ถ้าเราเอ่ยชื่อของ ‘นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา’ ใครหลายๆ คนก็ย่อมจะนึกถึงนักแสดงหญิงเจ้าบทบาทฝีมือฉกาจที่สุดคนหนึ่งของวงการบันเทิงบ้านเรา เธอผ่านบทบาทมากมายมาแล้วทั้งในจอเงินและจอตู้ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา และถ้าหากใครที่เป็นแฟนคลับตัวยงของเธอ คุณอาจจะเคยผ่านตากับคลิปทำอาหารขนาดสั้นความยาวราว 2 นาทีในเฟซบุ๊กที่ศิรพันธ์คนสวยแต่งเนื้อแต่งตัวเข้าครัวทำอาหาร และมันช่างต่างกับคาแรกเตอร์ผู้หญิงที่เราเห็นในโทรทัศน์อย่างลิบลับ
ไม่ใช่ว่าเธออยากจะโชว์ทักษะที่แอบไปซุ่มเรียนทำอาหารกับเชฟชื่อดังมาแต่อย่างใด แต่นุ่นกำลังลงมือสานต่อความรักในการทำครัวทดลองของเธอผ่านรายการ ‘Good noon Day’ ให้กลายเป็นไม้ผลัดส่งต่อแรงบันดาลใจให้คน ‘ทำกับข้าวไม่เป็น’ ต่างหาก เพราะตัวเธอเองก็ยอมรับอย่างดื้อๆ ว่า ‘นุ่นชอบทำกับข้าว แต่นุ่นทำกับข้าวไม่เป็น’
เราใช้เวลานั่งสนทนาเรื่อยเปื่อยกับเธอ ในวันที่เธอกำลังจะอัพโหลดรายการ Good noon Day อีพีแรกของซีซันสองลงบนโลกออนไลน์ เราคุยกันตั้งแต่เรื่องที่มาที่ไปของการทำอาหารในแบบศิรพันธ์ ทัศนคติของเธอต่อคติเรื่องเสน่ห์ปลายจวักของผู้หญิงไทย รวมไปถึงการก้าวเข้าสู่บทบาท Vlogger หน้าใหม่ของวงการ
…ลองลิ้มชิมรสชาติใหม่ของผู้หญิงคนนี้ดูสักหน่อยสิ
ดูเหมือนว่าน้อยคนมากจะมีภาพของ ‘นุ่น-ศิรพันธ์’ ในเวอร์ชันแม่บ้านแม่เรือนก้นครัว เพราะผู้ชมทางบ้านมักจะนึกถึงบทบาทของคุณในฐานะนักแสดงมากกว่า
ต้องเท้าความไปถึงตอนนุ่นยังเป็นเด็กประถม นุ่นชอบทำอาหารตั้งแต่ตอนนั้น ตั้งแต่สมัยนุ่นยังเป็นลูกคนเดียว เพราะนุ่นห่างกับน้องชายตั้ง 9 ปี ตอนเป็นลูกคนเดียวสิ่งที่ทำได้ในการหาอะไรเล่นสนุก คือการเล่นทำกับข้าวอยู่ในบ้าน แต่ไม่ได้เล่นแบบไก่กานะ พร็อพของนุ่นต้องเป็นของจริงทั้งหมด ให้คุณยายผสมแป้งขนมครกให้จริง ให้พ่อไปซื้อเตาขนมครกดินเผามาจริงๆ จุดไฟจริง (หัวเราะ) มันคือภาพความสุขความทรงจำของเรา และมันดีที่ครอบครัวนุ่นปล่อยให้นุ่นได้ทดลองอะไรด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นจะจำได้เลยว่า พ่อ แม่ ยาย ลุง มารุมดูนุ่นตอนจุดไฟในเตาจริงๆ เหมือนพวกเขาลุ้นไปด้วย (หัวเราะ)
แล้วนุ่นได้ต่อยอดความชอบเหล่านั้นให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาหรือเปล่า
มันก็มีตอนสักช่วงมัธยม ลองนึกภาพนะว่าเด็กมัธยมใส่คอซองผมสั้นติ่งหูเรียนอยู่ลำปาง หลังเลิกเรียนเพื่อนๆ คนอื่นก็จะไปเรียนพิเศษแถวๆ โรงเรียน ส่วนเราเดินไปโรงเรียนสารพัดช่าง (หัวเราะ) ซึ่งเขาเปิดคอร์สสอนให้ประชาชนทั่วไปนอกเวลาสำหรับนำไปประกอบอาชีพ และนุ่นก็ไปลงเรียนหลักสูตรขนมอบนานาชาติ เรียนเป็นปี เคยได้ใบประกาศด้วยนะ เอาขนมอบกลับมาให้พ่อกินทุกวัน แต่ดูเหมือนฟ้ากลั่นแกล้งนะ เพราะนุ่นเป็นคนทำกับข้าวไม่ได้เลย ทำอะไรก็ไม่อร่อย ไม่เหมือนแม่กับยาย หรือแม้แต่น้องชายนุ่นเอง ทุกคนมีรสมือที่อร่อย มีพรสวรรค์ นี่ขนาดไปลงเรียนมาแล้วนะ (หัวเราะ)
หรือนุ่นจะเป็นยีนด้อยของครอบครัวในเรื่องการทำอาหาร
คงอย่างนั้นแหละมั้งคะ คิดดูว่าขนาดทำตามสูตรของแม่เป๊ะๆ ทุกขั้นตอน ทำไมมันออกมาไม่อร่อย (หัวเราะ)
ในฐานะผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว นุ่นคิดว่า ‘เสน่ห์ปลายจวัก’ แบบฉบับหญิงไทยยังจำเป็นอยู่อีกหรือไม่ในยุคนี้
โอ้โห (นุ่นร้องเสียงสูงก่อนกลั้วหัวเราะ) ถ้าเสน่ห์ปลายจวักของผู้หญิงยังจำเป็นอยู่ ถ้าเราทำอาหารอร่อยแล้วสามารถมัดผู้ชายให้อยู่ในกำมือกูได้ แม่ผัวต้องรักกู ถ้ายังมีคอนเซปต์แบบนี้ นุ่นโดนเนรเทศออกจากบ้านพี่ท็อป (พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร สามีของนุ่น) ไปแล้วแน่ๆ ค่ะ (หัวเราะ) นุ่นยอมรับว่าตัวเองเป็นเวิร์กกิ้งวูแมน นุ่นออกจากบ้านตีห้า กลับมาห้าทุ่มกว่า ทำงานนอกบ้านเจ็ดวัน ถึงนุ่นจะไม่ได้ทำกับข้าวแต่นุ่นก็เลือกซัพพอร์ตอย่างอื่น เช่น ชวนหม่าม้าพี่ท็อปไปตลาด ไปซื้อของอะไรแบบนี้
หม่าม้าพี่ท็อปเป็นผู้หญิงแบบที่นุ่นเป็นไม่ได้เลย ผู้หญิงที่มีการมีงานทำ มีลูกที่ต้องเลี้ยง แต่แกสามารถตื่นเช้ามาทำกับข้าวให้ทุกคนกินได้ คือนุ่นไม่สามารถจะฮึดตัวเองขึ้นมาทำกับข้าวให้แม่สามีกินได้ เพราะนุ่นไม่เก่งจริงๆ นุ่นว่านุ่นเป็นผู้หญิงที่ไม่ดีเลยสำหรับในความคิดนุ่น แต่ถ้าให้มองรวมๆ นุ่นว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว
ถ้าเสน่ห์ปลายจวักของผู้หญิงยังจำเป็นอยู่ ถ้าเราทำอาหารอร่อยแล้วสามารถมัดผู้ชายให้อยู่ในกำมือได้ แม่ผัวต้องรักกู ถ้ายังมีคอนเซปต์แบบนี้ นุ่นโดนเนรเทศไปแล้วแน่ๆ
มุกตลกน่ารักๆ ที่ทีมงานรายการล้อเลียนบทบาท ‘แม่หยก’ ในละครเรื่อง ‘เรือนเบญจพิษ’ โดยในเนื้อเรื่องนุ่นต้องสรรหาสัตว์มีพิษมาเป็นอาวุธในการกำจัดศัตรู แต่ทีมงานเสนอให้เธอทำกับข้าวไปกำจัดศัตรูน่าจะดีกว่า
จากคนที่ไม่มีรสมือ ทักษะ และเวลาในการทำกับข้าว ทำไมถึงลุกขึ้นมาทำรายการอาหารที่ชื่อว่า ‘Good noon Day’?
นุ่นมีความคิดว่า ‘บนโลกนี้ต้องมีคนแบบเราบ้าง’ คนประเภทที่ชอบทำอาหารแต่ไม่มีสกิลเลย คนแบบที่เจอแผนกเครื่องครัวแล้วรีบดิ่งเข้าไปเลย หรือคนที่ฝังใจว่า ฉันเคยทำอาหารแล้วมันไม่อร่อย โดนคนต่อว่า ‘มึงอย่าทำเลย ไม่อร่อย’ นุ่นรู้สึกว่านุ่นต้องให้โอกาสตัวเอง ไม่ได้ทำเอาถูกต้อง เอาอร่อย หรือเพอร์เฟกต์ แต่มันคือการทดลองสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ที่เราอยากทำ ซึ่งตอนแรกนุ่นก็ทำเล่นๆ ให้คนนั้นคนนี้ชิม ถ่ายลงอินสตาแกรมตัวเองให้ดูว่า เออ นุ่นมีกิจกรรมแบบนี้นะ นุ่นชอบอะไรแบบนี้ อยากอวด ซึ่งระหว่างที่ทำเล่นๆ อยู่นั้นก็ต้องขอบคุณพี่ท็อป เพราะพี่ท็อปเป็นคนเห็นว่าเวลานุ่นทำอาหารนุ่นจะยิ้ม หัวเราะ ดูเป็นคนเฟรนลี่มาก เขาก็บอกว่าให้ลองอัดวิดีโอดูสิ
พอเริ่มอัดเล่นๆ แรกๆ ก็จะมีคอมเมนต์เข้ามาว่า ‘เออพี่ก็ทำกับข้าวไม่เป็นเหมือนกัน’ มันเลยจุดประกายให้นุ่นอยากเป็นเพื่อนกับคนกลุ่มนี้ เป็นเสมือนการสร้างแรงบันดาลใจในการเข้าครัว เพราะนุ่นว่าเวลาเข้าครัวมันสร้างความอบอุ่นให้เกิดขึ้นได้อย่างมหัศจรรย์ เวลาทำกับข้าวกับคนในบ้าน เวลาที่คนในบ้านได้ใช้เวลาร่วมกัน บรรยากาศในครัวมันดีจริงๆ นะ เช่น ลูกคนนี้ต้องไปล้างผัก เด็ดผัก ลูกอีกคนต้องไปจัดโต๊ะจัดจาน มันเกิดการสนทนา ได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน นุ่นว่ามันเหมือนมี เวทมนตร์อะไรบางอย่าง และรายการ Good noon Day ก็จะเป็นความรู้สึกประมาณที่นุ่นพูดถึงเลย
จากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ ‘การออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ และ ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ นุ่นหยิบยกการทำงานตรงนั้นมาผูกกับรายการอาหารของตัวเองบ้างหรือไม่?
ตอนแรกก็คิดนะ เพราะเป้าหมายของงานที่นุ่นกับพี่ท็อปทำ คือเราอยากจะผสมผสานเรื่องของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้าไปกับทุกๆ เรื่องที่เราทำ แต่เรารู้สึกว่าเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตอนนี้คอนเซปต์มันไม่ใช่แค่เราต้องเอาของมารีไซเคิลเท่ากับรักโลกแล้ว แต่มันหมายถึงเรื่องอื่นที่มันใหญ่กว่า นุ่นกำลังพูดถึงไดเวอร์ซิตี้หรือความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน มันมีความหลากหลายทางชีวภาพ
เราต้องมองให้มากกว่าแค่ตัวเรา เราต้องมองคน สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เราอาศัยอยู่ให้มากขึ้น ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่นุ่นไปเก็บเกี่ยวเรื่องราวมาเยอะมากโดยเฉพาะเรื่องเกษตรอินทรีย์ นุ่นเจอคนที่เขาปลูกต้นไม้ พืช ผักที่สามารถหยิบกินได้เลยสดๆ จากต้น ไม่มียา ไม่ต้องล้าง มันทำให้นุ่นค้นพบรสชาติที่เป็นธรรมชาติจริงๆ ของวัตถุดิบที่มันไม่ได้ปรุงแต่ง นุ่นเลยคิดว่าการทำกับข้าวไม่ได้แค่สนุกเพราะได้กินอีกแล้ว ไม่ใช่กินแล้วก็อึออกมาเฉยๆ แต่มันมีเรื่องราวระหว่างทางนั้นเยอะมาก และนุ่นตั้งใจอยากจะนำเสนอตรงนี้ เพราะเมื่อเรารู้คุณค่าวัตถุดิบแล้ว เราจะเอาผักเขามาสับๆ เล่นๆ ไม่ได้แล้วนะ เพราะกว่าที่วัตถุดิบมันจะมาถึงเรามันไม่ง่ายเลย พอเราเริ่มเรียนรู้ เราก็จะมีความเคารพในวัตถุดิบและเกษตรกรไปโดยปริยาย
นุ่นคิดว่าการทำกับข้าวไม่ได้แค่สนุกเพราะได้กินอีกแล้ว ไม่ใช่กินแล้วก็อึออกมาเฉยๆ แต่มันทำให้เรารู้คุณค่าวัตถุดิบ เพราะกว่าที่วัตถุดิบมันจะมาถึงเรามันไม่ง่ายเลย พอเราเริ่มเรียนรู้ เราก็จะมีความเคารพในวัตถุดิบและเกษตรกรไปโดยปริยาย
นุ่นคิดเห็นอย่างไรกับการเกิดขึ้นของอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ หรือ Vlogger หน้าใหม่ ในยุคที่ใครๆ ก็ต่างเป็นเจ้าของสื่อของตัวเองได้ และนุ่นเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังจะเดินไปสู่เส้นทางนั้น
นุ่นว่ามันเป็นเรื่องที่ดีและไม่ดี เป็นเหรียญสองด้านที่ชัดเจนมาก นุ่นเชื่อว่าคนทุกคนมีของ ทุกคนมีของในตัวแตกต่างกัน เมื่อก่อนการจะได้มาซึ่งพื้นที่ในการปล่อยของมันยากมากนะ เราเคยเห็นคนตั้งใจทำงานแล้วไม่ได้รับโอกาสเยอะแยะเลย แต่การที่โลกทุกวันนี้ ใครๆ ก็เป็นเจ้าของสื่อได้ นุ่นว่ามันเจ๋ง มันคือการขยายความเท่าเทียมกัน ให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน
แต่ข้อเสียของมันก็คือพอมันเปิดกว้างมากๆ มันก็เหมือนทุกคนมีก้อนดินน้ำมันที่จะสามารถปั้นเป็นอะไรก็ได้ บางคนอาจปั้นดอกไม้ยื่นให้กัน หรือมันอาจถูกเอามาแปรเปลี่ยนเป็นมีดมาแทงกัน แต่สิ่งหนึ่งที่นุ่นเข้าใจมาเสมอคือ ‘เราแม่งเปลี่ยนอะไรในโลกนี้ไม่ได้’ อย่างดีที่สุดคือการรักษาแอตติจูดของตัวเองไว้ เพราะมันคือเรื่องที่เราต้องทำให้ได้ ในเมื่อเราเปลี่ยนใครไม่ได้ เปลี่ยนโลกไม่ได้ เราก็ห้ามตัวเราไม่ให้เป็นคนที่ไปปั้นมีดเพื่อแทงคนอื่นแทนก็แล้วกัน
Photo: Noth Thongsriphong และ รายการ Good noon Day
- ติดตามชมบทบาทใหม่ของ ‘นุ่น-ศิรพันธ์’ ได้ในรายการ Good noon Day ทางเพจเฟซบุ๊ก Nana https://www.facebook.com/nana.tvchannel/ ออนแอร์ทุกวันพฤหัสบดีเวลา 17.00 น.