×
SCB Omnibus Fund 2024

5 ความท้าทายที่ห่วงโซ่อุปทานโลกต้องเผชิญ และอาจกระทบต่อกำลังซื้อของผู้คน

16.09.2022
  • LOADING...
ห่วงโซ่อุปทานโลก

นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด แสดงให้เห็นว่าโลกมีความเชื่อมโยงกัน โดยผลกระทบหนึ่งที่น่าจับตาคือปัญหาคอขวดในการผลิต (Supply Bottlenecks) ซึ่งสะท้อนปัญหาความไม่สมดุลของอุปทานและอุปสงค์สินค้าในโลก โดยหลังคลายล็อกดาวน์ ความต้องการสินค้าทั่วโลกสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานทำงานสะดุด (Global Supply Disruptions) ปัญหานี้นับเป็นปัญหาใหญ่ในภาคการผลิตทั่วโลกมาตลอดปีที่แล้ว และมีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

 

ต่อไปนี้คือ 5 ความท้าทายที่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกต้องเผชิญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถของเราในการซื้อสินค้าในฤดูหนาวนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


1. ค่าครองชีพที่สูงขึ้น

อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ครัวเรือนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากต้นทุนอาหารที่สูงขึ้น ประกอบกับความคาดหวังที่ผู้บริโภคจะต้องลดการใช้จ่ายจำนวนมากในฤดูหนาวนี้ ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการมีความไม่แน่นอน

 

สิ่งนี้ทำให้ยากต่อการวางแผนห่วงโซ่อุปทานในการประมาณล่วงหน้าถึงปริมาณและประเภทของสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการระบาดใหญ่ได้เปลี่ยนภาพนี้ไปมากแล้ว แต่การคาดการณ์ความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในปี 2565 ก็จะยิ่งยากขึ้น

 

สต๊อกสินค้าสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาสนั้นถูกผลิตและจัดส่งล่วงหน้าหลายเดือน ดังนั้นความไม่แน่นอนในปัจจุบันจึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการคาดการณ์ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดหวังในวันคริสต์มาสนี้ หากผลิตภัณฑ์บางอย่างหายากหรือมีราคาแพงเกินกว่าที่จะซื้อ เนื่องจากอุปทานตึงตัวและราคาสูงขึ้น

 

2. การจลาจลของคนงาน

ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนงานต้องเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรง เพื่อชดเชยผลกระทบของเงินเฟ้อต่อค่าจ้างของพวกเขา

 

การดำเนินการทางอุตสาหกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวและเติบโตเพิ่มขึ้น เพิ่มแรงกดดันต่อห่วงโซ่อุปทานอย่างมาก ยกตัวอย่างกรณี คนขับรถบรรทุกในเกาหลีใต้หยุดงานประท้วง ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในวงกว้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์หรือชิป ยานยนต์ แบตเตอรี่ และเครื่องใช้ไฟฟ้า 

 

นอกจากนี้ในสหราชอาณาจักรก็มีการประท้วงหยุดงานเช่นกัน โดยพนักงานขับรถไฟราว 5,000 คนในเครือข่ายรถไฟของสหราชอาณาจักรเกือบ 1 ใน 4 หยุดงานประท้วง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ให้ขึ้นค่าแรง หลังจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยการหยุดงานครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งมอบวัสดุก่อสร้างที่ล่าช้า

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกในปี 2564 ยังดำเนินต่อไปในปีนี้ และปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้แพร่กระจายไปยังภาคส่วนอื่นๆ ที่สนับสนุนห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงท่าเรือและคลังสินค้า ประกอบกับความต้องการอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดใหญ่ ธุรกิจจำนวนมากจึงเริ่มตึงเครียดในการดำเนินงานมากขึ้น

 

3. การขาดแคลนพลังงาน

อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันไม่เพียงแต่เป็นปัญหาสำหรับราคาอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงต้นทุนด้านพลังงานด้วย ราคาก๊าซที่สูงขึ้นและอุปทานที่ลดลงจากรัสเซียทำให้บริษัทในยุโรปต้องมองหาแหล่งพลังงานทางเลือก เช่น ถ่านหิน ในขณะที่การวิจัยจากหอการค้าและอุตสาหกรรมของเยอรมนีแสดงให้เห็นว่า 16% ของบริษัทต่างๆ คาดว่าจะลดการผลิตหรือหยุดการดำเนินธุรกิจบางส่วน

 

เยอรมนีเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปและต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นอย่างมาก หากคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะถดถอย อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตทั่วโลก 

 

อย่างไรก็ตาม แม้แต่ประเทศที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในสัดส่วนที่น้อยก็ยังต้องเผชิญกับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ปากีสถานลดวันทำงานเพื่อรับมือวิกฤตพลังงาน และในนอร์เวย์หลายบริษัทเริ่มลดกำลังการผลิตปุ๋ยลง เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่งสูงขึ้น จากสถานการณ์ปัจจุบันทำให้เกิดคำถามถึงความสามารถของยุโรปในการผลิตปุ๋ยที่เพียงพอสำหรับพืชผล และอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารทั้งโลกได้

 

ในฝั่งของผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ กำลังลดประมาณการยอดขาย และผู้ผลิตรถยนต์ในสหราชอาณาจักรกังวลเกี่ยวกับผลผลิต นอกจากนี้ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โรงงานประกอบรถยนต์และโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ได้เริ่มปิดตัวลงแล้ว เนื่องจากขาดแคลนพลังงาน และที่สำคัญการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดนี้จะส่งคลื่นกระแทกผ่านห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

4. ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นต้นตอของภาวะเงินเฟ้อด้านพลังงานและราคาอาหารส่วนใหญ่ที่โลกกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดความระส่ำระสาย และทำให้เกิดวิกฤตอาหารทั่วโลก

 

การขาดแคลนปุ๋ยนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรลดลงในหลายประเทศ ขณะที่เรือธัญพืชบางลำได้ออกจากยูเครนแล้ว เพื่อแจกจ่ายเสบียงสำคัญที่จะจัดการกับความอดอยากในประเทศต่างๆ เช่น เยเมน แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการนี้ไม่เพียงพอที่จะสามารถแก้ไขวิกฤตอุปทานอาหารทั่วโลกได้

 

ในส่วนอื่นๆ ของโลก ความสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จนถึงจุดที่จีนประกาศระงับความร่วมมือด้านต่างๆ กับสหรัฐฯ ได้ทำให้เขตการเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลกต้องหยุดชะงักในเดือนสิงหาคม

 

สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ กำลังเป็นประเด็นที่ทั้งโลกต้องหันมาให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงอุตสาหกรรมไอทีที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งปัจจุบันไต้หวันถือเป็นยักษ์ใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่า 60% หากที่สุดแล้วเรื่องราวบานปลายจนเกิดภาวะสงครามขึ้นมา สินค้าไอทีมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ชิปอาจหายไปค่อนโลก 

 

5. สภาพอากาศสุดขั้ว

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระยะยาวสำหรับห่วงโซ่อุปทาน ภัยแล้งทำให้ระดับน้ำทั่วโลกลดลงในปีนี้ และส่งผลกระทบต่อเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้า

 

เวลาน้ำลดหมายความว่าเรือสามารถบรรทุกสินค้าได้เพียงเศษเสี้ยวของการขนส่งตามปกติ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกยตื้น แม้ว่าการขนส่งสินค้าจะถูกโอนไปยังการขนส่งประเภทอื่น แต่เรือลำเดียวอาจต้องใช้รถบรรทุกมากกว่า 500 คันในการเคลื่อนย้ายสินค้า

 

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา บางส่วนของแม่น้ำแยงซีของจีน ซึ่งคิดเป็น 45% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศ ถูกปิดไม่ให้เรือโดยสาร เนื่องจากระดับน้ำต่ำกว่าปกติมากกว่า 50% นอกจากนี้ยุโรปต่างก็กำลังเผชิญภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 500 ปี โดยพื้นที่ราว 2 ใน 3 ต้องประกาศเตือนภัยหรือแจ้งเหตุฉุกเฉิน

 

ภาพด้านล่างแสดงถึงผลกระทบของภัยแล้งที่มีต่อแม่น้ำไรน์ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญในยุโรปกลางที่เชื่อมโยงผู้ผลิตในเยอรมนีกับทะเล

 

ห่วงโซ่อุปทานโลก

ภาพที่ 1: แสดงระดับแม่น้ำในเดือนสิงหาคม 2564

 

ห่วงโซ่อุปทานโลก

ภาพที่ 2: แสดงระดับน้ำที่ต่ำกว่ามากในบริเวณเดียวกันของแม่น้ำในอีก 1 ปีต่อมา

 

ปัจจุบันแม่น้ำไรน์มีน้ำน้อยมากจนเรือบางลำสามารถบรรทุกได้เพียง 1 ใน 4 ของค่าระวางปกติ ความแห้งแล้งยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แม่น้ำไรน์และแม่น้ำสายอื่นๆ จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายถ่านหินและก๊าซในปริมาณมาก เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนพลังงาน

 

เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วกำลังเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการคาดการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในช่วงฤดูหนาวปี 2022 พบว่า ฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติกจะรุนแรงกว่าปกติ ซึ่งอาจขัดขวางเส้นทางเดินเรือที่สำคัญหลายเส้นทางในมหาสมุทรแอตแลนติก

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น ความท้าทายทั้ง 5 ข้อนี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อระยะเวลาในการรอสินค้าของผู้ซื้อในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือรถยนต์ที่ผลิตในประเทศจีน และส่งมอบไปยังตลาดตะวันตก แม้ว่าการขาดแคลนไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจใช้เวลานานขึ้นกว่าจะถึงร้านค้าในฤดูหนาวที่จะถึงนี้

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising