×

ส่องแนวทางการ Go ‘Net Zero’ with SCB เพื่อมองหาแนวคิดปั้นธุรกิจให้โตอย่างยั่งยืน [PR NEWS]

โดย THE STANDARD TEAM
01.09.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 min read
  • เมื่อ Net Zero คือหนึ่งในทางรอดของมนุษยชาติที่จะดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบเดิมโดยไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมากไปกว่านี้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องสนใจและให้ความสำคัญ 
  • ประเทศไทยตั้งเป้า Net Zero ในปี 2065 หลายองค์กรเริ่มออกมาประกาศเป้าหมาย SCB ก็เป็นหนึ่งในนั้น
  • แนวทาง Go ‘Net Zero’ with SCB คืออะไร และถ้าธุรกิจอยากจะร่วมเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นจะมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง

จะเกิดอะไรขึ้นหากอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกร้อนขึ้นอีก 0.5 องศาเซลเซียส?

 

นี่คือคำถามที่ ปรเมศร์ รักการงาน Sustainability Strategic Management ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ถามผู้ที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปในหัวข้อ Go ‘Net Zero’ with SCB ในงาน Techsauce Global Summit 2023 ที่ผ่านมา 

 

“เพียง 0.5 องศาเซลเซียส จะทำให้พืชและแมลงอีกหลากหลายสายพันธุ์สูญพันธุ์มากขึ้น 3 เท่า น้ำแข็งทั่วโลกละลายเพิ่มขึ้น 10 เท่า” ปรเมศร์กล่าว พร้อมโชว์กราฟที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงปี 1950 ซึ่งเป็นปีที่ก้าวเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเข้าสู่ยุควิกฤตในช่วงปี 2000-2020 เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส! 

 

เมื่อ Net Zero คือหนึ่งในทางรอดของมนุษยชาติ ทางรอดในการดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบเดิมโดยไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมากไปกว่านี้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องสนใจและให้ความสำคัญ  

 

 

ปรเมศร์กางข้อมูลจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 8 เท่าในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อวิกฤตโลกร้อนอย่างเลี่ยงไม่ได้ “ยิ่งประชากรเพิ่ม ปริมาณการบริโภคก็พุ่งตามเป็นเท่าตัว

 

“พฤติกรรมของมนุษย์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง ปัจจุบันก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นกว่า 4 หมื่นล้านตันต่อปี มันเป็นปริมาณที่มหาศาลมาก ลองสังเกตดูก็ได้ว่าจำนวนวันที่อากาศร้อนเพิ่มมากขึ้นและวันที่อากาศเย็นน้อยลง และมันไม่ใช่แค่คุณรู้สึกว่าอากาศร้อนกว่าเดิม แต่อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้น” 

 

ถ้ายังจำกันได้ ปี 2003 คลื่นความร้อนคร่าชีวิตผู้คนในปารีสมากถึง 14,802 ราย และนับจากนั้นเป็นต้นมา ข่าวภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า ก็ทวีความรุนแรงและเพิ่มความถี่ของการเกิดภัยร้ายมากขึ้น 

 

“ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ความร้อนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ถ้ายังนิ่งนอนใจเราอาจต้องเตรียมรับมือกับวิกฤตขาดแคลนอาหาร เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลนทั่วโลก” ปรเมศร์กล่าว 

 

จะแก้ด้วยการยกเลิกการทำอุตสาหกรรมหรือทุกกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนคงไม่ได้ แต่ต้องพึ่งพาการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ในชั้นบรรยากาศไปกักเก็บไว้ในแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยการดักจับโดยตรงและนำไปกักเก็บในหลุมน้ำมันเก่า หรือหลุมใต้ดิน เป็นต้น 

 

อาจสรุปได้ว่า ‘Net Zero’ หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จะเกิดขึ้นได้เมื่อก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์มีภาวะ ‘สมดุล’ กับการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ปรเมศร์บอกว่าพันธกิจระดับโลกนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2015 ทั่วโลกร่วมลงนามใน ‘ความตกลงปารีส’ (The Paris Agreement) ที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นไปได้รักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

 

“ประเทศไทยตั้งเป้า Net Zero ในปี 2065 จะเห็นว่าองค์กรและหน่วยงานมากมายเริ่มออกมาประกาศเป้าหมายที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดคาร์บอน เช่นเดียวกัน SCB ก็เป็นหนึ่งในนั้น” 

 

ปรเมศร์อธิบายถึงผลกระทบทุกมิติที่ผู้ประกอบการจะได้รับ หากวันนี้ยังไม่เริ่มปรับเปลี่ยนจะส่งผลเสียอย่างไร หรือหากเริ่มต้นลงมือทำตอนนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับความยั่งยืนของธุรกิจ 

 

 

ภาพประกอบด้านบนคือสไลด์ที่ปรเมศร์เผยให้เห็นว่า ปัจจุบันมีองค์กรขนาดใหญ่จำนวนมากที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Renewable Energy Consumption 100% (RE100) เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันที่จะใช้พลังงาน Renewable Energy 100% ในการผลิตและการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันก็จะผลักดันให้ซัพพลายเชนและซัพพลายเออร์ของบริษัทเหล่านี้ใช้ Renewable Energy 100% ด้วย 

 

ประเด็นต่อมาคือเรื่องของ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือกลไกการเพิ่มภาษี เป็นกลไกที่เกิดขึ้นเพื่อต้องการสร้างสมดุลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตในและนอกสหภาพยุโรปให้เท่ากัน 

 

“เนื่องจากสหภาพยุโรปมี Emissions Trading System (ETS) หรือระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นกลไกทางการตลาดรูปแบบหนึ่ง โดยกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับปีฐานให้กับอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ทำให้คนหันไปผลิตนอกสหภาพยุโรปและส่งกลับมาขาย เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี ลดต้นทุน CBAM จึงเป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป โดยกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรป” 

 

โดยสินค้า 5 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอะลูมิเนียม ปัจจุบันราคาภาษีคาร์บอนในยุโรปปรับขึ้นมาแตะ 100 ยูโรแล้ว

 

 

“ประเทศไทยเรามี Thailand Taxonomy มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย โดยจัดกลุ่มเป็นหมวดสีเขียว เหลือง แดง ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

 

ต่อให้คุณผลิตสินค้าที่ดีแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะถูกจัดให้อยู่ในหมวดสีแดง เป้าหมายหลักเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันครอบคลุม 2 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคพลังงานและภาคการขนส่ง คาดการณ์ว่าลำดับต่อไปจะโฟกัสไปที่ภาคการผลิตทั้งหมดและภาคการเกษตร 

 

“ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายบังคับเรื่อง Thailand Taxonomy แต่ในอนาคตจะมีต้นทุนมากดดัน ธุรกิจที่สามารถทำตามได้ก็จะมีแรงจูงใจ เช่น Green Finance เข้ามาซัพพอร์ต ทำให้ต้นทุนการดำเนินการถูกลง ที่แน่ๆ ภาคการธนาคารจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น ช่วยเหลือ SMEs ในการเปลี่ยนถ่ายมาเป็น Low Carbon Economy” 

 

ปรเมศร์ยังแนะว่าสิ่งที่ธุรกิจต้องเริ่มให้ความสำคัญคือ ‘การเปิดเผยข้อมูล’ 

 

“ใครอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะถูกกำกับโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. อยู่แล้ว แต่สำหรับธุรกิจอื่นๆ ก่อนหน้านี้มี International Standard มาช่วยเป็นไกด์ไลน์ให้ผู้ประกอบการได้เปิดเผยข้อมูลว่าเรามีอะไรและยังไม่รู้อะไรอีกบ้าง ซึ่งเรตติ้งและข้อกำหนดเหล่านี้จะช่วยยกระดับการบริหารจัดการที่ลดผลกระทบต่อโลกมากขึ้น ยั่งยืนขึ้น เช่น CDP (Carbon Disclosure Project), GRI (Global Reporting Initiative), CDSB (Climate Disclosure Standards Board), SASB (Sustainability Accounting Standards Board) หรือการเข้าจัดลำดับ S&P Global และ THSI (Thailand Sustainability Investment)

 

“สิ่งเหล่านี้สำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ อย่างรางวัล THSI จะช่วยให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดีขึ้น หรือ DJSI (Dow Jones Sustainability Index) ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้น”

 

แต่ถ้าอยากจะเริ่มต้นลดคาร์บอนเลยตั้งแต่วันนี้ ปรเมศร์แนะนำหลายวิธีที่ง่ายและทำได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าในทุกกระบวนการทำงาน เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการขนส่ง ลองสำรวจดูว่ามีพลังงานไม่จำเป็นส่วนไหนที่ลดการใช้ได้ หรือปรับมาใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ ง่ายกว่านั้นคือ จริงจังกับการรีไซเคิล ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นวิธีใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดขยะ และทั้งหมดนี้ยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจในระยะยาว  

 

 

มาถึงไฮไลต์ที่หลายคนคงมีคำถามในใจว่า แล้ว SCB จะเดินหน้าสู่เป้า Net Zero อย่างไร ปรเมศร์บอกว่า สำหรับ SCB เรื่องของ Sustainability เป็นค่านิยมหลักขององค์กรอยู่แล้ว พร้อมฉายภาพค่านิยมของ SCB ออกมาให้เห็นเป็น 3 แกนหลัก ได้แก่ 

 

S = Sustainable Finance นิยามง่ายๆ คือ การให้สินเชื่อ ให้การลงทุน และออกตราสารหนี้อย่างมีความรับผิดชอบ สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ธุรกิจของลูกค้าและการดำรงอยู่ขององค์กรยั่งยืน 

 

C = Creating Social Impact SCB มุ่งสนับสนุนและให้ความรู้ด้าน Finance Literacy และ Finance Inclusion โดยเฉพาะเรื่องของ Finance Inclusion เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสและได้รับการเปลี่ยนแปลง 

 

B = Better Environmental Future แนวคิดเรื่องความยั่งยืนและการเดินหน้าสู่ Net Zero ไม่ได้ทำแค่ในองค์กร แต่กระจายไปยังมิติอื่นๆ ในสังคม 


เป้าหมายด้านความยั่งยืนของ SCB 

  • SCB ตั้งเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น Net Zero ในการดำเนินงานภายในปี 2030 และ Net Zero ภายในปี 2050 ซึ่งรวมถึงสินเชื่อในระบบทั้งหมดจะเป็น Net Zero ซึ่งแรงจูงใจที่ลูกค้าจะได้ เช่น ดอกเบี้ยถูกลง 
  • วางงบประมาณ 1 แสนล้านบาท สำหรับ Sustainable Finance ทุกส่วน ทั้งเงินกู้ เงินลงทุน ตราสารหนี้ ภายในปี 2025 

 

 

ปัจจุบัน SCB ดำเนินการด้าน Sustainable Finance ในหลายภาคส่วน เช่น การจับมือกับบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ลงนามความร่วมมือสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและสินเชื่อสีเขียว จำนวน 2 หมื่นล้านบาท พัฒนาโครงการเมกะโปรเจกต์จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ หรือการจับมือกับโออาร์ สร้างโมเดลความยั่งยืนให้ SMEs สนับสนุนสินเชื่อโซลาร์รูฟท็อป เปลี่ยนพีทีที สเตชั่น เป็นสถานีรักษ์โลกทั่วประเทศ

 

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และ Canadian Solar ทำโปรเจกต์ Solar Farm แล้วนำพลังงานที่ได้เข้าระบบ 

 

“เราไม่ได้มองเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ แต่มองลูกค้ารายย่อยที่อยากมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลกด้วย เรามีโครงการ ‘คุณดูแลโลก เราดูแลคุณ’ ที่ออกโปรดักต์มากมาย เช่น สินเชื่อผู้ประกอบการ Green Loan หรือสินเชื่อบ้าน Green Home Loan หรือการทำแคมเปญกับ BYD ให้สินเชื่อพร้อมข้อเสนอดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้นเพียง 1.88% ต่อปี” 

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ SCB ได้ดำเนินการไปแล้ว ยังมีอีกหลายแคมเปญและหลายโปรดักต์สินเชื่อที่ SCB เตรียมมอบให้กับคนทำธุรกิจที่อยาก Go Green แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ทิศทางการ Go ‘Net Zero’ ของ SCB คงจะชัดเจนมากขึ้น น่าจะตอบโจทย์ธุรกิจที่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโลกและกำลังมองหาพาร์ตเนอร์ทางการเงินที่ดี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising