×

อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อ Grab ไทยประกาศตัวเป็น ‘ฟินเทค’ ลุยให้บริการการเงินเต็มสูบ

18.02.2020
  • LOADING...
Grab

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • แกร็บเพย์ ประจำประเทศไทย แกร็บ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป คือบริษัทที่ Grab ประเทศไทย จัดตั้งแยกขึ้นมาเพื่อรุกธุรกิจการเงินโดยตั้งเป้าเป็น ‘ฟินเทค’ ที่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจรในไทยอย่างเต็มรูปแบบ
  • เริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการด้วย GrabPay Wallet ภายใต้การทำงานร่วมกับธนาคารกสิกรไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยในอนาคตตั้งเป้าจะพัฒนาให้รองรับธนาคารอื่นๆ ด้วย
  • สิ่งที่ Grab ตั้งใจจะทำคือพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินออกมาให้ตอบโจทย์ Stakeholder ทั้งสาม ได้แก่ พาร์ตเนอร์คนขับ ร้านอาหาร และผู้ใช้บริการ โดยบริการกลุ่มแรกๆ ที่เราน่าจะได้เห็นคือ สินเชื่อและประกัน เป็นต้น

“เราจะเป็น ‘ฟินเทค’ (Fintech) ในไทยที่ให้บริการทางการเงินครบวงจร”

 

ยอมรับว่าตอนที่ได้ยินคำประกาศกร้าวนี้ออกมาจากปากของ วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บเพย์ ประจำประเทศไทย แกร็บ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป ด้วยหูของตัวเอง ความรู้สึกฉงนปนสงสัยก็วิ่งเข้ามาปะทะทันที

 

เพราะนี่คือครั้งแรกที่ Grab ประเทศไทย หรือถ้าจะพูดให้ถูกคือ ‘แกร็บเพย์ ประจำประเทศไทย แกร็บ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป’ ประกาศตัวเองเป็นฟินเทคอย่างเต็มปากเต็มคำ แม้ว่าก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วจะเปิดตัว GrabPay Wallet (ทำงานผ่านระบบของธนาคารกสิกรไทย) อย่างเป็นทางการไปก่อนแล้ว รวมถึง Grab สิงคโปร์ก็เคยส่งใบขออนุญาตยื่นจดเป็นธนาคารดิจิทัลมาแล้วเช่นกัน

 

คำถามที่ผุดขึ้นมาคือ Grab มองเห็นอะไรในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ทำไมจึงอยากรุกสังเวียนฟินเทค ปีนี้เราจะได้เห็นอะไรจากพวกเขา หรือแม้แต่อะไรจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการเงินเมื่อ Grab ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในหมากเกมนี้

 

THE STANDARD คุยกับ วรฉัตร ลักขณาโรจน์ แบบเจาะลึก เพื่อเปิดเผยเรื่องราวเบื้องหลังและทิศทางที่จะเกิดขึ้นกับแกร็บเพย์ ประจำประเทศไทย แกร็บ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป ต่อจากนี้

 

Grab

 

เป้าหมายใหญ่ มุ่งสู่การเป็น ‘ฟินเทคในไทย’ ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร

การประกาศความตั้งใจว่าเป้าหมายในการจัดตั้งบริษัทการเงินครั้งนี้ของพวกเขาคือต้องการมุ่งสู่การเป็น ‘ผู้ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจรในไทย’ ให้ได้ ประกอบกับการตั้งบริษัทแยกออกมาในครั้งนี้ของแกร็บเพย์ ประจำประเทศไทย แกร็บ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป ก็ดูจะตีความได้กลายๆ ว่าพวกเขาไม่ได้มาเล่นๆ แน่นอน

 

วรฉัตรย้อนความหลังเล่าให้เราฟังว่าก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานอยู่ในฝั่งธนาคารมานานกว่า 17 ปีเต็ม โดยดูแลในพาร์ต Digital Marketing เน้นไปที่ฝั่ง Digital Banking จำพวกการทำแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ การทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล Digital Lending หรือการใช้ทำธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์และ QR Payment

 

แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง วรฉัตรก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขาอยากหันมาทำงานที่สร้างอิมแพ็กให้กับผู้ใช้บริการและประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญพอดีที่คนที่เข้ามาสะกิดความคิดนี้ให้กับเขาคือ แอนโทนี ตัน ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Grab ซึ่งทั้งสองมีโอกาสได้เจอกันที่งานประชุมเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว

 

“อยู่มาวันหนึ่ง ทาง Grab ก็ติดต่อเข้ามาหาผมพอดี ซึ่งต้องบอกก่อนว่าก่อนหน้านี้ผมไม่ได้มีความคิดอยากจะย้ายงานเลยนะ เพราะอยู่ที่ธนาคารก็ดีอยู่แล้ว ได้ทำงานที่ค่อนข้างสนุก ใครที่อยู่สายดิจิทัลการเงินของธนาคารก็จะถือว่าฮอตสุดๆ ผู้บริหารรักมากๆ ค่อนข้างมีความสนุกในการทำงาน

 

“เพียงแต่สิ่งที่ Grab คุยกับเราในเวลานั้นมันโดนใจมาก เนื่องจากแพสชันเดิมของเราก็คือการอยากช่วยเหลือผู้บริโภค ทั้งจากมุมที่อยากจะพัฒนาบริการให้ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง สั่งอาหาร หรือส่งของ จนกระทั่งมาแตะเรื่องการเงินที่ Grab อยากจะพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานและระบบนิเวศของแอปพลิเคชันให้สมบูรณ์และครบวงจร 

 

“โดยมีคีย์เวิร์ดสำคัญคือการทำให้คนเข้าถึงบริการที่ควรจะได้รับ แต่ไม่เคยได้รับ ด้วยความโปร่งใส ชัดเจน”

 

จุดนี้เองที่ทำให้วรฉัตรเลือกเก็บของออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง แล้วออกมาหาความท้าทายใหม่กับแกร็บเพย์ ประจำประเทศไทย แกร็บ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป 

 

Grab

 

ทำไม Grab ต้องทำฟินเทค การเงินเข้ามาเสริมแกร่งธุรกิจบริษัทอย่างไร

วิสัยทัศน์ที่ Grab ประกาศตัวชัดเจนมาตลอดว่าอยากจะเป็นให้ได้คือ ‘Super App’ ภายใต้แนวคิดการรวบรวมทุกบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคให้อยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลของตัวเองแบบครบวงจร เพื่อดึงเวลาจากผู้ใช้งานมาอยู่กับพวกเขาให้ได้มากที่สุด ที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นบริการในกลุ่มการเดินทาง เช่น เรียกรถ GrabCar, GrabBike, Drive For Me), สั่งอาหาร (GrabFood), ส่งของ (Grab Delivery) และสั่งซื้อของสด (Groceries) ฯลฯ

 

แต่ถ้าถอยออกมามองภาพรวมก็จะพบว่าสิ่งที่ Grab ยังขาดและเป็น ‘ช่องว่าง’ ที่ทำให้บริการในแพลตฟอร์มยังไม่เชื่อมต่อกันทั้งระบบคือการไม่มี ‘บริการทางการเงิน’ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวเชื่อมระหว่างแต่ละบริการ นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้ Grab เริ่มขยับตัวเองมารุกพัฒนาบริการทางการเงินมากขึ้นเพื่อเติมเต็มระบบนิเวศในวงจรให้ครบถ้วน

 

ในประเทศไทย ทีมงานแกร็บเพย์ ประจำประเทศไทย แกร็บ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป เริ่มฟอร์มทีมงานกันมาตั้งแต่ปี 2019 นำร่องด้วยการเปิดตัว GrabPay Wallet โดยโจทย์สำคัญการพัฒนาบริการทางการเงินของ Grab คือช่วยให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้โดยไร้ข้อจำกัด

 

“เราเริ่มทำแกร็บ ไฟแนนเชียล ด้วยโจทย์ที่อยากช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินที่เขาควรจะได้รับ แต่ไม่เคยได้รับ” วรฉัตรเริ่มเล่า

 

“เราอยากช่วยให้คนเข้าถึงและมีกำลังพอจะใช้บริการของเรา สร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อให้กับ Stakeholder ทุกคน ทั้งผู้โดยสาร คนสั่งอาหาร คนขับ คนส่ง เพื่อให้เกิดความลื่นไหลในการทำธุรกรรมและความสบายใจกับทุกฝ่าย 

 

“คนที่ใช้ Grab เป็นประจำจะรู้ดีว่าการใช้เงินสดทำธุรกรรมค่อนข้างไม่สะดวก ทั้งปัญหาคนขับไม่มีเงินทอน คนใช้สั่งอาหาร หรือเรียกมอเตอร์ไซค์แล้วไม่มีเงินสดพกติดตัว นี่คือที่มาที่เราควรจะแก้ไขปัญหาความไม่สะดวกที่ว่าให้ได้ และทำให้เกิดแกร็บ ไฟแนนเชียล”

 

อีกมิติหนึ่งคือการที่ Grab หรือแม้แต่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซแต่ละรายกระโดดลงมาทำวอลเล็ต พัฒนาบริการทางการเงินของตัวเอง นอกจากจะเป็นตัวเชื่อมที่ช่วยให้เกิดความลื่นไหลในเชิงการให้บริการแล้ว โอกาสในการปิดการขายก็ง่ายตามไปด้วย 

 

 

‘เพย์เมนต์ สินเชื่อ ประกัน’ สามบริการแกร็บ ไฟแนนเชียล ตอบโจทย์ Stakeholder

ในวงจร Stakeholder ที่ Grab ให้บริการอยู่ ประกอบด้วยตัวละครใน 3 ส่วนหลักๆ คือ ผู้ใช้บริการ พาร์ตเนอร์คนขับ และร้านค้าร้านอาหาร ดังนั้นการจะดีไซน์บริการทางการเงินของแกร็บ ไฟแนนเชียล ขึ้นมาสักอย่าง วรฉัตรบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะต้องตอบโจทย์แก้เพนพอยต์ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ได้

 

เริ่มต้นจากปัญหาฝั่งผู้ใช้บริการที่มักจะไม่นิยมพกเงินสด ได้เงินทอนไม่ครบ ไม่อยากเสียเวลารอเงินทอนเมื่อเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทาง หรือถูกยกเลิกออร์เดอร์อาหารบ่อยๆ เพราะเมนูที่สั่งมีราคาสูงเกิน และคนขับพกเงินติดตัวไม่พอ

 

ถัดมาคือปัญหาของพาร์ตเนอร์คนขับที่เมื่อมีเงินในกระเป๋าสตางค์ไม่พอก็ต้องวิ่งหาตู้ ATM ถอน-ฝากเงินให้วุ่นวาย ไหนจะปัญหารถเสีย โทรศัพท์เสียจนทำงานไม่ได้ หมุนเงินไม่ทันใช้งานในแต่ละเดือน แถมยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในระบบพนักงานเงินเดือน

 

ส่วนกลุ่มพาร์ตเนอร์ร้านอาหารที่อยู่ใน GrabFood เมื่อมีลูกค้าเพิ่มขึ้นแล้วต้องการขยายธุรกิจให้โตตามก็จำเป็นจะต้องมีเงินทุนมาหมุนเวียน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างจากพาร์ตเนอร์คนขับสักเท่าไร เพราะการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบย่อมทำได้ยากกว่าพนักงานเงินเดือน

 

“Grab จึงดีไซน์ผลิตภัณฑ์การเงินขึ้นมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะ เช่น อีวอลเล็ตที่เริ่มทำร่วมกับกสิกรไทยเพื่อมาแก้เพนพอยต์ผู้ใช้งานที่ไม่ต้องการพกเงินสด (เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อพฤศจิกายน 2019) แต่ไม่มีบัตรเครดิตหรือเดบิต ซึ่งในปีนี้จะเริ่มขยายการใช้งานให้ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย เช่น การช้อปปิ้ง, การท่องเที่ยวเดินทางและความบันเทิง (ซื้อตั๋วหนัง) ฯลฯ

 

“ส่วนปัญหารถเสีย โทรศัพท์เสีย หรือกรณีคนขับต้องการเงินด่วน แต่เข้าถึงบริการทางการเงินไม่ได้ เพราะถูกธนาคารปฏิเสธ เราก็นำนวัตกรรมด้านข้อมูลมาช่วยทำ ‘Credit Score’ ของพาร์ตเนอร์คนขับในแบบของ Grab เพื่อปล่อยสินเชื่อ”

 

 

โดยรูปแบบการคำนวณ Credit Score เพื่อให้สินเชื่อจะอิงจากฐานข้อมูลความถี่ในการขับขี่ จำนวนเที่ยววิ่ง ความสม่ำเสมอ เรตติ้งที่ได้รับจากการรีวิว หรือแม้แต่จำนวนครั้งการกดปฏิเสธไม่รับงานของคนขับแต่ละคน ส่วนสินเชื่อซื้อโทรศัพท์นั้น Grab จะร่วมมือกับ Samsung เพื่อให้คนขับได้ซื้อมือถือมาใช้เพื่อทำงาน แล้วค่อยผ่อนคืน Grab แบบรายวันผ่านจำนวนทริปที่วิ่งงานกับบริษัท

 

“รูปแบบการผ่อนคืนที่เราใส่ลงไปเป็นจิตวิทยารูปแบบหนึ่ง สมมติเราบอกคนขับง่ายๆ ว่าถ้ามือถือเขาเสีย เราซื้อเครื่องใหม่ให้ แต่คุณต้องวิ่งรถเพิ่มอีกวันละเที่ยว มันเห็นภาพง่ายกว่า เขารู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นภาระ ไม่ได้เป็นหนี้ (ต้องแบ่งเงินรายได้แต่ละเดือนมาจ่าย) เราเองก็สามารถอนุมัติให้เขาได้ถ้าขับอย่างสม่ำเสมอ เราเสนอโปรแกรมนี้ให้คุณ เหมือนทำงานออฟฟิศ คุณทำงานมากแค่ไหน สิ้นปีก็ตัดเกรดให้ หลักการไม่ต่างกัน”

 

มีการเปิดเผยว่าเราน่าจะได้เห็นบริการทั้งหมดทยอยปล่อยออกมาในช่วงต้นปีนี้ นอกจากนี้ Grab ยังเล็งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในกลุ่มประกันสำหรับคนขับและผู้ใช้งานทั่วไป เช่น ประกันสุขภาพ ประกันรายได้ ประกันการเดินทาง และประกันอุบัติเหตุ โดยสามารถเลือกชำระค่าเบี้ยประกันได้ทันทีผ่าน GrabPay Wallet (ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มประกันเริ่มให้บริการในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์แล้ว)

 

ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งที่น่าสนใจของแกร็บ โดยเฉพาะในช่วงที่วิกฤตความท้าทายของคลื่นความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของเศรษฐกิจกำลังปะทุตัวเช่นนี้ น่าสนใจมากๆ ว่าภายในปีนี้ Grab หรือแกร็บเพย์ ประจำประเทศไทย แกร็บ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จะปล่อยผลิตภัณฑ์ทางการเงินออกมาได้โดนใจผู้ใช้งานอย่างเราได้มากน้อยเพียงใด

 

ที่แน่ๆ ผู้ให้บริการการเงินเจ้าเดิมๆ ก็น่าจะพอเห็นเค้าลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะงานนี้ถ้าใคร ‘ช้า’ หรือปรับตัวไม่ทัน อาจจะมีสิทธิ์ตกขบวนได้ยาวๆ แน่นอน

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising