×

Goldman Sachs เตือนวิกฤตเพดานหนี้สหรัฐฯ หาก ‘เฉียด’ ผิดนัดชำระเพียงนิด อาจฉุดเศรษฐกิจถดถอย

26.01.2023
  • LOADING...

Jan Hatzius หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ธนาคารยักษ์ใหญ่ชั้นนำในสหรัฐฯ แสดงความเห็นผ่านสถานีโทรทัศน์ CNN ออกโรงเตือนว่า เพียงแค่ข้อสงสัยเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทันตามกำหนดก็เพียงพอที่จะส่งผลเสียอย่างมากต่อตลาด และวิกฤตเพดานหนี้ที่มีโอกาสลุกลามบานปลายก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะงักอยู่กับที่ และเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตได้

 

คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ระดับหนี้ของสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นจนชนเพดานที่กำหนดไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นที่เรียบร้อย ทำให้ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ต้องออกมาตรการทางบัญชีเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดชำระหนี้มูลค่ากว่า 31 ล้านล้านดอลลาร์ได้ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


Hatzius กล่าวว่า หากสภาคองเกรสไม่สามารถยกระดับเพดานหนี้ได้ทันเวลา บรรดานักลงทุนต่างกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะมีโอกาสพลาดการชำระเงินตามกำหนดของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็น ‘สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดในระบบเศรษฐกิจโลก’

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากการคาดการณ์ทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2023-2024 พบว่า Goldman Sachs ค่อนข้างมองเป็นไปในทางบวกเมื่อเทียบกับนักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินอื่นๆ อีกทั้งยังเชื่อมั่นว่า สหรัฐฯ จะสามารถเลี่ยงภาวะถดถอยได้ โดยได้ปัจจัยหนุนจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในเรื่องวิกฤตเพดาหนี้ทำให้แนวโน้มทางบวกดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน โดย Hatzius เชื่อว่าความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ หรือกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น ก็เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยได้ 

 

เหตุผลเพราะปัญหาเพดาหนี้จะทำให้เกิดความวุ่นวายภายในตลาดการเงินสหรัฐฯ เกิดภาวะเงินตึงตัวครั้งใหญ่ กลายเป็นวิกฤตสภาพคล่อง กระทั่งเพิ่มแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบางจากการฟื้นตัวของวิกฤตโควิดระบาด 

 

Hatziut ย้ำว่า เพดานหนี้เป็นปัจจัยเหนือความคาดหมายที่จำเป็นต้องกังวล 

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์และเจ้าหน้าที่ทางการของสหรัฐฯ ได้ออกมาส่งเสียงเตือนถึงผลร้ายหากรัฐบาลกลางไม่สามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้

 

โดยเยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับทาง CNN เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนด เศรษฐกิจโลกย่อมเสี่ยงเผชิญกับ ‘วิกฤตการเงินโลก’ ครั้งใหญ่ ขณะที่ Mark Zandi นักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่า การผิดนักชำระหนี้เป็นมหาวิบัติทางการเงิน หรือ ‘Financial Armageddon’

 

อย่างไรก็ตาม จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ในวินาทีสุดแล้ว สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ก็สามารถก้าวข้ามข้อขัดแย้งจนกระทั่งบรรลุข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้สำเร็จ แม้จะมีหลายครั้งที่กว่าจะหาข้อตกลงกันได้ ก็เฉียดเข้าใกล้เส้นตายผิดนัดชำระหนี้แบบเส้นยาแดงผ่าแปดก็ตาม 

 

ตัวอย่างเช่นในปี 2011 การที่ฝ่ายนิติบัญญัติพยายามหาทางประนีประนอมเพดานหนี้จนลากยาวเข้าใกล้เส้นตาย ทำให้ S&P Global Ratings ตัดสินใจหั่นลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ลงจาก AAA จนสร้างความปั่นปวนในตลาดวอลล์สตรีท และทำให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของนักลงทุนลดลง 

 

บรรดานักลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้เชี่ยวชาญในตลาดวอลล์ตรีท ต่างเห็นตรงกันว่าการเจรจาเพื่อขยายเพดานนี้ที่กำลังมีขึ้นอยู่ในเวลานี้ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายใหญ่สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพรรครีพับลิกันสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐฯ และเงื่อนไขสำคัญที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนปัจจุบันใช้ในการหาเสียงเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคก็คือการยินยอมทำตามเงื่อนไขเรื่องจำกัดเพดาหนี้และตัดลดค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด ซึ่งถือเป็นมุมที่ค่อนข้างสุดโต่งสำหรับพรรคเดโมแครต 

 

อย่างไรก็ตาม Goldman Sachs ก็คาดหวังว่าข้อตกลงเกี่ยวกับเพดานหนี้จะบรรลุผลในที่สุด โดย Hatzius ระบุว่าวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้มักพบในวินาทีสุดท้าย

 

ยิ่งในกรณีที่สภาคองเกรสบรรลุข้อตกลงผ่านแผนขยายเพดานหนี้ได้สำเร็จก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดีมากขึ้น โดย Hatzius ระบุ คาดว่าสหรัฐฯ จะไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยังคงมีอยู่ 35% เมื่อเทียบกับฉันทามติในวอลล์สตรีทซึ่งอยู่ที่ประมาณ 65% 

 

Goldman Sachs เชื่อมั่นว่า โดยพื้นฐานแล้วสหรัฐฯ น่าจะสามารถหาแนวทาง Soft Landing ได้ 

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำหลายบริษัทที่ออกมาประกาศปลดพนักงานในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Microsoft และ Amazon รวมถึงบริษัททางการเงินอย่าง BlackRock และ Goldman Sachs เอง ทำให้หลายฝ่ายอดวิตกกังวลไม่ได้ ซึ่ง Goldman Sachs คาดว่าตลาดแรงงานที่ร้อนระอุจะเย็นลงในที่สุด และยังไม่เห็นสัญญาณน่ากังวลเกี่ยวกับภาวะตกงานในตลาด แม้ว่าการเติบโตของเงินเดือนต่อเดือนอาจลดลงต่ำกว่า 100,000 ตำแหน่ง

 

ในส่วนของปัญหาเงินเฟ้อ Hatzius ชี้ว่า เงินเฟ้อในได้ผ่านจุดพีคไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวบวกกับราคาที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวลงเช่นกัน รวมถึงการคลี่คลายของปัญหาห่วงโซ่อุปทานและผลกระทบจากสงครามยูเครน น่าจะช่วยลดระดับเงินเฟ้อได้โดยไม่ก่อให้เกิดขึ้นภาวะถดถอย หรือทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง 

 

Hatzius คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงจาก 9.1% เมื่อฤดูร้อนที่แล้วมาอยู่ที่ 2-3% ในช่วงปลายปีนี้หรือปี 2024

 

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs กล่าวว่า การคาดการณ์ของเขาคือการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะดำเนินต่อไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 ส่วนสถานการณ์หลังจากนั้นค่อยว่ากันอีกที 

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X