×

ซัมมิต G20 ปิดฉาก ผู้นำออกแถลงการณ์ร่วมส่งเสริมการค้าเสรี, 19 สมาชิกหนุนความตกลงปารีสต่อสู้ปัญหาโลกร้อน

29.06.2019
  • LOADING...

การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ประจำปี 2019 ที่นครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ปิดฉากลงแล้ว โดยที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ร่วมแสดงจุดยืนส่งเสริมการค้าเสรีและยุติธรรม พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่ได้ประณามการกีดกันทางการค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกับสหรัฐฯ ส่วนประเด็นโลกร้อนนั้น 19 ชาติและสหภาพยุโรปมีฉันทามติในการแก้ปัญหาโลกร้อนตามพันธกรณีในความตกลงปารีส ปี 2015 ยกเว้นเพียงสหรัฐฯ ที่ไม่เห็นด้วย หลังประกาศถอนตัวไปก่อนหน้านี้

 

ในแถลงการณ์ร่วมซึ่งเป็นบทสรุปของการประชุมซัมมิต G20 ปีนี้ ผู้นำจากประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่เห็นพ้องให้ร่วมมือกันส่งเสริมการค้าเสรี ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และโปร่งใส 

 

นอกจากนี้ชาติสมาชิกยังเห็นตรงกันว่าการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรีบดำเนินการ หลังความขัดแย้งทางการค้ามีแนวโน้มขยายตัวไปทั่วโลกจนสร้างความไม่แน่นอน และเป็นปัจจัยเสี่ยงร้ายแรงต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก

 

ผู้นำ G20 ยอมรับว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน และมีความเสี่ยงที่จะซวนเซสู่ทิศทางขาลง ท่ามกลางความตึงเครียดของสงครามการค้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก

 

“เราพยายามที่จะทำให้เกิดการค้าและสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เป็นอิสระ ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส ทำนายได้ และมั่นคง ตลอดจนส่งเสริมให้ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น” แถลงการณ์ร่วมของผู้นำ G20 ระบุ โดยไม่มีข้อความที่เรียกร้องให้ต่อต้านมาตรการกีดกันทางการค้าแต่อย่างใด

 

นายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซ ของญี่ปุ่น ในฐานะประธาน G20 ปีนี้ กล่าวสรุปการประชุมว่าบรรดาผู้นำ G20 มีความตระหนักร่วมกันถึงความจำเป็นของกลุ่มในการเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกต่อไป

  

อาเบะกล่าวว่า G20 เห็นพ้องในหลักการพื้นฐานที่จะสนับสนุนระบบการค้าเสรี อีกทั้งให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงระบบการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าของ WTO ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย มองว่าแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมคราวนี้ยังไม่มีอะไรใหม่ โดยผู้ร่วมประชุมทุกคนเพียงแต่ยืนยันในเจตจำนงที่จะทำงานร่วมกันมากขึ้นเพื่อปรับปรุงระบบการค้าโลก รวมถึงการเดินหน้าปฏิรูป WTO

 

ขณะที่ คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้า ดังนั้นเธอจึงเรียกร้องให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายในกลุ่ม G20 เร่งลดระดับกำแพงภาษี รวมถึงอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ ด้วย

 

สำหรับไฮไลต์สำคัญของการประชุมปีนี้คือการเจรจานอกรอบระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เพื่อยุติสงครามการค้าที่ดำเนินยืดเยื้อจนสร้างความผันผวนต่อตลาดและส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก

 

ซึ่งการประชุมที่ทั่วโลกจับตาครั้งนี้ก็ได้ผลลัพธ์ที่เป็นบวก เมื่อทรัมป์ตัดสินใจยังไม่ขยายกำแพงภาษีกับจีนเพิ่มเติม หลังจากที่เคยขู่ว่าจะบังคับใช้มาตรการภาษีกับสินค้าจีนครอบคลุมมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หากการเจรจาไม่เป็นไปตามที่ทรัมป์คาดหวัง

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสัญญาณบวกเกี่ยวกับความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และจีน หลังทรัมป์ยืนยันว่าบริษัทอเมริกันยังสามารถทำธุรกิจหรือค้าขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าเทคโนโลยีกับ Huawei ได้ต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์กล่าวหลังการประชุมว่าการเจรจากับจีนเกี่ยวกับความขัดแย้งกรณี Huawei ยังต้องดำเนินต่อไป เพราะปัญหาความมั่นคงแห่งชาติเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน

 

ส่วนกำแพงภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐที่อัตรา 25% ก่อนหน้านี้ยังคงมีผลบังคับใช้ตามเดิม แม้ว่าจีนจะยื่นเงื่อนไขให้ทรัมป์ยกเลิกทั้งหมดก็ตาม โดยหลังจากนี้จีนและสหรัฐฯ จะรื้อฟื้นการเจรจาการค้ากันต่อ หลังจากที่หยุดชะงักไปในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งอุปสรรคที่สองฝ่ายต้องก้าวข้ามไปให้ได้คือประเด็นความขัดแย้งเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี 

 

ผู้นำ IMF เตือนว่าถึงแม้การกลับมาเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่เรื่องเร่งด่วนคือกำแพงภาษีที่มีอยู่ตอนนี้กำลังฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก หากปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังต่อไปย่อมนำมาซึ่งปัญหาความไม่แน่นอนต่อระบบเศรษฐกิจ

 

อีกหนึ่งความสำเร็จของการประชุม G20 ปีนี้คือการที่สหภาพยุโรป (EU) และกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอเมริกาใต้ (Mercosur) ได้บรรลุข้อตกลงในสนธิสัญญาการค้าเสรี โดยคู่เจรจาจะยึดมั่นพันธกิจในการสร้างตลาดที่เปิดกว้างมากขึ้น ท่ามกลางการขยายตัวของมาตรการกีดกันทางการค้าทั่วโลก

 

ฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่าข้อตกลงนี้ส่งเสริมค่านิยมของเรา รวมทั้งสนับสนุนระบบพหุนิยมบนพื้นฐานของกฎระเบียบ

 

อีกหนึ่งวาระสำคัญที่มีการหารือในเวทีซัมมิต G20 ปีนี้คือการหามาตรการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ มีการถกเถียงและต่อรองในเนื้อหาที่บรรจุลงแถลงการณ์ร่วมจนถึงนาทีสุดท้าย

 

แต่ท้ายที่สุดที่ประชุม G20 มีฉันทามติในการร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน โดย 18 ชาติและสหภาพยุโรปได้สนับสนุนพันธกรณีในความตกลงปารีส ปี 2015 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยมีเพียงสหรัฐฯ ชาติเดียวที่ไม่เห็นด้วย หลังจากที่ทรัมป์ประกาศนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงดังกล่าวไปก่อนหน้านี้

 

ทั้งนี้ G20 เป็นการรวมตัวกันแบบหลวมๆ ของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าและตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ที่มีขนาด GDP รวมกันเท่ากับ 90% ของโลก โดยชาติสมาชิกประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, ฝรั่งเศส, อิตาลี, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, เยอรมนี, จีน, รัสเซีย, อินเดีย, อาร์เจนตินา, บราซิล, อินโดนีเซีย, เม็กซิโก, ซาอุดีอาระเบีย, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้ ตุรกี และสหภาพยุโรป 

 

สำหรับเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ในปีหน้าคือซาอุดีอาระเบีย โดยจะจัดที่กรุงริยาดในช่วงเดือนพฤศจิกายน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising