คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะมีการประชุมหารือกันในวันพุธที่ 3 พฤษภาคมนี้ โดยบรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า Fed น่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 10 โดยถือเป็นความพยายามล่าสุดของ Fed ในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วที่สุดในรอบ 40 ปี
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์และเหล่าเทรดเดอร์ในตลาดวอลล์สตรีทต่างจับมองมากกว่า ก็คือท่าทีและถ้อยแถลงของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ที่จะสามารถบอกใบ้ได้ว่า ก้าวต่อไปของ Fed คืออะไร แนวโน้มทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไรต่อไป
สำนักข่าว AP รายงานรวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนัก ซึ่งส่วนใหญ่คาดว่า พาวเวลล์น่าจะบอกเป็นนัยว่า Fed กำลังเข้าใกล้การหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รอคอยมานาน กระนั้น พาวเวลล์ก็ไม่จำเป็นต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าการปรับขึ้นในสัปดาห์นี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของ Fed โดยเจ้าตัวอาจจะเน้นย้ำว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นได้หากอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าอัตราเป้าหมายของ Fed ที่ 2% อย่างต่อเนื่อง
Derek Tang นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ LHMeyer กล่าวว่า พาวเวลล์น่าจะต้องการส่งสัญญาณให้ตลาดรับทราบว่า อย่าเพิ่งผ่อนคลาย อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ Fed ยังสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหากจำเป็นต้องทำ แต่ตอนนี้ Fed ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำหรือไม่
กระนั้น นักวิเคราะห์มองว่า แม้แต่กรณีที่ First Republic Bank ประกาศล้มละลาย สร้างสถิติกลายเป็นการล้มของธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อได้
ทั้งนี้ First Republic Bank ถือเป็นธนาคารรายใหญ่แห่งที่ 3 ที่ประสบภาวะล้มละลายในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จนหน่วยงานกำกับดูแลต้องเข้าแทรกแซง ซึ่งล่าสุด ได้มีการขาย First Republic Bank ให้กับ ทาง JPMorgan Chase แล้ว
ในมุมมองของ Tang แม้ว่าพาวเวลล์จะส่งสัญญาณเตรียมระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวหลังจากการประชุม Fed ในสัปดาห์นี้ แต่ Tang ยังเห็นแนวโน้มที่ย้ำว่า Fed ไม่น่าจะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในปี 2023 นี้ ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของนักลงทุนจากการสำรวจของ Fedwatch ของ CME ที่พบว่านักลงทุนต่างคาดการณ์ว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งภายในสิ้นปีนี้
สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในวันพุธนี้ (3 พฤษภาคม) จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่สำคัญของ Fed อยู่ที่ 5.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี และสูงกว่าในเดือนมีนาคม 2022 ถึง 5% เต็ม
ในการประชุม Fed ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่าพวกเขาจะปรับขึ้นอีกครั้งและคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมจนถึงปีหน้า ซึ่งการคาดการณ์ในลักษณะดังกล่าวจะมีรายงานเปิดเผยออกมาไตรมาสละครั้งเท่านั้น ดังนั้นตัวเลขดังกล่าวจะไม่ได้รับการปรับปรุงอัปเดตใดจนกว่าจะถึงเดือนมิถุนายน
อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบาย 7 คนจาก 18 คนของ Fed คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะเกิน 5.1% ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายเพียงคนเดียวคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำกว่านี้ สถานการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า โดยรวมแล้ว Fed กำลังเอนเอียงไปทางการปรับขึ้นเพิ่มเติม
ทั้งนี้ Fed ยกระดับการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่ออย่างรวดเร็วเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีเมื่อช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว ซึ่งการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอการกู้ยืมและการใช้จ่ายเพื่อทำให้เศรษฐกิจเย็นลง แต่ในกระบวนการนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ได้นำไปสู่ต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับเงินกู้จำนวนมาก ตั้งแต่การจำนองและการซื้อรถยนต์ ไปจนถึงบัตรเครดิตและการกู้ยืมของบริษัท และทำให้ความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้น
รายงานระบุว่า ขั้นตอนต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังจากสัปดาห์นี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและสัญญาณที่ขัดแย้งกัน เศรษฐกิจดูเหมือนจะเย็นลง โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคทรงตัวในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ซึ่งบ่งชี้ว่านักช็อปจำนวนมากระมัดระวังมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับราคาที่สูงขึ้นและต้นทุนการกู้ยืม
นอกจากนี้ ตลาดงานที่ฟื้นตัวอย่างน่าประหลาดใจซึ่งทำให้อัตราการว่างงานใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปีเป็นเวลาหลายเดือน กำลังเผยร่องรอยที่น่ากังวลให้เห็น โดยการจ้างงานเริ่มชะลอตัวลง ประกาศรับสมัครงานลดลง และมีคนลาออกจากงานเพื่อไปหาตำแหน่งอื่นที่มีรายได้สูงกว่าน้อยลง
ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนที่ Fed เผชิญคือผลกระทบจากความล้มเหลวของธนาคารขนาดใหญ่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์ไม่คาดหวังว่าจะมีธนาคารจะล้มอีก แต่จะทำให้ธนาคารที่เหลืออยู่เดินหน้ายกระดับคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว
Krishna Guha นักวิเคราะห์จาก Evercore ISI ธนาคารเพื่อการลงทุนกล่าวว่า สำหรับธนาคารทุกแห่ง การล้มของ First Republic Bank หรือ Silicon Valley Bank ทุกแห่ง จะทำให้ธนาคารเพิ่มการดำเนินการอย่างระมัดระวังมากขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพื่อลดความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน
มองในแง่หนึ่ง ความเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ถือเป็นสิ่งที่ Fed ต้องการ เนื่องจากการกู้ยืมและการใช้จ่ายที่น้อยลงน่าจะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อได้
เจ้าหน้าที่ของ Fed จะมีข้อมูลจากการสำรวจของเจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคารในการประชุมในสัปดาห์นี้ แต่ผลลัพธ์จะยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะจนกว่าจะถึงสัปดาห์หน้า
รายงานระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้กำหนดนโยบายต้องตัดสินใจว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะไปทางไหน และตัวขับเคลื่อนสำคัญบางอย่างที่ทำให้ราคาสูงขึ้น เช่น ค่าเช่า พลังงาน และรถยนต์มือสอง ได้หยุดหรือปรับตัวลดลงแล้วหรือยัง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อโดยรวมลดลงอย่างรวดเร็ว ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 5% ในเดือนมีนาคมจากปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายนอย่างมาก
การเพิ่มขึ้นของค่าเช่าเริ่มลดลงเนื่องจากมีอพาร์ตเมนต์สร้างใหม่เข้ามาทางออนไลน์มากขึ้น ราคาก๊าซและพลังงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ค่าอาหารอยู่ในระดับปานกลาง ปัญหาห่วงโซ่อุปทานไม่ได้ปิดกั้นการค้าอีกต่อไป ดังนั้นจึงช่วยลดต้นทุนสำหรับรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ทั้งใหม่และใช้แล้ว
Ian Shepherdson หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Pantheon Macroeconomics ออกโรงเตือนว่า หาก Fed เพิกเฉยต่อการจ้างงานและการเปิดรับสมัครงานลดลง โดยยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยไม่คำนึงถึงข้อมูลอย่างรอบด้าน เท่ากับ Fed กำลังเดินเข้าสู่ความผิดพลาด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความมั่งคั่งจากหุ้นของชาวอเมริกันหายไปกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ จากที่เคยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหลังวิกฤตโควิด
- ตามคาด ‘Fed’ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นต่อ หวังคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด
- นักวิเคราะห์ชี้พิษนโยบาย Fed เป็นเหตุทำตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน
อ้างอิง: