×
SCB Omnibus Fund 2024

Grab ‘ขาดทุน’ 3.3 หมื่นล้านบาท ในไตรมาสแรกหลังติดนามสกุลมหาชน ขณะที่นักลงทุน ‘ไม่ปลื้ม’ หุ้นดิ่งทันที 37%

04.03.2022
  • LOADING...
Grab

Grab สตาร์ทอัพสัญชาติสิงคโปร์ ขาดทุนสุทธิกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 3.3 หมื่นล้านบาท ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 จากการลงทุนอย่างหนักเพื่อการเติบโต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำกำไรยังคงเป็นความท้าทายหลักสำหรับผู้ประกอบการ Super App เนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง

 

ในผลประกอบการรายไตรมาสแรกที่เผยแพร่ตั้งแต่จดทะเบียนในตลาด Nasdaq ในเดือนธันวาคม Grab รายงานผลขาดทุนสุทธิ 1.055 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 3 เดือนจนถึงเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นจากขาดทุน 576 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า ทำให้ขาดทุนสุทธิประจำปีเพิ่มขึ้นจาก 2.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 3.4 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.1 แสนล้านบาทในช่วงปีที่ผ่านมา

 

ธุรกิจหลักของ Grab ได้แก่ บริการเรียกรถ บริการจัดส่งอาหารและของชำ และบริการทางการเงินดิจิทัล โดยดำเนินธุรกิจใน 8 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา

 

เนื่องจากการระบาดใหญ่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้บริการเรียกรถ Grab ได้ขยายธุรกิจจัดส่งอาหารเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของผู้ใช้ ขณะที่ตลาดของชำออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเป็น 1.19 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2025 จาก 4.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 ตามรายงานของ Euromonitor International

 

โดยมูลค่าสินค้ารวม (GMV) ซึ่งเป็นมูลค่ารวมของธุรกรรมจากธุรกิจบริการ เพิ่มขึ้น 26% เป็น 4.5 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 4 ในขณะที่ GMV สำหรับการเรียกรถลดลง 11% เนื่องจากการแพร่กระจายของโควิด ตัวเลขสำหรับเดลิเวอรีก็เพิ่มขึ้น 52%

 

แต่การเติบโตของ GMV มาจากการใช้จ่ายเพื่อสร้างแรงจูงใจจำนวนมาก โดยเฉพาะสิ่งจูงใจสำหรับผู้บริโภค ซึ่งหมายถึงส่วนลดและโปรโมชันที่เสนอให้กับผู้บริโภค เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 365 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.2 หมื่นล้านในไตรมาสที่ 4 สำหรับปี 2021 มีการใช้งบส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.78 พันล้านดอลลาร์ จาก 1.24 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งแม้จะทำให้ผู้ใช้เพิ่มขึ้น แต่การเติบโตนั้นยังไม่ได้แปลเป็นรายได้

 

“เราไม่ได้คาดหวังว่า Grab จะใช้เงินจูงใจมหาศาลเช่นนี้” Shifara Samsudeen นักวิเคราะห์จาก LightStream Research กล่าวในรายงานการวิจัย ซึ่งนี่หมายความว่า Grab กำลัง ‘ดิ้นรนเพื่อขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไร’

 

การปรับปรุงความสามารถในการทำกำไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ Grab โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกลางเปลี่ยนนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้เกิดการเทขายเทคโนโลยีทั่วโลกเมื่อเร็วๆ นี้

 

หลังจากรายงานประกอบการในไตรมาส 4 ทำให้นักลงทุน ‘ไม่ปลื้ม’ สะท้อนจากหุ้นของ Grab Holdings Inc. ร่วงลง 37% ผลักดันมาร์เก็ตแคปลดลงสู่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่าเพียงครึ่งเดียวของมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับก่อนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

 

หุ้นของผู้ให้บริการเรียกรถและส่งของยักษ์ใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วงลง 63% นับตั้งแต่เปิดตัว โดยจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีผลงานแย่ที่สุดในดัชนี Nasdaq Composite ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว โดยการลดลงหลังรายงานผลประกอบการ ถือเป็นการเทขายครั้งใหญ่หลังติดนามสกุลมหาชน

 

Grab ซึ่งก่อตั้งโดย Anthony Tan และ Hooi Ling Tan ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโตสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบธุรกิจของบริษัทคล้ายกับ Uber ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกบริการเรียกรถและส่งของในสหรัฐฯ ซึ่งขายการดำเนินงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับ Grab ในปี 2018

 

ความท้าทายของ Grab คือการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงจาก Sea Ltd. บริษัทอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งไปกว่านั้น Gojek ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าของอินโดนีเซีย ได้รวมกิจการกับผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ PT Tokopedia เพื่อกลายเป็น GoTo กิจการที่ควบรวมกันนี้กำลังเตรียมการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรกที่บ้านเกิดและในสหรัฐอเมริกาในปีนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

อ้างอิง :

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising