×

เลือกตั้งเยอรมนี 2017 อังเกลา แมร์เคิลจะได้สมัยที่ 4 ไหม

18.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การเลือกตั้งของเยอรมนีในวันที่ 24 กันยายน 2017 คือการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของเยอรมนีตั้งแต่มีนโยบายเปิดรับผู้อพยพ
  • แม้ว่าที่ผ่านมาความนิยมในตัว อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) จะถูกกระทบจากนโยบายช่วยเหลือทางการเงินต่อประเทศอื่นในช่วงวิกฤตหนี้ยุโรป และการทะลักของผู้ลี้ภัย แต่ผลสำรวจคะแนนความนิยมในช่วงก่อนเลือกตั้งพบว่า พรรค CDU ของเธอยังได้รับคะแนนนิยมเป็นอันดับหนึ่ง
  • พรรคขวาจัดอย่างพรรค AfD มีโอกาสจะได้ที่นั่งในสภาเป็นครั้งแรกตั้งแต่ความพ่ายแพ้ของพรรคนาซีในปี 1945

     การเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 กันยายนนี้ คือการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปครั้งที่ 4 ในปี 2017 ตามหลังเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร การเลือกตั้งข้างต้นทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากผลประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2016

     ตลอดปีที่ผ่านมา ทั่วโลกจึงจับตาดูว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศในการเลือกตั้งเหล่านี้บ้าง เพราะนโยบายต่างประเทศของพวกเขาย่อมกำหนดหน้าตาของสหภาพยุโรปในอนาคต

     ก่อนหน้านี้แม้ว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองฝ่ายขวาจัดจะได้รับความนิยมกว่าในอดีตในช่วงระหว่างการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

     ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีครั้งนี้ คือการเลือกตั้งทั่วไปที่ประชาชนจะได้ตัดสินใจเป็นครั้งแรกตั้งแต่เยอรมนีมีนโยบายเปิดรับผู้อพยพ ที่ทำให้เยอรมนีมีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเข้าประเทศหลักล้านคน จนนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) เองถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในประเทศและในภูมิภาคเป็นวงกว้าง

     นอกจากนี้เยอรมนียังเป็นประเทศที่ให้เงินช่วยเหลือสมาชิกสหภาพยุโรปบางประเทศในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเป็นจำนวนเงินหลักพันล้านยูโร เป็นประเทศที่สนับสนุนการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างชัดเจนในวิกฤตไครเมีย และยังเป็นประเทศที่ตัดสินใจยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมดและหันไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นแทนในปี 2020

 

 

Angela Merkel VS. Martin Schulz คู่แข่งในการเลือกตั้งเยอรมนีครั้งนี้

     คู่แข่งสำคัญของการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีครั้งนี้คือ นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล จากพรรค Christian Democratic Union of Germany (CDU) พรรคฝ่ายขวากลางของเยอรมนี และ มาร์ติน ชูลซ์ (Martin Schultz) จากพรรค Social Democratic Party of Germany (SPD) พรรคฝ่ายซ้ายกลางของเยอรมนี

     นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ลงสมัครการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสมัยที่ 4 โดยกฎหมายเยอรมนีไม่มีการจำกัดสมัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเธอเป็นผู้นำประเทศนี้มาแล้ว 12 ปี

     ด้าน มาร์ติน ชูลซ์ คืออดีตประธานสภาสหภาพยุโรปที่ถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย ตั้งแต่ปี 2012-2017 โดยปลายปี 2016 เขาตัดสินใจประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี

     โพลสำรวจคะแนนนิยมของแต่ละพรรคในช่วงที่ผ่านมาล้วนออกมาในทิศทางเดียวกันว่า พรรค CDU ของนายกรัฐมนตรีมีคะแนนนิยมนำพรรค SPD ของมาร์ติน ชูลซ์

     ขณะที่โพลสำรวจล่าสุดของ ARD-DeutschlandTrend เปิดเผยว่า พรรค SPD มีคะแนนต่ำกว่าพรรค CDU ถึง 17%

 

พรรคฝ่ายขวาที่อาจเข้าไปนั่งในสภาได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

     พรรค Alternative for Germany (AfD) คือพรรคที่มีแนวความคิดขวาจัดที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2013 โดยพรรค AfD พยายามสร้างกระแสต่อต้านผู้อพยพและสกุลเงินยูโรในช่วงที่เยอรมนีเผชิญกับการทะลักของผู้อพยพและวิกฤตหนี้ยุโรป จนในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรค AfD ได้รับคะแนนนิยมในโพลสำรวจเป็นอันดับ 3

     โดยในโพลสำรวจส่วนใหญ่ พรรค AfD ได้คะแนนนิยมอยู่ระหว่าง 8-11% ซึ่งในกฎหมายเยอรมนีระบุว่า หากพรรคการเมืองสามารถได้คะแนนเท่ากับหรือมากกว่า 5% ของคะแนนทั้งหมดในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (Party List) จะได้รับการจัดสรรที่นั่งในสภาให้ด้วย ซึ่งหมายความว่า หากผลคะแนนของพรรค AfD ออกมาสอดคล้องกับโพลสำรวจ สมาชิกพรรค AfD จะมีที่นั่งในสภาเป็นครั้งแรกตั้งแต่ความพ่ายแพ้ของพรรคนาซีในสงครามโลกครั้งที่สอง

     อย่างไรก็ตามผลสำรวจของ R+V Insurance ที่สำรวจความคิดเห็นของชาวเยอรมันถึงปัจจัยที่พวกเขากลัวที่สุดพบว่า สิ่งที่พวกเขากลัวที่สุดคือ การก่อการร้าย (77%) แต่สิ่งที่พวกเขากลัวเป็นอันดับสองคือ ความคิดทางการเมืองแบบสุดโต่ง (62%) ซึ่งสะท้อนว่าแม้พวกเขาจะหวาดกลัวการก่อการร้าย แต่ชาวเยอรมันส่วนใหญ่ยังกลัวแนวความคิดทางการเมืองที่ต่อต้านสิ่งใดสิ่งหนึ่งแบบสุดโต่งเช่นกัน

 

 

นโยบายของผู้สมัครคนสำคัญที่ยังสนับสนุนอียู/การอพยพ ที่ทำให้การเลือกตั้งเยอรมนีไม่ต้องลุ้นมากนัก

 

  1. จุดยืนของแต่ละพรรคต่อสหภาพยุโรป

     เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปของฝรั่งเศส การเลือกตั้งของเยอรมนีกลับได้รับความสนใจจากคนข้างนอกน้อยกว่าที่คิด ทั้งๆ ที่ผลการเลือกตั้งของเยอรมนีจะมีผลต่อทิศทางของสหภาพยุโรปอย่างมากเช่นกัน

     ปัจจัยแรกคือจุดยืนต่อสหภาพยุโรปของผู้ชิงสมัครตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนสำคัญอย่าง อังเกลา แมร์เคิล และ มาร์ติน ชูลซ์ นั้น ต่างสนับสนุนสหภาพยุโรปเหมือนกัน ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีไม่ได้แบ่งแยกอย่างเห็นชัดเช่นในการเลือกตั้งอื่นๆ ของยุโรป โดยทั้งสองพรรคการเมือง ทั้ง CDU และ SPD ต่างสนับสนุนให้ปฏิรูปสหภาพยุโรปเพี่อความร่วมมือที่ดีขึ้น และแม้ว่าที่ผ่านมาเยอรมนีจะให้การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกับบางประเทศในยุโรปในช่วงวิกฤตหนี้ยุโรป เช่น กรีซ จนชาวเยอรมันบางส่วนเริ่มไม่พอใจกับการที่รัฐนำภาษีประชาชนไปช่วยเหลือประเทศอื่น แต่ทั้งสองพรรคยังมีนโยบายต้องการช่วยเหลือประเทศอื่นอยู่ แต่อาจต้องปฏิรูปวิธีการช่วยเหลือ

     อย่างเช่น อังเกลา แมร์เคิล สนับสนุนให้มีการก่อตั้ง European Monetary Fund เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรร่วมกัน ขณะที่พรรค SDP ของ มาร์ติน ชูลซ์ นั้นต้องการให้ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร (Eurozone Countries) มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องและร่วมมือกันมากขึ้น

     ในทางตรงกันข้ามมีพรรค Free Democratic Party (FDP) ที่สนับสนุนให้สหภาพยุโรปยกเลิกการช่วยเหลือทางการเงิน (No Bailout) และสนับสนุนให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาให้ประเทศที่ปัจจุบันใช้เงินยูโรสามารถยกเลิกใช้สกุลเงินยูโรได้อย่างมีขั้นตอน ขณะที่พรรคฝ่ายขวาจัดอย่าง AfD ต้องการให้เยอรมนียกเลิกใช้เงินสกุลเงินยูโรและหยุดให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศอื่น แต่ผลสำรวจคะแนนความนิยมของทั้งสองพรรคนี้รวมกันแล้วยังน้อยกว่าคะแนนของพรรค CDU และ SPD

 

  1. จุดยืนของแต่ละพรรคต่อเรื่องนโยบายผู้อพยพ

     ปัจจัยที่สองคือ นโยบายของแต่ละพรรคต่อเรื่องผู้อพยพนั้นไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของเยอรมนีตั้งแต่เจอกับวิกฤตการทะลักของผู้ลี้ภัย จนนโยบายต่อผู้อพยพนั้นถูกจับตามองในตอนแรกว่าแต่ละพรรคจะออกมามีจุดยืนเช่นไร เพราะนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลเอง ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งในและนอกประเทศว่ามีส่วนในการทะลักของผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้น แต่ปรากฏว่าพรรคส่วนใหญ่ยังต้องการให้กฎการขอสถานะผู้ลี้ภัยนั้นคงเดิม เพียงแต่จะต้องมีการกระจายผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สามมากขึ้น นอกจากนี้พรรค SPD และพรรค FDP ยังต้องการรับแรงงานทักษะที่ไม่ใช่ชาวยุโรปมากขึ้น มีเพียงแต่พรรค AfD ที่ต้องการจำกัดจำนวนคนเข้าประเทศที่ 200,000 คนต่อปี

 

นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 หรือไม่

     ที่ผ่านมา อังเกลา แมร์เคิล ประสบความสำเร็จในการมีจุดยืนตรงกลางระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายเสรีนิยม ทำให้เธอได้รับคะแนนจากทั้งสองฝ่ายมาโดยตลอด (เช่น การสนับสนุนการแต่งงานเพศเดียวกัน)

     และครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่พรรค CDU ของเธอมีคะแนนนำในโพลสำรวจมาโดยตลอด จนหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าพรรคของเธอจะได้ที่นั่งมากที่สุดอีกครั้งเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน แต่ยังคงต้องจับตามองว่าพรรคของเธอนั้นจะได้เสียงข้างมากหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 3 สมัยของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลนั้นเป็นรัฐบาลพรรคร่วมมาโดยตลอด จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเมืองเยอรมนี และถ้าพรรค CDU สามารถร่วมกับพรรคอื่นเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน

     โอกาสเสี่ยงต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพรรค SPD ที่มีคะแนนความนิยมมาเป็นอันดับ 2 ตัดสินใจรวมกับพรรค Linke และพรรค Gruene เพื่อจัดตั้งรัฐบาลแทน

     แม้ว่าในสมัยการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล จะถูกท้าทายด้วยปัจจัยนอกประเทศทั้งผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ หรือวิกฤตหนี้ในภูมิภาค จนประชาชนมีความคิดเห็นต่อจุดยืนของเธอที่แตกต่างกันไป แต่ผลสำรวจกลับแสดงว่า นโยบายการรับผู้อพยพไม่กระทบต่อความนิยมในตัวเธอมากตามที่คาดการณ์ และจากจุดยืนต่อเรื่องต่างประเทศของสองพรรคใหญ่ที่ไม่แตกต่างกันมาก ทำให้การเลือกตั้งของเยอรมนีไม่แบ่งแยกเห็นชัดดังที่เห็นในการเลือกตั้งที่ผ่านมาในยุโรป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising