ผลการสำรวจความเห็นโดย Gallup เผยว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เริ่มขาดความมั่นใจว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน, รัฐมนตรีคลัง เจเน็ต เยลเลน และประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) เจอโรม พาวเวลล์ กำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องสำหรับการแก้วิกฤตเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การสำรวจพบว่ามีเพียง 35% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่มีความเชื่อมั่น ‘อย่างมาก’ หรือ ‘พอใช้’ ในตัวประธานาธิบดีไบเดนที่จะทำหรือแนะนำสิ่งที่ถูกต้องสำหรับเศรษฐกิจ โดยความเชื่อมั่นดังกล่าวแทบจะใกล้เคียงกับความเชื่อมั่นที่ดิ่งฮวบของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในปี 2008 ซึ่งตรงกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่
แม้ว่าขณะนี้อัตราการว่างงานจะร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ชาวอเมริกันเกือบครึ่ง หรือราว 48% กล่าวว่าตนเองแทบไม่มีความเชื่อมั่นในตัวไบเดนในเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแม้แต่น้อย
ขณะที่ความเห็นต่อพาวเวลล์ ประธาน Fed ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน โดยมีชาวอเมริกันเพียง 36% เท่านั้นที่เชื่อมั่นในแนวทางบริหารจัดการเศรษฐกิจของพาวเวลล์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดรอบใหม่ในการดำรงตำแหน่งประธาน Fed 6 ปีของพาวเวลล์ ในขณะที่ 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าตนเองแทบไม่มีความมั่นใจในตัวพาวเวลล์เลยแม้แต่น้อย
ส่วนความเชื่อมั่นในตัวเยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ซึ่ง Gallup พบว่ามีเพียง 37% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่กล่าวว่าตนเองมีความเชื่อมั่นในเยลเลนอย่างมาก
นอกจากนี้ วิกฤตเพดานหนี้ยังส่งผลให้คะแนนความนิยมของบรรดาแกนนำในรัฐสภาลดต่ำลงเช่นกัน โดยมีเพียง 34% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่กล่าวว่าเชื่อมั่นอย่างมากต่อผู้นำพรรคเดโมแครตในสภาคองเกรส ขณะที่ผู้นำพรรครีพับลิกันอยู่ที่ระดับ 38%
ทั้งนี้ การสำรวจซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 3-25 เมษายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าความวิตกกังวลที่เกิดจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงยังคงบดบังตลาดงานที่แข็งแกร่ง โดย Greg Valliere หัวหน้านักยุทธศาสตร์ด้านนโยบายของสหรัฐฯ ที่ AGF Investments อธิบายว่า ผู้คนกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังไม่จบลงและจะอยู่ในระดับสูงต่อไป และผู้คนต่างรู้สึกว่านักการเมืองทั้งหลายมุ่งมั่นในเกมการเมืองจนไม่สามารถเข้าใจความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อได้
Fed สาขานิวยอร์กหนุนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ
วันเดียวกันมีรายงานว่า จอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สาขานิวยอร์ก ออกมาแสดงความเห็นต่อนโยบายการเงินว่า Fed สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากเงินเฟ้อยังไม่ปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ วิลเลียมส์กล่าวว่า Fed ไม่อาจบอกได้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเสร็จสิ้นลงเมื่อใด เพราะต้องให้แน่ใจจริงๆ ว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ของ Fed บรรลุแล้วจริงๆ โดย Fed จะต้องประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและตัดสินใจโดยขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับ
อย่างไรก็ตาม วิลเลียมส์ระบุว่าตนเองยังมองไม่เห็นเหตุผลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ อย่างไรก็ดี ตนจะนำวิกฤตในภาคธนาคาร และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการขยายตัว การจ้างงาน และเงินเฟ้อ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณาแนวโน้มนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่อไป
นอกจากนี้ ประธาน Fed สาขานิวยอร์กรายนี้กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำเป็นต้องใช้เวลาในการส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ก่อนที่เงินเฟ้อจะปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมายของ Fed ที่ 2% พร้อมคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 2 ปี เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เจเน็ต เยลเลน เตือน! สหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ 1 มิ.ย. นี้ หากคองเกรสไม่เพิ่มหรือระงับเพดานหนี้
- ฟันธง Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในการประชุมวันที่ 3 พ.ค. นี้ ดันอัตราดอกเบี้ยแตะ 5.1% นิวไฮรอบ 16 ปี
- IMF คาด การเติบโตของ GDP โลกปีนี้ ครึ่งหนึ่งมาจากจีน-อินเดีย พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีนี้เป็นขยายตัว 5.2%
อ้างอิง: