Grab Financial Group เผยยอดสินเชื่อเพื่อพาร์ตเนอร์ร้านอาหารในประเทศไทยในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2565) เติบโตขึ้นถึง 3 เท่าจากปีก่อนหน้า สอดรับกับการเติบโตของจำนวนพาร์ตเนอร์ร้านอาหารบนแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี และความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อเสริมสภาพคล่องท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย
วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า “Grab ประเทศไทยเริ่มให้บริการสินเชื่อกับพาร์ตเนอร์ร้านอาหารมาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็กที่อยู่บนแพลตฟอร์ม (ซึ่งปัจจุบันมีหลายแสนร้านค้า) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องและต่อยอดธุรกิจได้
“สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-เมษายน 2565) พบว่า ยอดสินเชื่อเพื่อพาร์ตเนอร์ร้านอาหารของ Grab เติบโตขึ้นสูง 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดย 3 ใน 4 ของร้านอาหารที่ได้รับสินเชื่อจาก Grab เป็นร้านที่อยู่ในต่างจังหวัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Grab ‘ขาดทุน’ 3.3 หมื่นล้านบาท ในไตรมาสแรกหลังติดนามสกุลมหาชน ขณะที่นักลงทุน ‘ไม่ปลื้ม’ หุ้นดิ่งทันที 37%
- CRC ทุ่ม 4,500 ล้าน เข้าซื้อหุ้น 67% ของ Porto Worldwide Limited ซึ่งลงทุนใน Grab ประเทศไทย หวังพัฒนา Ecosystem และ Omni-Channel ให้แข็งแรง
“อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นผลมาจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้ผู้ประกอบการต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้บริหารสภาพคล่องทางธุรกิจและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2564 ตามที่ระบุในรายงานผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย และจำนวนพาร์ตเนอร์ร้านอาหารที่เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มแกร็บฟู้ดที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน”
‘สินเชื่อเงินสดทันใจเพื่อพาร์ทเนอร์ร้านค้าแกร็บ’ เป็นสินเชื่อเงินสดระยะสั้น มีระยะเวลาผ่อนชำระ 3-6 เดือน โดยให้วงเงินสูงสุด 100,000 บาท มีอัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกสูงสุด 2.8% ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์สินเชื่อดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าถึงบริการด้านการเงินในระบบได้ยาก โดยปีนี้ Grab ยังคงเดินหน้าปล่อยสินเชื่อสำหรับรายย่อยต่อไป แต่ยังไม่ได้เปิดเผยถึงเป้าหมายของการปล่อยสินเชื่อ