เรามักจะได้ยินคำพูดจากพนักงานรุ่นซีเนียร์ว่าเด็กยุคใหม่ ‘ไม่ทนงาน’ นิดหน่อยก็ลาออก แต่ผลวิจัยใหม่ชี้ว่า ชาว Gen Z และ Millennials ยอมที่จะ ‘ลาออก’ หรือกลายเป็นคน ‘ว่างงาน’ หากต้องทำงานในบริษัทที่ ‘ไม่มีความสุข’
ตามรายงาน Randstad Workmonitor ปี 2022 ซึ่งสำรวจพนักงาน 35,000 คนใน 34 ตลาด แสดงให้เห็นทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในที่ทำงาน
สิ่งที่น่าสนใจคือ พนักงานมากกว่าครึ่ง (56%) ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Gen Z กล่าวว่าพวกเขาจะลาออกจากงานที่ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ผลสำรวจยังบอกอีกว่า 40% ของกลุ่มประชากรนี้กล่าวว่าพวกเขาจะ ‘ยอมว่างงานมากกว่าทำงานที่พวกเขาไม่ชอบและทำให้ไม่มีความสุข’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- The Great Resignation อภิมหาการลาออก เมื่อมนุษย์เงินเดือนต้องการชีวิตคืน
- ผู้นำต้องเปลี่ยนองค์กรอย่างไรภายใต้ความท้าทายมหาศาลของภูมิทัศน์โลกที่เปลี่ยนแปลง
- ‘5 สัญญาณ’ เตือนภัยที่ทำงานเป็นพิษ ต้นเหตุพนักงานฝีมือดีลาออกแม้ได้ค่าจ้างแพง
คนรุ่นใหม่ไม่เพียงแต่ยอมจ่ายเพื่อความสมดุลในการทำงาน ชีวิต และความสำเร็จส่วนตัวเท่านั้น แต่ 40% ของผู้ตอบแบบสำรวจ Gen Z และ Millennials กล่าวว่าพวกเขาลาออกจากงานเพราะไม่เข้ากับชีวิตส่วนตัวของพวกเขา เมื่อเทียบกับ 33% ของผู้ตอบแบบสำรวจโดยรวม
ผลการศึกษายังได้สรุปลำดับความสำคัญในการทำงาน 5 อันดับแรกสำหรับพนักงาน โดยเน้นที่สิ่งที่จะช่วยให้นายจ้างดึงดูดและรักษาพนักงาน Gen Z (อายุ 18-24 ปี) และ Millennials (อายุ 25-34 ปี) ไว้ได้ ได้แก่
- ไลฟ์สไตล์และความสุข: พวกเขาแสวงหา ‘ประสบการณ์การทำงานที่เติมเต็ม’ หรือทัศนคติของบริษัทที่ช่วยให้พวกเขาทำงานได้พอดีกับชีวิตส่วนตัวของพวกเขา 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจ Gen Z กล่าวว่างานมีความสำคัญต่อชีวิตของพวกเขา ในขณะที่มีเพียง 68% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่มีอายุมากกว่าเท่านั้นที่ตอบแบบเดียวกัน
- ค่านิยมที่ตรงกัน: ในบรรดากลุ่มประชากรทั้งหมด 43% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขาจะไม่ทำงานร่วมบริษัท หากค่านิยมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรไม่สอดคล้องกับค่านิยมของตนเอง ในทำนองเดียวกัน 41% กล่าวว่าพวกเขาจะไม่ทำงานในบริษัทที่ไม่ส่งเสริมความหลากหลาย
- การเพิ่มขีดความสามารถของพนักงาน: แม้ว่าการฝึกอบรมงานและการพัฒนาตนเองมีความสำคัญ แต่พนักงานยังคงแสวงหาสิ่งจูงใจและผลประโยชน์ทางการเงินที่เหมาะสม ภายในปีที่ผ่านมาจากการสำรวจพบว่ามีพนักงานเพียง 22% เท่านั้นที่กล่าวว่าพวกเขาได้รับผลประโยชน์ที่ดีขึ้น เช่น เวลาหยุดทำงานมากขึ้น การดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น หรือการเข้าถึงผลประโยชน์การเกษียณอายุที่ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน 33% กล่าวว่าพวกเขาได้รับเงินเพิ่ม การฝึกอบรม หรือข้อเสนอในการพัฒนาตัวเอง
- ความยืดหยุ่นของงาน: จากการสำรวจพนักงานเกือบ 75% กล่าวว่าสถานที่ทำงานที่ยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญ ในขณะที่ 83% กล่าวว่าชั่วโมงที่ยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามมีเพียงประมาณ 1 ใน 4 ของนายจ้างที่ให้ความสำคัญกับทั้ง 2 เรื่องนี้
- การพัฒนาตนเองและการพัฒนาทางวิชาชีพ: เช่นเดียวกับที่พนักงานต้องการทำงานให้สอดคล้องกับค่านิยมและรูปแบบการใช้ชีวิต พวกเขาก็คาดหวังว่าสถานที่ทำงานจะส่งเสริมและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาของตน 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามจากทุกกลุ่มอายุกล่าวว่า พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในโปรแกรมการเรียนรู้และพัฒนาหากองค์กรของพวกเขาเสนอให้
ขณะที่ 60% กล่าวว่าพวกเขาต้องการเวิร์กช็อปหรือการศึกษาเกี่ยวกับวิธีหารายได้มากขึ้น นอกจากนี้พวกเขายังต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการบรรลุความสมดุลในการทำงาน / ชีวิตที่ดีขึ้น และ 40% ต้องการเรียนรู้วิธีก้าวหน้าในอาชีพการงานของพวกเขา อย่างไรก็ตามมีพนักงานเพียง 25% ที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าพวกเขาได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาในที่ทำงาน
การศึกษาชี้ให้เห็นช่องว่างมากมายระหว่างสิ่งที่พนักงานในปัจจุบันต้องการกับสิ่งที่นายจ้างมอบให้ เพื่อต่อสู้กับผลกระทบของการลาออกครั้งใหญ่ นายจ้างจำเป็นต้องมุ่งเน้นมากกว่าแค่ค่าจ้างที่แข่งขันได้และผลประโยชน์ของพนักงาน แต่ส่งมอบสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริงให้กับคนรุ่นใหม่
อ้างอิง: