×

‘โลกร้อน’ ปัญหาที่ท้าทายผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ แก้จริงจัง ไม่ใช่แค่นโยบายไม้ประดับ

10.02.2022
  • LOADING...
Global warming

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • วันนี้ชัดเจนแล้วว่าได้มีการตื่นตัวจากทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม และประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาและวัยทำงาน ที่มองว่าประเด็นโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความสำคัญที่จะต้องมีการรับมืออย่างฉุกเฉิน และในบริบทของ กทม. นั้นจะต้องตื่นตัวเช่นกัน 
  • ประเด็น ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ จะต้องเป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับการพูดถึง มีการเสนอทางออกต่างๆ เพราะวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ กทม. จะต้องเอาจริงกับเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เป็นนโยบายประดับเหมือนในอดีต

หลังจากที่มีกระแสเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ผู้เขียนอยากจะใช้โอกาสนี้ในการพูดถึงบทบาทของ กทม. ในการรับมือกับประเด็นสำคัญอย่าง ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ หรือ ‘โลกร้อน’ ซึ่งที่ผ่านมา กทม. อาจจะมีบทบาทที่ไม่มากนัก อาจจะดูเป็นประเด็นที่ไกลตัวหรือถูกมองข้าม เพราะประชาชนไม่ได้พูดถึง จึงไม่ได้เป็นกระแสสังคม แต่ความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้นับว่าเป็นปัญหาใหญระดับโลกที่ควรได้รับความใส่ใจอย่างเร่งด่วนจากทุกภาคส่วน

 

Global warming

 

เมือง กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

‘เมือง’ กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น การเป็นแหล่งสำคัญของการก่อผลิตก๊าซคาร์บอน โดยข้อมูลจาก UN-Habitat พบว่า แม้พื้นที่เมืองจะมีสัดส่วนแค่ 2% ของพื้นผิวโลก แต่กลับใช้มากถึง 78% ของพลังงานทั้งหมด และผลิตมากถึง 60% ของก๊าซเรือนกระจก หรือการที่ปัจจุบันเกินครึ่งหนึ่งของประชากรโลกอาศัยในพื้นที่เมือง (และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ใน 3 ของประชากรภายใน พ.ศ. 2573) ทำให้พื้นที่เมืองมีความหนาแน่นและมีประชากรรายได้ต่ำที่อาศัยในชุมชนแออัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

 

ในฐานะที่เป็นเมืองที่ใหญ่ระดับภูมิภาคและระดับโลก กทม. มีบทบาทและความรับผิดชอบอันสำคัญ แต่ว่า กทม. ก็มีภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย เช่น เรื่องการจัดการและกำจัดมูลฝอย การจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สวนสาธารณะ และอื่นๆ (ซึ่งขอชมว่าทำได้เป็นอย่างดี) ปัจจุบันพบว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นยังไม่ได้เป็นภาระเร่งด่วนของ กทม. เท่ากับประเด็นอื่น 

 

อย่างไรก็ตาม วันนี้ชัดเจนแล้วว่าได้มีการตื่นตัวจากทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม และประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาและวัยทำงาน ที่มองว่าประเด็นนี้มีความสำคัญที่จะต้องมีการรับมืออย่างฉุกเฉิน และในบริบทของ กทม. นั้นจะต้องตื่นตัวเช่นกัน 

 

ผู้เขียนมั่นใจว่าผู้ว่าฯ กทม. คนถัดไป ซึ่งจะมาจากเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง จะเพิ่มลำดับความสำคัญให้กับประเด็นนี้อย่างแน่นอน

 

Global warming

 

2 มิติ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ กทม.

 

  1. การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือที่เรียกกันว่า ‘Climate Mitigation’ เป็นการแก้ปัญหาจากต้นทาง ลดปริมาณของก๊าซคาร์บอนที่จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ในบริบทของเมือง เรามองถึงผู้ใช้พลังงาน (End User) ที่ทำให้มีการผลิตก๊าซคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นอาคาร (ที่อยู่อาศัย เชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรม) ภาคการขนส่ง (รถยนต์ส่วนตัว รถบรรทุก รถจักรยานยนต์) กิจกรรมทางการเกษตร และรวมถึงขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล 

 

  1. การปรับตัว (ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) หรือ ‘Climate Adaptation’ คือ การจัดแผนรับมือกับผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเพิ่มขึ้น โดยคำนึงถึงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

Global warming

 

4 เรื่องที่ กทม. ต้องรีบทำ

สำหรับบทความนี้ผู้เขียนอยากจะพูดถึงมิติแรก หรือ ‘Climate Mitigation’ โดย กทม. มี 4 เรื่องที่ต้องรีบทำ

 

  1. เก็บข้อมูล (Measure)

อุปสรรคสำคัญในการจัดการปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การเข้าถึงข้อมูล ปัจจุบันการวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนยังไม่ถึงขั้นมาตรฐานสากล โดยเน้นการคาดการณ์ตามแบบสำรวจมากกว่าการวัดการปล่อยที่แท้จริง พอมีข้อมูลเหล่านี้แล้ว ควรจะต้องพัฒนาแดชบอร์ด หรือฐานข้อมูลกลางของเมือง ที่จะต้องรู้ถึงแหล่งที่ปล่อยคาร์บอน และติดตามความคืบหน้าของนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการลดก๊าซคาร์บอนได้ เพื่อการประเมินความสำเร็จ ปัจจุบันเมืองใหญ่ๆ ในประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ได้ลงทุนในระบบ Spatial Mapping Model นี้หมดแล้ว

 

  1. เจาะจงตามภาคส่วน (Categorize)

เมื่อเก็บข้อมูลอย่างละเอียด กทม. จะรู้ว่าแหล่งการปล่อยคาร์บอน หรือ ‘End User’ นั้นอยู่ที่ไหนบ้าง เช่น คาร์บอนที่มาจากอาคารกี่เปอร์เซ็นต์ จากภาคขนส่งกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยในการออกแบบมาตรการที่ตรงกับปัญหามากที่สุด เนื่องจากแต่ละภาคส่วนก็จะมีแนวทางบริหารจัดการที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ข้อมูลของกรุงโตเกียวแสดงถึงภาคอาคารเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด เลยทำให้รัฐบาลท้องถิ่นได้ออกหลายมาตรการ เช่น นโยบายอาคารสีเขียว (Green Building Program) ที่บังคับให้อาคารที่มีพื้นที่เกิน 5,000 ตารางเมตร มีการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมกับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ หรือนโยบายการค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก (Cap and Trade) สำหรับอาคารใหญ่ 

 

สำหรับ กทม. นั้นเคยมีการศึกษาของหน่วยงานต่างประเทศที่พบว่า 44% มาจากภาคขนส่ง ซึ่งแปลว่านโยบายควรที่จะต้องเน้นไปตรงนั้น อย่างไรก็ตาม กทม. ควรจะต้องมีการเก็บข้อมูลและอัปเดตเองมากกว่าพึ่งพาข้อมูลจากหน่วยงานต่างประเทศ

 

  1. ตั้งเป้า (Target)

เราอาจจะจำได้ว่าช่วงการประชุม COP26 เดือนพฤจิกายนปีที่แล้ว หลายประเทศได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero เช่น ไทยที่ตั้งเป้าไว้ พ.ศ. 2608 (ช้ากว่าประเทศส่วนใหญ่ถึง 15 ปี) หลายๆ เมืองใหญ่ทั่วโลกก็มีการประกาศเช่นกัน ตัวอย่างของกรุงลอนดอน ซึ่งน่าสนใจมากเพราะได้ตั้งเป้าไว้ พ.ศ. 2573 พร้อมออกแผนปฏิบัติ เช่น การ ‘Retrofit’ หรือปรับปรุงบ้าน 210,000 หลังต่อปี และอาคารพาณิชย์ 26,500 อาคารต่อปี หรือการเชื่อม 460,000 อาคารเข้าสู่เครือข่ายความร้อนระดับเขต 

 

ปัจจุบัน กทม. ได้ลงนามเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Cities Race to Zero ที่เมืองต่างๆ ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนครึ่งหนึ่งภายใน พ.ศ. 2573 และ Net Zero ภายใน พ.ศ. 2593 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ถ้าจะให้ครบถ้วนมากกว่านี้ กทม. ควรจะต้องทำแผนปฏิบัติว่าจะลดตามที่สัญญาได้อย่างไร ผ่านมาตรการไหน นอกเหนือจากการคำนึงถึง Absolute Emissions Reduction (เช่น Net Zero ภายใน พ.ศ. 2593) แล้ว กทม. ควรจะต้องพิจารณาถึงค่าความเข้มคาร์บอน (Carbon Intensity) ด้วย ซึ่งคือปริมาณคาร์บอนต่อการผลผลิตทางเศรษฐกิจ (เช่น CO2 Emission per GDP)

 

Global warming

 

  1. ยกระดับ (Prioritize)

ที่ผ่านมา กทม. ก็ได้ทำแผนแม่บท กทม. ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556-2566 และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการร่างฉบับใหม่ (พ.ศ. 2564-2573) โดยพิจารณาถึง 4 ด้าน (ขนส่ง พลังงาน ขยะ ผังเมืองเขียว) ซึ่งแผนแม่บทนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเฟรมเวิร์กที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเร่งมือเปลี่ยน ‘แผน’ เป็น ‘การปฏิบัติ’ หรือ ‘แอ็กชัน’ ให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะเป็นส่วนต่อการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนครึ่งหนึ่งภายใน พ.ศ. 2573 และ Net Zero ภายใน พ.ศ. 2593 ได้จริง’

 

อย่างแรกที่ กทม. สามารถทำได้เลย คือ การปรับโครงสร้างภายในให้สะท้อนถึงความจริงจังต่อประเด็นนี้ ปัจจุบันสำนักสิ่งแวดล้อมของ กทม. มี 3 สำนักงาน (เลขานุการ จัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล และสวนสาธารณะ) และ 3 กอง (นโยบายและแผน กำจัดมูลฝอย จัดการคุณภาพอากาศและเสียง) ซึ่งภายใต้กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียงนั้นมี ‘กลุ่มงานยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ อยู่ อย่างแรกที่ กทม. ทำได้เลย คือ ยกระดับหน่วยงานนี้จาก ‘กลุ่มงาน’ ขึ้นเป็น ‘กอง’ พร้อมกับการมอบหมายความรับผิดชอบที่รวมถึง 3 ภารกิจที่ได้พูดถึงด้านบน

 

หลังจากไม่ได้มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มานานเกือบ 9 ปี ช่วงนี้เป็นเวลาสำคัญที่ผู้สมัครแต่ละท่านจะได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากประชาชน และได้มีการเสนอแนวทางการพัฒนาเมือง ซึ่งประเด็น ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ จะต้องเป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับการพูดถึง มีการเสนอทางออกต่างๆ เพราะวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ กทม. จะต้องเอาจริงกับเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เป็นนโยบายประดับเหมือนในอดีต

FYI
  • ในบทความถัดๆ ไป อยากจะชวนคุยและลงรายละเอียดถึงมิติต่างๆ ที่ กทม. จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ (เช่น อาคาร การขนส่ง พลังงาน การเกษตร และอื่นๆ) และจะแชร์ตัวอย่างของมาตรการต่างๆ ที่เมืองอื่นได้นำมาใช้)
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising