×

ทำงานไม่หยุด เพราะ ‘คิดว่าไม่มีใครแทนตัวเองได้’ งานวิจัยค้นพบ นี่แหละสาเหตุหลักที่คน Gen Y หยุดทำงานไม่ได้สักที!

07.10.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ชาว Gen Y เป็นเจนเนอเรชันแห่งความครีเอทีฟ เปิดรับไอเดียใหม่ๆ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง รับฟังความเห็น ปรับตัวได้ และให้ความสำคัญกับเรื่องของแพสชันและความสุข แต่ในอีกด้านก็ถูกมองว่าเป็นเจนที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง ความอดทนต่ำ มั่นใจเกินไป และไม่ชอบอยู่ในกรอบ
  • Gen Y มีนิสัยประเภททำงานเป็นบ้าเป็นหลัง (Workaholic) หรือที่เรียกว่า ‘สายพลีชีพ’ ซะยิ่งกว่าเจน ก่อนหน้าซะอีก หนำซ้ำคนเจนนี้ยังมีแนวโน้มต่ำที่จะใช้วันหยุดไปกับการพักผ่อน
  • มีการนิยามว่าชาว Gen Y มีลักษณะ…ถ้าจะพูดให้ซอฟต์ คือมีคุณลักษณะที่แตกต่างกับเจนก่อน คือ ‘สำคัญตน’ แต่หากใช้คำตามต้นฉบับ คือมีอาการ ‘หลงตัวเอง’ (Narcissism) อย่างไม่รู้ตัว
  • ข้อมูลจาก P: TO ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าการสละวันหยุดที่ควรได้รับนอกจากไม่ได้ส่งผลดีแล้ว ยังจะส่งผลเสียในระยะยาวอีกด้วย เนื่องมาจากการที่มนุษย์มีลิมิตทางด้านอารมณ์และความรู้สึก และสายพลีชีพเพื่องานมีแนวโน้มจะเครียดทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ส่งผลให้พวกแฮปปี้กับบริษัทและอาชีพการงานที่กำลังทำอยู่น้อยลง

ชาว Gen Y หรือชาว Millennials คือคำที่ใช้เรียกคนที่เกิดในปีช่วงกลางปี 1980 ถึงกลางปี 1990 ที่มักเป็นลูกหลานชาว Gen X และ Baby Boomers และจากข้อมูลของเว็บไซต์ World Economic Forum เผยว่าในปีที่ผ่านมา Millennials มีสัดส่วนมากถึง 23% ของโลกหรือ 1.8 พันล้านคนจากทั้งหมดเกือบ 8 พันล้าน โดยทวีปที่มีคน Gen Y มากที่สุดคือทวีปเอเชียที่มีมากถึง 1.1 พันล้านคน

 

คน Gen Y นี้เกิดในยุคเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล และถูกนิยามโดยทั่วไปว่าเป็นเจนแห่งความครีเอทีฟ เปิดรับไอเดียใหม่ๆ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง รับฟังความเห็น ปรับตัวได้ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เก่งเทคโนโลยี และให้ความสำคัญกับเรื่องของแพสชันและความสุข แต่ในอีกด้านก็ถูกมองว่าเป็นเจนที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง ความอดทนต่ำ มั่นใจเกินไป และไม่ชอบอยู่ในกรอบ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ในเรื่องคุณสมบัติด้านการทำงาน บางวัฒนธรรมทั้งวัฒนธรรมระดับประเทศและระดับองค์กรจะมองว่าคุณสมบัติที่ให้ค่ากับความสุขจะส่งผลให้ชาว Millennials นั้นเปลี่ยนงานบ่อย ย้ายงานง่าย หรืออยู่ไม่ถึกทน ทำให้ถูกมองและถูกนิยามด้วยศัพท์ที่เป็นที่นิยมในขณะนี้อย่าง Job Hopper หรือคนจำพวกทำงานไม่นานก็ตัดสินใจลาออก ควบคู่กับ Gen Z 

 

แต่จากผลสำรวจของ Project: Time Off หรือ P: TO และสถิติที่มาจากการเก็บข้อมูลกับลูกจ้าง/พนักงาน Gen Y จำนวน 5,000 คน ได้ข้อสรุปว่าชาว Millennials นี่แหละที่มีนิสัยประเภททำงานเป็นบ้าเป็นหลัง (Workaholic) หรือที่เรียกว่า ‘สายพลีชีพ’ ซะยิ่งกว่าเจนก่อนหน้าซะอีก หนำซ้ำคนเจนนี้ยังมีแนวโน้มต่ำที่จะใช้วันหยุดไปกับการพักผ่อน และมีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับ 4 ประโยคที่ใช้วัด ‘ความพลีชีพเพื่องาน’ ดังต่อไปนี้

 

  1. ถ้าฉันไม่อยู่ ไม่มีใครมาทำงานนี้แทนฉันได้
  2. ฉันต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่าฉันอุทิศตนให้กับบริษัทที่ฉันรักและงานที่ฉันทำแค่ไหน
  3. ฉันไม่ต้องการให้คนอื่นมามองว่าคนอื่นสามารถแทนที่ฉันได้
  4. ฉันรู้สึกผิดถ้าจะต้องลางานไปทำอย่างอื่น

 

หามรุ่งหามค่ำ ไม่เว้นแม้วันหยุด ‘ฉันเองคือ Millennials’

ผลสำรวจเผยว่า 48% ของชาว Millennials ต้องการให้เจ้านายของตนมองตัวเองว่าเป็นเช่นนั้น (ฉันรักงานที่สุดในโลก) ในขณะที่ Gen X จะอยู่ที่ 39% และ Baby Boomers อยู่ที่ 32% ส่วนความต้องการในการให้เพื่อนร่วมงานมองว่าตนเป็นพวกทุ่มเทพลีชีพให้กับงาน อัตราส่วนของ Gen Y ก็ยังสูงถึง 35% ในขณะที่ของ Gen X และ Baby Boomers อยู่ที่ 26% และ 20% ตามลำดับ

 

สถิติยังเผยอีกว่าชาว Millennials มีแนวโน้มที่จะยอมทิ้งโควตาวันหยุดไปเปล่าๆ มากกว่าเจนอื่น ในสัดส่วน 24% ในขณะที่ Gen X 19% และ Baby Boomers 17% ซึ่งที่เป็นเช่นนี้มีสาเหตุด้วยกันสองส่วน ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการเต็มที่กับงาน อีกส่วนมาจากการมีศักดิ์เป็นพนักงานระดับจูเนียร์ของทั้งสองเจน ที่ทำให้ความรับผิดชอบและความทุ่มเทจะต้องเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย 

 

จึงไม่แปลกนักที่เมื่อ P: TO เก็บข้อมูลมาจาก Alamo Rent a Car เว็บไซต์ศูนย์เช่ารถสหรัฐอเมริกา ก็ได้พบว่าคน Gen Y มักจะเกิดความรู้สึกที่เรียกว่า ‘ละอายต่อการใช้วันหยุด’ (Vacation Shame) ที่นอกจากเป็นความรู้สึกส่วนตัวแล้วยังมีความเป็นวัฒนธรรมอีกด้วย

 

 

จากสถิติที่รวบรวมจากเว็บไซต์ดังกล่าว คน Gen Y วัยกำลังเผชิญวิกฤตวัยหนึ่งส่วนสี่ของชีวิต หรือผู้มีอายุอยู่ในช่วงเลข 2 ขึ้นต้นที่เรียกว่า Quarter-Life Crisis มากถึง 59% จะรู้สึกละอายที่ตัวเองวางแผนหรือตัดสินใจใช้วันหยุดกว่าผู้อยู่ในวัย 35 หรือมากกว่านั้นอีกรวม 41% ที่เหลือ

 

อีกหนึ่งเรื่องที่ชวนประหลาดใจไม่น้อยคือชาว Millennials ถึง 2 เท่ามีแนวโน้มจะล้อเลียนเพื่อนร่วมงานที่ใช้วันหยุด จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมการยัดเยียดความน่าละอายขึ้นในหมู่ Millennials กันเอง เพราะ 42% ยอมรับว่าตัวเองทำ/มองเช่นนั้นจริงๆ และ 4 จาก 10 ของทั้งหมดค่อนข้างจะจริงจัง ไม่ล้อเล่นกับการล้อเลียนนี้ ในขณะที่ 2 จาก 10 ของผู้อายุมากกว่าเป็นการเยาะเย้ยขำกันกว่า

 

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ Millennials เป็นประชากรถึงครึ่งหนึ่งของแรงงาน/พนักงานทั้งโลกขณะนี้ และ 1 ใน 4 ของ Millennials มีหน้าที่การงานอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการ ทำให้ค่านิยมของการไม่ให้ค่าวันหยุดเป็นที่นิยมไปโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการ Gen Y หลายคนไม่กล้ามีวันหยุดหรืออนุญาตให้พนักงานลูกจ้างหยุด เพราะความกดดันอีกต่อจากบริษัท 

 

และยิ่งเรื่องนี้ยิ่งชัดขึ้นเมื่อ 3 ใน 4 ของผู้มีอายุมากกว่าในแบบสำรวจมีแนวโน้มที่จะประนีประนอมกว่า

 

เหตุใดชาว Millennials ถึงเข้มข้นกับการทำงานถึงเพียงนี้?

ไม่รู้ว่าเมื่อไรที่การปฏิเสธที่จะใช้วันหยุดหรือการทำงานหนักกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ในเมื่อเป็นไปแล้วก็พอมีทฤษฎีวิเคราะห์ที่น่าสนใจอยู่บ้าง Sarah Green Carmichael ผู้เขียนบทความ ‘Millennials Are Actually Workaholics, According to Research’ ได้ทำการสังเกตคนหนุ่มสาวปัจจุบันและนำไปเทียบกับคนหนุ่มสาวในยุคอดีต สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองวัยคือมีความคิดที่ว่า ‘ฉันเป็นบุคคลสำคัญ’

 

แต่ที่ต่างกันคือปริมาณของสัดส่วน เพราะบทความที่เขียนโดย Chamorro-Premuzic บนเว็บไซต์ The Guardian ระบุว่าในปี 1950 มีนักเรียนไฮสคูล 12% คิดว่าตัวเองเป็นบุคคลสำคัญ ในขณะที่ 1990 ตัวเลขของวัยรุ่นไฮสคูลที่คิดแบบนี้พุ่งสูงถึง 80% เลยทีเดียว

 

Sarah จึงนิยามว่าชาว Millennials มีลักษณะ…ถ้าจะพูดให้ซอฟต์คือมีคุณลักษณะที่แตกต่างกับเจนก่อนคือ ‘สำคัญตน’ แต่หากใช้คำตามต้นฉบับ คือมีอาการ ‘หลงตัวเอง’ (Narcissism) อย่างไม่รู้ตัว ในขณะที่ Chamorro-Premuzic ก็สนับสนุนทฤษฎีนี้ด้วยการอธิบายต่อว่า ความ Gen Y อาจเกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกใบนี้ ใครก็มาแทนไม่ได้ และไม่มีใครสามารถทำสิ่งที่พวกเขาทำได้ หรือต้องการถูกมองว่าไม่สามารถปล่อยให้หลุดมือได้ (อย่างน้อยๆ ก็ในสายตาเจ้านาย)

 

ทางด้าน Katie Denis โปรเจกต์ไดเรกเตอร์ของ P: TO มองว่า ‘โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต’ เองก็มีส่วนเป็นอย่างมากสำหรับเจเนอเรชันที่เกิดมาก้ำกึ่งและเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของการเชื่อมต่อนี้ จึงอาจไม่ชินกับความรู้สึกลุกออกจากที่ทำงานแล้วตัดขาดจากงานอย่างสิ้นเชิงด้วยความห่างไกลจากสถานที่และคำสั่งคำร้องขออย่างที่คนในอดีตเคยได้สัมผัส

 

และยังวิเคราะห์ว่า ‘เศรษฐกิจ’ เองก็มีส่วนไม่น้อยที่ทำให้ชาว Millennials ต้องปฏิเสธที่จะใช้วันหยุดและมีความทะเยอทะยานเป็นพิเศษ 

 

จุดนี้นำมาวิเคราะห์ต่อได้ว่า เพราะ Gen Y เกิดมาในยุคที่ระบบเศรษฐกิจถดถอย ย่ำแย่ ไม่แน่นอน จนเป็น Norm (บรรทัดฐานปกติ) รวมถึงในยุคที่ข้าวยากหมากแพง เป็นหนี้ตั้งแต่การศึกษา จนถึงระดับใช้ชีวิตอย่างบ้านและรถที่ราคาเริ่มจะไกลเกินเอื้อมไปทุกที และในขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน ข้าวของและน้ำมันแพงขึ้นทุกที รายได้กลับเข้าอีหรอบ ‘ของแพงค่าแรงถูก’ ส่วนการแข่งขันก็สูง คนเรียนจบมาเยอะขึ้น ในขณะที่อัตราการว่าจ้างงานต่ำลง โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดโควิดด้วยแล้ว

 

ปัจจัยเหล่านี้จึงส่งผลให้งานเป็นสิ่งสำคัญที่ห้ามมีอะไรมาทำอันตรายเป็นอันขาด และชาว Millennials ไม่เพียงแต่จะกลัวว่าการหยุดจะทำให้พวกเขาถูกแทนที่และลดโอกาสจะได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง แต่ 20% กลัวแม้กระทั่งว่าตัวเองจะหลุดจากหน้าที่การงาน

 

 

ถอยออกมามองไกล และมองเข้าไปแบบมุมกลับ

ทั้งหมดทั้งมวล นอกจากจะพูดถึงในแง่มุมของสาเหตุและกระบวนการของการพลีชีพเพื่องานแล้ว ข้อมูลจาก P: TO ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าการสละวันหยุดที่ควรได้รับนอกจากไม่ได้ส่งผลดีแล้ว ยังจะส่งผลเสียในระยะยาวอีกด้วย เนื่องมาจากการที่มนุษย์มีลิมิตทางด้านอารมณ์ความรู้สึก และสายพลีชีพเพื่องานมีแนวโน้มจะเครียดทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ส่งผลให้พวกแฮปปี้กับบริษัทและอาชีพการงานที่กำลังทำอยู่น้อยลง

 

นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะได้รับโบนัสสิ้นปีน้อยลงเช่นกัน เมื่อพิจารณาจากโบนัสของ 75% ของคน Gen Y ที่ทุ่มให้งานหมดหน้าตัก (ทั้งๆ ที่ควรจะได้เยอะขึ้น) และในทำนองเดียวกัน คนที่มีวันหยุดน้อย มีแนวโน้มต่ำที่จะได้รับการขึ้นเงินเดือนดังที่หวัง

 

ข้อมูลที่หักล้างกับความเมกเซนส์ในการเป็น Workaholic ของวัยนี้เจนนี้ได้ที่สุดของ P: TO ก็เห็นจะเป็นเรื่องที่จริงๆ แล้วผู้จัดการโดยส่วนมากไม่มายด์อะไรที่พนักงานไปใช้เวลากับวันหยุด ความสัมพันธ์กับแฟน เพื่อน ครอบครัวบ้าง และในความเป็นจริงแล้ว 80% ของกลุ่มตัวอย่างผู้จัดการเชื่ออย่างแรงกล้าว่าเวลาพักผ่อนวันหยุดจะช่วยคงไว้ซึ่งระดับพลังงานระหว่างสมาชิกทีม และ 67% บอกว่าช่วยให้พนักงานมีความโปรดักทีฟอย่างได้ผล

 

สิ่งที่น่าเศร้าไม่น้อยคือ Gap หรือช่องว่างระหว่างความเป็นลูกน้องเจ้านายในบางวัฒนธรรม รวมไปถึงลักษณะนิสัยส่วนตัวของบอส และผู้มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายตำแหน่งเราได้ในองค์กรนั้นๆ กับเราที่ติดนิสัยเกรงอกเกรงใจ (ผสมกลัวใจ) ทำให้ชาว Millennials ไม่ได้รับข้อความที่ทั้งผสมปนเปไปด้วยด้านดี ด้านกลางๆ ข้อความด้านลบๆ หรือแย่ที่สุด คือไม่ได้ยินอะไรจากบอสตัวเองถึงเรื่องวันหยุดเลย ลูปนี้จึงเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด 

 

“เราอุดรูรั่วของความเงียบงันด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัย (Insecure) ของเราเอง” Katie Denis กล่าว และคำกล่าวนี้เป็นการสรุปสาเหตุทั้งหมดของการทำงานหนัก ความกลัว ความวิตกกังวล การขาดสมดุลชีวิต 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกที่ฉันต้องทำงานแบบสุดลิ่มทิ่มประตูเพื่อพิสูจน์ให้ใครบางคนเห็นด้วยขั้นตอนและผลงานของชนชาว Gen Y หรือหนุ่มสาว Millennials ที่ลึกๆ แล้ว หลายคนก็หวังจะให้ด้าน ‘เราจะให้คุณค่ากับความสุขมากกว่าเงินทองเสมอ’ ชนะเหมือนกัน ผู้เขียนและแปลบทความนี้เองก็เป็นหนึ่งในนั้น 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X