ช่วงนี้คุณๆ ที่ติดตามข่าวสารวงการแพทย์อย่างใกล้ชิด คงจะเคยได้ยินคำว่าแพ้ ‘กลูเตน’ (Gluten) กันบ่อยขึ้น แถมเวลาไปเดินช้อปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง จะเห็นได้ว่ามีชั้นสินค้าที่ระบุไว้ว่ากลูเตนฟรี (Gluten Free) สำหรับคนแพ้กลูเตนโดยเฉพาะ บทความนี้จะเล่าให้คุณๆ ฟังว่า กลูเตนคืออะไร และอาการแพ้กลูเตนนั้นเป็น อย่างไรกันบ้างครับ
กลูเตนก็คือสารอาหารชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์กับร่างกาย จัดอยู่ในจำพวกไกลโคโปรตีนชนิดหนึ่งครับ เราจะพบกลูเตนได้ในอาหารจำพวกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพด ซึ่งในปัจจุบันนี้เรานิยมที่จะนำเอาแป้งจากข้าวเหล่านั้นไปทำอาหารนานาชนิด เช่น พาสต้า, สปาเกตตี, ลาซานญา, ขนมปัง, โดนัท, เค้ก, พาย, ซีเรียล กลูเตนช่วยให้ขนมปังและเบเกอรีต่างๆ เหนียวนุ่ม รสชาติอร่อยน่ารับประทาน ระยะหลังมีการนำกลูเตนมาใช้ทำเป็นเนื้อสัตว์เทียม สำหรับคนที่กินเจอีกด้วย
ในบางคนที่มีพันธุกรรมเกี่ยวกับการย่อยอาหารที่ผิดปกติ จะทำให้ย่อยกลูเตนไม่ได้ เมื่อกลูเตนผ่านไปถึงลำไส้เล็กก็จะไม่ถูกดูดซึม ทั้งยังทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ขึ้นในร่างกาย คล้ายกับคนที่แพ้นมวัว ซึ่งเราเรียกอาการเหล่านี้ว่าแพ้กลูเตน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่อย่างใดครับ อาการแพ้กลูเตนที่เกิดขึ้นกับเรามีตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น คัดแน่นจมูกเหมือนคนแพ้อากาศ ไปจนถึงอาการแพ้อย่างรุนแรงถึงขั้นช็อก
ซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้น เราพบว่าอาการผิดปกติทางจิตเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการแพ้กลูเตนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอครับ
จะรู้ได้อย่างไรว่าแพ้กลูเตน?
องค์การอนามัยโลกระบุว่า หากเราดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว แต่รู้สึกว่าร่างกายยังผิดปกติ เจ็บนั่นเจ็บนี่ ปวดนั่นปวดนี่อย่างไม่มีสาเหตุ ให้สงสัยว่าอาจจะเกิดจากการแพ้กลูเตนในอาหารก็เป็นได้
10 สัญญาณเตือนว่าคุณอาจจะแพ้กลูเตน มีดังนี้
- มีอาการอ่อนเพลีย มึนงง ง่วงงุน ทุกครั้งหลังจากกินอาหารที่มีกลูเตนจำพวกเส้นฝรั่งทั้งหลาย เช่น พาสต้า, สปาเกตตี, มักกะโรนี ขนมจำพวกโดนัท หรือเค้ก
- มีอาการไมเกรนโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดหัวข้างเดียว ทั้งๆ ที่ไม่เครียด และทั้งๆ ที่พักผ่อนเพียงพอ
- มีอาการผิดปกติของระบบย่อยอาหารบ่อยๆ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย โดยไม่มีเหตุผล แต่ถ้าสังเกต มักจะเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารที่มีกลูเตน
- มีขนคุด หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Keratosis Pilaris ที่ด้านหลังของต้นแขน แลเห็นเป็นตุ่มเล็กๆ สีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ขนคุดเกิดจากการขาดกรดไขมันบางชนิดและวิตามินเอ ซึ่งการขาดสารอาหารทั้งสองชนิดนั้น เกิดจากการแพ้กลูเตน ทำให้การดูดซึมกรดไขมันและวิตามินเอที่ลำไส้เล็กผิดปกติไปนั่นเอง
- มีอาการบ้านหมุน การทรงตัวที่ผิดปกติ โดยตรวจร่างกายแล้วไม่พบว่าเกิดจากสาเหตุอื่นๆ
- มีอาการของฮอร์โมนไม่สมดุล เช่น ประจำเดือนผิดปกติ น้ำหนักขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ ภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ร่างกายอ่อนล้าโดยตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนของอาการดังกล่าว
- ปวดข้อ ตั้งแต่ข้อนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อเท้า ปวดและบวม เป็นๆ หายๆ โดยเฉพาะอาการเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารกลุ่มกลูเตนเข้าไป
- ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคพุ่มพวง โรคหนังแข็ง โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคในกลุ่มดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้เลยว่าคุณน่าจะมีอาการแพ้กลูเตนแถมมาด้วยครับ
- มีโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้น เราพบว่าอาการผิดปกติทางจิตเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการแพ้กลูเตนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอครับ
แพ้กลูเตนแล้วทำอย่างไรดี!?
เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้วอย่าเพิ่งวิตกจนเกินไปครับ หากคุณสงสัยว่าตัวเองแพ้กลูเตนหรือเปล่า ถ้ายังไม่อยากพบหมอ คุณสามารถทดสอบตัวเองง่ายๆ ในเบื้องต้นด้วยการหยุดรับประทานอาหารที่มีกลูเตน หากพบว่าอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองดีขึ้นแล้วละก็ ให้สงสัยไว้ว่าคุณคงแพ้กลูเตนนั่นเองครับ แต่ถ้าหากต้องการที่จะทราบอย่างแน่ชัดว่าแพ้กลูเตนจริงๆ หรือเปล่า แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ครับ
ปัจจุบันนี้มีวิธีการทดสอบใหม่ๆ หลายเทสต์ที่สามารถบอกได้อย่างละเอียดว่าคุณแพ้กลูเตนหรือไม่
อ้างอิง : www.mayoclinic.org/diseases-conditions/wheat-allergy/basi cs/definition/con-20031834
- ‘Gluten’ มีรากศัพท์มาจากคำว่า ‘Glue’ หรือกาว อันหมายถึงลักษณะเหนียวหนืดเด้งดึ๋งของสารอาหารจำพวกนี้นั่นเอง
- มีประวัติว่ามนุษย์รู้จักปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวสาลี นำมาใช้เป็นอาหารตั้งแต่ยุคโลหะ แต่เพิ่งมีการพูดถึงการแพ้กลูเตนอย่างจริงจังเมื่อปี ค.ศ. 2011 โดย นพ. วิลเลียม เดวิส (William Davis) เป็นคนแรกที่พูดถึงอันตรายของการบริโภคกลูเตนในหนังสือชื่อ Wheat Belly ซึ่งสร้างกระแสของคนที่เห็นด้วยและคนที่ออกมาคัดค้าน ทำให้เกิดการศึกษาเรื่องการแพ้กลูเตนหลังจากนั้นอย่างจริงจังมาจนถึงปัจจุบัน
- หากคุณแพ้กลูเตน ควรหลีกเลี่ยงเส้นฝรั่งจำพวกพาสต้า สปาเกตตี มักกะโรนี แต่สำหรับเส้นไทยอย่างก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ ขนมจีน นั้น สามารถรับประทานได้อย่างสบายใจ เพราะทำมาจากแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียว ซึ่งไม่มีกลูเตนอยู่แล้วครับ