเห็นเลยว่าเราเห็นคุณค่าของทุกคนจริงๆ 

 

มีพี่ที่ทำงานของผมท่านหนึ่งที่น่ารักมากครับชื่อ ‘พี่ตั้ม’ เขาอยากให้ลูกน้องมีทั้งชีวิตการทำงานที่ดีและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง นอกจากการให้รางวัลในเรื่องงานแล้ว พี่ตั้มตั้งเกณฑ์การมอบรางวัลแบบพิเศษคือให้ลูกน้องเดินหรือวิ่งให้ได้วันละอย่างน้อย 10,000 ก้าว ถ้าทำได้ตามกำหนด พี่ตั้มจะมีรางวัลพิเศษให้ พอมีสุขภาพร่างกายที่ดีแล้วก็จะส่งผลมาที่การทำงานด้วย ทั้งเรื่องมายด์เซตที่ลูกน้องอาจจะเริ่มต้นด้วยความรู้สึกว่าฉันวิ่งไม่ได้หรอก มันยาก มันเหนื่อย แต่พอเขาได้ลองทำแล้วจะค้นพบว่าในที่สุดเขาก็ทำได้ เรื่องวิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้แล้วเขายังทำได้แบบนี้ ถ้าเป็นเรื่องงานเขาก็น่าจะทำได้เหมือนกัน รวมไปถึงการออกกำลังกายเป็นประจำก็จะทำให้ลูกน้องมีวินัย สุดท้ายวินัยนี้ก็กลับมาที่วินัยการทำงานเหมือนกัน ผมคิดว่าวิธีของพี่ตั้มเป็นวิธีที่ดีมากนะครับ ร่างกายก็แข็งแรง ทำงานก็ดีขึ้น จิตใจก็มีความสุขด้วย  

 

รางวัลที่ให้อย่างมีเงื่อนไขนี้มีประโยชน์คือทำให้รางวัลมีค่ามากขึ้น ไม่ใช่การให้อย่างสะเปะสะปะ เอะอะก็ให้ หลักการคือเขาต้องรู้ว่าเขาได้รางวัลนี้เพราะอะไร เราต้องบอกเหตุผลทุกครั้งว่าทำไมเขาถึงได้รางวัล อะไรที่เขาทำดีแล้วและอยากให้ทำต่อไป แล้วมีอะไรบ้างที่เราอยากแนะนำให้เขาพัฒนาขึ้น เราต้องสร้างเงื่อนไขว่าเมื่อเขาทำดีแล้วเราจะมีรางวัลให้ ไม่อย่างนั้นถ้าเขาได้มันมาอย่างไม่รู้คุณค่า สิ่งที่เราให้ไปก็จะไม่มีความหมาย และเขาเองก็จะไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน

 

ถ้าทีมของเราดีอยู่แล้ว ลูกทีมของเราจะไม่รู้สึกอิจฉาทีมอื่น เพราะสิ่งที่เขามีอยู่เป็นสิ่งที่ดี เช่นเดียวกัน เราต้องทำให้เขามีสิ่งที่ดีและรู้คุณค่าของสิ่งดีๆ ที่เขามีอยู่ก่อน เมื่อนั้นเขาจะไม่รู้สึกอิจฉาคนอื่นครับ

 

สุดท้ายแล้วถ้าถามว่าจะให้รางวัลอะไรกับลูกน้องดี ผมอยากให้กลับมามองว่าทั้งรางวัลที่เราให้ได้ทุกวันและรางวัลแบบที่ให้อย่างมีเงื่อนไขนี้ ให้อะไรแล้วจะเป็นการสร้างชีวิตที่ดีขึ้นกับลูกน้อง พร้อมกับสร้างเราให้เป็นหัวหน้าที่ดีให้กับพวกเขาด้วย

 

การเป็นหัวหน้าที่ดีและการสร้างให้ลูกน้องเป็นหัวหน้าที่ดี เป็นรางวัลที่ดีมากสำหรับลูกน้องที่หัวหน้าคนหนึ่งสามารถมอบให้ลูกน้องได้ครับ

 

ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X