×

จับตา G7 หารือ ‘แบนเพชรรัสเซีย’ หวังเพิ่มความเสียหายทางเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญคาดทำตลาดอัญมณีระส่ำทั่วโลก

12.05.2023
  • LOADING...
เพชรรัสเซีย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกทั้ง 7 แห่ง (G7) กำลังหารือเรื่องการออกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกเพชรของรัสเซีย ซึ่งเป็นมาตรการซับซ้อนที่เสี่ยงทำให้ราคาเพชรพุ่งสูงขึ้น

 

ทั้งนี้ การส่งออกเพชรของรัสเซียได้รอดพ้นจากการคว่ำบาตรของพันธมิตรชาติตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ หลังรัสเซียยกพลบุกโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แม้จะมีการออกมาตรการคว่ำบาตรด้านการส่งออกพลังงาน, ธนาคาร และกลุ่มผู้มีอำนาจของรัสเซีย ขณะที่ยูเครนและบางประเทศในยุโรปเรียกร้องให้คว่ำบาตรอุตสาหกรรมเพชรของรัสเซีย

 

ตามข้อมูลจาก Observatory of Economic Complexity ระบุว่า ปี 2564 รัสเซียทำรายได้จากการส่งออกเพชรประมาณ 4.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้รัสเซียเป็นผู้ส่งออกเพชรรายใหญ่อันดับ 8 ของโลก 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ทั้งนี้ เพชรไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อ-ขายเหมือนกับน้ำมันหรือทองคำ แต่เพชรถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ นอกเหนือไปจากอัญมณี เช่น งานขุดเจาะ ทันตกรรม และคอมพิวเตอร์

 

อย่างไรก็ตาม บางประเทศ เช่น เบลเยียม ซึ่งนำเข้าเพชรจากรัสเซียในปริมาณมากนั้น คัดค้านการให้สหภาพยุโรป (EU) ออกมาตรการคว่ำบาตรเพชรรัสเซียแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยต้องการให้ทั่วโลกมีส่วนร่วมในการคว่ำบาตร เพื่อสร้างให้เป็นหลักสากล และเพื่อเป็นการรับประกันว่าประเทศตนจะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร

 

เอ็ดเวิร์ด การ์ดเนอร์ นักเศรษฐศาสตร์สินค้าโภคภัณฑ์จาก Capital Economics ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้กับ CNBC ผ่านทางอีเมลว่า การถกเถียง (เรื่องคว่ำบาตรเพชรรัสเซียหรือไม่) เพราะมีความเสี่ยงว่ารัสเซียอาจเปลี่ยนไปส่งออกเพชรให้กับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ร่วมวงการคว่ำบาตรกับพันธมิตรชาติตะวันตกแทน 

 

“หากมาตรการคว่ำบาตรถูกนำมาใช้จริง และทำให้อุตสาหกรรมเพชรหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรได้ยาก เราอาจเห็นอุปทานของรัสเซียเข้าสู่ตลาดโลกน้อยลงและมีราคาที่สูงขึ้น” เอ็ดเวิร์ดกล่าว 

 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมเพชรในยุโรปยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนเส้นทางการค้าเพชรไปยังตลาดอื่น เช่น ดูไบ ด้วยเหตุนี้ G7 จึงกำลังหารือเกี่ยวกับวิธีการใช้เทคโนโลยีเพื่อติดตามแหล่งที่มาดั้งเดิมของเพชร

 

ทั้งนี้ การแบนเพชรรัสเซียเพื่อเพิ่มความเสียหายแก่เศรษฐกิจรัสเซียนั้นไม่ใช่ไอเดียที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2023 ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ร่วมกันกล่าวในแถลงการณ์ว่า “รัสเซียยังคงทำรายได้หลายพันล้านดอลลาร์จากการค้าเพชร” และทั้งคู่จะยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย โทษฐานที่ก่อสงครามต่อยูเครน

 

แฮนส์ เมอร์เก็ต นักวิจัยชาวเบลเยียม และผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ International Peace Information Service ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอิสระ กล่าวว่า การคว่ำบาตรเพชรรัสเซียเป็นเรื่องของเวลา ซึ่งหากไม่ถูกนำมาใช้ทำโทษรัสเซียในรอบนี้ ก็จะถูกหยิบขึ้นมาหารือกันใหม่รอบหน้า 

 

อย่างไรก็ตาม ในการหารือกันของ G7 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (9 พฤษภาคม)  เออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยเกี่ยวกับการคว่ำบาตรรัสเซีย 11 มาตรการ ซึ่งกำลังถกเถียงกันในหมู่เมืองหลวง 27 แห่งของสหภาพยุโรป ซึ่งการคว่ำบาตรเพชรไม่ได้อยู่ในหัวข้อหารือ โดยในบรรดามาตรการคว่ำบาตรหลายๆ รอบจนถึงปัจจุบัน มาตรการของสหภาพยุโรปมีเป้าหมายที่น้ำมัน ถ่านหิน ธนาคาร บุคคลผู้มั่งคั่ง และสื่อของรัสเซีย เป็นต้น

 

ส่วนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (10 พฤษภาคม) อันด์แชย์ ซาโดส เอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำสหภาพยุโรป อภิปรายถึงมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซียว่า เขาจะถามฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรปว่าทำไมร่างข้อเสนอจึงไม่รวมถึงเพชรจากรัสเซีย

 

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปนำเข้าเพชรรัสเซียประมาณ 1.4 พันล้านยูโร (1.5 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2022 ตามรายงานของสำนักงานสถิติของยุโรป ซึ่งลดลงจาก 1.8 พันล้านยูโรในปี 2021

 

ขณะที่ Alrosa บริษัทเหมืองแร่และรัฐวิสาหกิจของรัสเซีย รายงานยอดขายเพชรดิบและเพชรเจียระไนในเดือนมกราคม 2022 ที่ 325 ล้านดอลลาร์ และพูดถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้เผยแพร่ผลประกอบการเพิ่มเติมตั้งแต่นั้นมา

 

และเมื่อเดือนเมษายน 2022 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ขยายมาตรการคว่ำบาตร Alrosa เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร แคนาดา และนิวซีแลนด์ ที่ใช้มาตรการที่คล้ายคลึงกันกับหนึ่งในบริษัทเหมืองแร่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่แน่นอนของอุตสาหกรรมเพชรเช่นนี้ ดูเหมือนจะมีผู้ได้รับประโยชน์อยู่เช่นกัน โดย Bloomberg รายงานไว้เมื่อไตรมาส 1/23 ว่า ประเทศบอตสวานามีงบประมาณเกินดุลในช่วง 6 เดือนแรกของปี (เมษายน-กันยายน 2022) โดยได้แรงหนุนจากความต้องการเพชรที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ซื้อแห่กันไปที่ประเทศในแอฟริกาและหลีกเลี่ยงรัสเซีย หลังการเข้ารุกรานยูเครน

 

โดยบอตสวานามีงบประมาณเกินดุล 598.7 ล้านปูลา (46.9 ล้านดอลลาร์) หรือ 0.55% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2023 โดยกระทรวงการคลังได้เปิดเผยว่า การเกินดุลการค้านี้ ได้รับแรงหนุนจากรายได้จากแร่ที่เพิ่มขึ้น 66% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการส่งออกเพชรที่ดีขึ้น

 

อีกทั้ง Debswana ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลและ Anglo American Plc. หน่วย De Beers ที่ขุดอัญมณีส่วนใหญ่ของประเทศ รายงานยอดขายเพชรดิบได้ 54.9 พันล้านปูลาในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน 2022) เปรียบเทียบกับ 38.1 พันล้านปูลาในปี 2021 ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising