×

เยอรมนีเตรียมให้ประชาชนใช้รถสาธารณะฟรี หวังลดปริมาณรถส่วนตัวและมลพิษ

17.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ประเทศเยอรมนีเพิ่งออกมาพูดถึงนโยบายการให้ใช้รถสาธารณะฟรี ซึ่งเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นมาเพื่อ ‘ต่อสู้กับปริมาณมลภาวะทางอากาศ’ เนื่องจากเยอรมนีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสูงสุดในปัจจุบัน โดยจะนำร่องที่ห้าเมืองในฝั่งตะวันตกของเยอรมนี
  • ในขณะที่ สเตฟเฟน เซเบอร์ (Steffen Seiber) โฆษกของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศเยอรมนีที่ออกมาแสดงท่าทีว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่จะช่วยให้เยอรมนีไม่ต้องเสียค่าปรับเรื่องมลภาวะทางอากาศแก่สหภาพยุโรป

ในขณะที่ประเทศไทยของเรามีมูลค่าการใช้จ่ายในการใช้รถสาธารณะแพงที่สุดราวๆ  118 บาทต่อเที่ยว (จากหมอชิต-บางหว้า) และมีท่าจะเรียกเก็บค่าโดยสารเพิ่มในอนาคต อันสวนทางกับบริการที่ผู้ใช้ได้รับ แต่กับชาวเยอรมันแล้ว พวกเขากำลังจะทำให้ค่าโดยสารรถสาธารณะกลายเป็นศูนย์ เนื่องจากวางแผนจะปล่อยโครงการนำร่องในการ ‘ไม่เรียกเก็บ’ ค่าโดยสารเพื่อหวังให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และเพื่อลดปริมาณมลพิษในอากาศ

 

แต่ดูเหมือนพวกเขาจะไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงแค่นั้น หลังจากสำนักข่าวอย่าง The Local Germany ในเยอรมนีได้ปล่อยบทความสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ก่อนจะพบว่านโยบายที่ว่าอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องใหญ่ระดับยุโรป อย่างการที่เยอรมนีอาจถูกบังคับใช้ข้อกฎหมายจากสหภาพยุโรปที่ว่าด้วยเรื่องปริมาณมลพิษที่เกินกว่าสหภาพกำหนด

 

Photo: The Local Germany

 

ใช้รถสาธารณะฟรีเพื่อลดมลพิษ

“เรากำลังพิจารณาการขนส่งสาธารณะที่ ‘ไม่เสียค่าใช้จ่าย’ ให้กับประชาชนเพื่อลดปริมาณรถยนต์ส่วนตัวบนท้องถนน”

 

นี่คือถ้อยความมติร่วมของสามรัฐมนตรีของประเทศเยอรมนีและหนึ่งในนั้นคือนางสาวบาร์บารา เฮนดริกส์ (Barbara Hendricks) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมที่ยื่นข้อความนี้ไปยังนายคาร์เมนู เวลลา (Karmenu Vella) หนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมาธิการยุโรปที่ดูแลทางด้านสิ่งแวดล้อมและการประมงโดยเฉพาะ เธอกล่าวเสริมเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกว่าเป็นนโยบายที่ก่อร่างขึ้นมาเพื่อ ‘ต่อสู้กับปริมาณมลภาวะทางอากาศ’ และจะไม่สามารถล่าช้าได้อีกแล้ว เนื่องจากเยอรมนีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสูงสุด

 

คงไม่ล่าช้าอย่างที่ว่าจริงๆ เพราะโครงการนี้จะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริงๆ ‘ภายในปี 2018 นี้’ โดยจะนำร่องที่ห้าเมืองในฝั่งตะวันตกของประเทศก่อน ทั้งเมืองหลวงเก่าอย่างเมืองบอนน์ (Bonn) เมืองฮาร์เรนเบิร์ก (Herrenberg) เมืองรอยต์ลิงเงิน (Reutlingen) และสองเมืองเขตอุตสาหกรรมอย่างเอสเซน (Essen) และเมืองแมนไฮม์ (Mannheim)

 

มลพิษที่ส่งผลต่อประชากรและชาติ

ไม่น่าเชื่อว่าจากรายงานของคณะกรรมาธิการยุโรปเกี่ยวกับมลพิษที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปพบว่า มลพิษในอากาศส่งผลกับเมืองกว่า 130 เมืองในยุโรป มีประชากรราว 400,000 คนเสียชีวิตจากโรคที่ก่อเกิดจากมลพิษ และสหภาพยุโรปต้องเสียค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของประชากรราว 20,000 ล้านยูโรหรือราว 783,000 ล้านบาทไทยต่อปี และความสำคัญของตัวเลขนี้ คือส่วนหนึ่งที่จะทำให้สหภาพยุโรปสามารถใช้ข้อกำหนดตามกฎหมายทางด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพ เรียกค่าปรับกับสมาชิกสหภาพที่ไม่สามารถควบคุมปริมาณมลพิษในอากาศได้ และเรื่องการควบคุมคุณภาพอากาศก็กลายมาเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เมืองหลวงของเยอรมนีอย่างเบอร์ลินนำเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน

 

โครงการนำร่องที่ไร้รูปธรรม

ทางด้าน สเตฟาน แกเบรียล ฮอฟ (Stephan Gabriel Haufe) โฆษกประจำกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเยอรมนีได้กล่าวกับนักข่าวท้องถิ่นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “เป็นเรื่องที่เทศบาลต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าจะทำหรือไม่ทำ และถ้าจะทำ พวกเขาต้องหาแนวทางในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายตรงนี้ และมาดูความเป็นไปได้ร่วมกัน และในขณะที่รัฐบาลได้ออกมาบอกว่าจะลองทดลองโครงการดังกล่าวในห้าเมืองที่ว่า แต่ในบรรดาเมืองทั้งห้าที่กล่าวมากลับยังไม่มีแผนหรือการพิจารณาความเป็นไปได้อะไรเลย”

 

และถึงแม้จะยังไม่มีนโยบายอย่างเป็นรูปเป็นร่าง แต่พวกเขาก็ลองหาหนทางอื่นเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขทดแทน เช่น อาจจะมีการนำร่องโครงการแชร์รถ ทางเดียวกันไปด้วยกัน (คุ้นๆ ไหม?) หรืออย่างการลดปริมาณการปล่อยมลพิษของรถสาธารณะอย่างรถเมล์หรือรถแท็กซี่ และอาจมีการจัดตั้งโซนมลพิษต่ำภายในเมือง

 

นอกจากนี้อีกประเด็นที่น่าสนใจนั้นหลุดออกมาจากปากของ สเตฟเฟน เซเบอร์ (Steffen Seiber) โฆษกของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศเยอรมนีที่ออกมาแสดงท่าทีว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่จะช่วยให้ประเทศเยอรมนีไม่ต้องเสียค่าปรับเรื่องมลภาวะทางอากาศแก่สหภาพยุโรป “เราอยู่ในระหว่างการเจรจากับคณะกรรมาธิการยุโรป โดยพวกเขาขอให้เราตรวจสอบรายการมาตรการต่างๆ ที่จะสามารถลดปริมาณมลพิษในอากาศ และการเสนอให้ใช้รถโดยสารประจำทางโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คือสิ่งที่เรามอบให้พวกเขา”

 

ถึงแม้ว่าโครงการดังกล่าวจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่ท่าทีของรัฐบาลเมืองเบียร์เกี่ยวกับเรื่องมลภาวะทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อทั้งประชากรและประเทศนั้น ก็นับว่าเป็นหนทางการแก้ไขที่น่าสนใจ และคาดหวังว่าโครงการดังกล่าวจะถูกนำมาใช้จริงในเร็ววัน เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกไปในที

 

ว่าแต่คุณสำรองผ้าปิดฝุ่น PM2.5 กันไว้เพียงพอหรือยัง?

 

Photo: The Local Germany

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising