×

ตลาดหุ้นปรับฐานทั่วโลก ความเสี่ยงสหรัฐฯ เกิด Recession เพิ่มเป็น 25%

05.08.2024
  • LOADING...
ตลาดหุ้น

ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้น ทั่วโลกถูกเทขายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ดัชนี Nikkei 225 ดิ่งลงมากถึง 20% ขณะที่ดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้ก็ปรับตัวลดลงมากกว่า 10%

 

นอกจากสองตลาดดังกล่าว จะเห็นว่าตลาดหุ้นหลักทั่วโลกต่างถูกเทขายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของหุ้นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI

 

หุ้นญี่ปุ่นร่วง 13.5% ในวันเดียว

 

ในวันนี้ (5 สิงหาคม) ดัชนี Nikkei 225 ร่วงลงมากถึง 13.5% จนถูกพักการซื้อขายชั่วคราวจากมาตรการ Circuit Breaker โดยการร่วงลงดังกล่าวถือเป็นระดับที่รุนแรงมากที่สุดนับแต่วิกฤต Black Monday เมื่อปี 1987

 

ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นร้อนแรงอย่างมาก หลังดัชนีจะพุ่งขึ้นมาทำจุดสูงสุดใหม่ก็ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ต่ออีก 20%

 

สาเหตุหลักที่หนุนให้หุ้นญี่ปุ่นขึ้นต่อเนื่อง เพราะธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยกดอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง ประกอบกับแรงหนุนจากนโยบายที่ชื่อว่า NISA หรือกองทุนที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีคล้ายกับกองทุน LTF ของไทย รวมไปถึงผลบวกจาก Warren Buffett ที่เข้าซื้อหุ้นญี่ปุ่นในช่วงก่อนหน้านี้

 

แต่หลังจากที่ BOJ ยุตินโยบาย Yield Curve Control และขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งล่าสุด ประกอบกับการที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาออกมาแย่กว่าที่คาด ทำให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดในเดือนกันยายน ส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าอย่างรวดเร็ว

 

“ก่อนหน้านี้เงินเยนอ่อนค่าอย่างมาก ทำให้หุ้นส่งออกของญี่ปุ่นได้อานิสงส์ แต่ในความเป็นจริงแล้วหุ้นญี่ปุ่นพุ่งขึ้นมาสวนทางกับความเป็นจริง เห็นได้จากการเติบโตของ GDP ที่ไม่ได้ดีเท่ากับที่ควรจะเป็น”​

 

จุดสิ้นสุดของตลาดกระทิง

 

ประกิตกล่าวต่อว่า การปรับฐานของหุ้นทั่วโลกน่าจะเป็นจุดสิ้นสุดของตลาดกระทิง (Bull Market) ในรอบที่ผ่านมาแล้ว แต่การเกิดภาวะถดถอย (Recession) ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่น่าจะเป็นเพราะแค่เรื่องอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น แต่เป็นประเด็นอื่นที่ซ่อนอยู่มากกว่า

 

“ความกังวลเรื่อง Recession เป็นเหมือนการหาเหตุผลเพื่อรองรับการขายทำกำไรในตลาดหุ้นมากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีที่ขึ้นมาอย่างร้อนแรง”

 

มุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของ ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ซึ่งเชื่อว่าตลาดกระทิงของหุ้นโลกจบลงแล้ว

 

“หุ้นโลกจะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง ต้องผ่านการปรับฐานลงมาก่อน เพื่อจะรีเซ็ตดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เพราะดอกเบี้ยในระดับ 5% หุ้นคงจะขึ้นต่อไม่ไหว แต่ Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ก็ต้องเห็นภาพเศรษฐกิจที่หดตัวลงมาก่อน ซึ่งอาจเห็นการเติบโตของ GDP ติดลบสัก 1 ไตรมาส”

 

ความเสี่ยง Recession ของสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 25%

 

นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ได้เพิ่มความน่าจะเป็นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ในปีหน้าเป็น 25% จาก 15% แต่ยังเชื่อว่ามีเหตุผลหลายประการที่นักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แม้ว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นก็ตาม

 

“เรายังคงมองว่าความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีจำกัด” นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs นำโดย Jan Hatzius กล่าวในรายงาน

 

เศรษฐกิจโดยรวมยังคงดูดีและไม่มีปัญหาความไม่สมดุลทางการเงินที่สำคัญ และ Fed มีช่องว่างมากมายในการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสามารถทำได้อย่างรวดเร็วหากจำเป็น

 

ทั้งนี้ Goldman Sachs คาดว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งละ 0.25% ในเดือนกันยายน พฤศจิกายน และธันวาคม

 

หุ้นไทยอาจ Outperform

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยที่ Underperform ตลาดหุ้นโลกมาต่อเนื่อง มีโอกาสที่จะกลับไป Outperform เพราะความรุนแรงในการลงน่าจะน้อยกว่า โดยเฉพาะหลังจากที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยต่อเนื่องไปหลายแสนล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่อาจเป็นกับดักทางนโยบาย (Policy Trap) ซึ่งทำให้หุ้นไทยไม่น่าดึงดูดแม้หุ้นโลกกำลังปรับฐาน

 

ประกิตกล่าวว่า “ส่วนตัวมองว่าดิจิทัลวอลเล็ตไม่น่าจะเบิกจ่ายได้ทันภายในปลายปีนี้ เพราะติดเรื่องระบบ การลงทะเบียนเป็นแค่การเช็กชื่อว่าจะมีใครบ้าง และเงินที่ต้องใช้จะไม่เกิน 4.5 แสนล้านบาท แต่หลังจากนั้นจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเดือนตุลาคม แต่ปัจจุบันระบบที่ใช้เบิกจ่ายยังไม่พร้อม ยังอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบเท่านั้น”

 

ทั้งนี้ ดัชนี SET ในวันนี้ลดลงเกือบ 3% หรือเกือบ 40 จุด ไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,273.17 จุด ทำจุดต่ำสุดใหม่อีกครั้ง และเป็นจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising