×

G20 เปิดฉากประชุมซัมมิตวันแรก ประกาศรับสหภาพแอฟริกาเป็นสมาชิกถาวร

โดย THE STANDARD TEAM
09.09.2023
  • LOADING...

ผู้นำกลุ่มประเทศที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก 20 ประเทศ หรือ G20 เริ่มเปิดฉากการประชุมสุดยอดประจำปีที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ด้วยการมอบสถานะสมาชิกถาวรให้แก่สหภาพแอฟริกา (African Union) โดยหวังว่าจะทำให้กลุ่ม G20 เป็นตัวแทนประเทศต่างๆ ของโลกมากขึ้น แม้ในความเป็นจริงแล้วบรรดาประเทศสมาชิกยังคงมีความแตกแยกกันเกี่ยวกับสงครามในยูเครน โดยชาติตะวันตกผลักดันให้กลุ่ม G20 ประณามรัสเซียอย่างรุนแรง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เรียกร้องให้กลุ่มมุ่งเน้นไปที่ประเด็นทางเศรษฐกิจมากกว่า

 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และผู้นำประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม G20 ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ของเยอรมนี, ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ของอังกฤษ, เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน นายกรัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบีย และ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้น ณ Bharat Mandapam ศูนย์การประชุมรูปทรงสังข์มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ที่เพิ่งสร้างใหม่ และตั้งอยู่ตรงข้ามป้อมหินสมัยศตวรรษที่ 16 

 

ธุรกิจ ร้านค้า สำนักงาน และโรงเรียนหลายแห่งในกรุงนิวเดลี ซึ่งมีประชากร 20 ล้านคน ปิดทำการในช่วงที่เมืองเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เพื่อจำกัดการจราจร ขณะที่ทางการจัดการพื้นที่สลัม รวมทั้งนำลิงและสุนัขจรจัดออกจากถนน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อให้การประชุมระดับโลกนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

 

การประชุมสุดยอด G20 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันในวันที่ 9-10 กันยายน ซึ่งในวันแรกของการประชุมนั้น นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ในฐานะประธานการประชุม ได้ประกาศการรับสหภาพแอฟริกา หรือ AU เข้าเป็นสมาชิกถาวรของกลุ่ม G20 ซึ่งทัดเทียมกับสหภาพยุโรป และในการกล่าวเปิดการประชุม โมดีได้เชิญ อาซาลี อัสซูมานี ประธานสหภาพแอฟริกา ในฐานะตัวแทนกลุ่ม AU นั่งที่โต๊ะผู้นำ G20

 

อย่างไรก็ดี คาดว่าการประชุมสุดยอดครั้งนี้จะถูกครอบงำโดยชาติตะวันตกและพันธมิตร ในขณะที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ส่งนายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงมาร่วมประชุมแทน ส่วนประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ไม่เดินทางมาร่วมประชุมเช่นกัน

 

ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายมองว่าการประชุมสุดยอดในครั้งนี้อาจเป็นโอกาสให้สีและไบเดนได้พบปะหารือกัน หลังจากตลอดหลายเดือนของความพยายามเยียวยาความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ อันเนื่องมาจากความตึงเครียดทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์

 

จอน ไฟเนอร์ รองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในเดลีว่า “เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจีนที่จะต้องอธิบายว่า ผู้นำของจีนจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมการประชุมเพราะเหตุใด” 

 

ไฟเนอร์ยังได้กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า จีนกำลังจะ ‘ละทิ้ง G20’ เพื่อหันไปสนับสนุนกลุ่มอื่นๆ เช่น BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มที่จีนมีอำนาจเหนือกว่า

 

BRICS ประกอบด้วยบราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ และเห็นชอบที่จะเพิ่มสมาชิกใหม่อีก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน, เอธิโอเปีย, อียิปต์, อาร์เจนตินา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่มุ่งเร่งผลักดันให้เกิดการสับเปลี่ยนระเบียบโลกที่สมาชิกของกลุ่มเห็นว่าล้าสมัย

 

สำนักข่าว Reuters รายงานเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างปฏิญญาของการประชุมสุดยอด G20 ซึ่งปรากฏว่า คณะผู้เจรจาของแต่ละประเทศไม่สามารถแก้ไขข้อขัดแย้งในส่วนของข้อความเกี่ยวกับสงครามในยูเครนได้ จึงต้องปล่อยให้บรรดาผู้นำทำหน้าที่ประนีประนอมหากเป็นไปได้ รายงานข่าวระบุว่า ร่าง 38 หน้าที่เผยแพร่ระหว่างประเทศสมาชิก มีการปล่อยให้ย่อหน้าที่เกี่ยวกับ ‘สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์’ เว้นว่างไว้ ขณะที่เห็นชอบกับอีก 75 ย่อหน้า

 

รายงานข่าวระบุว่า ความเห็นต่างของบรรดาประเทศสมาชิกเกี่ยวกับสงครามในยูเครน ทำให้คณะผู้เจรจาของ G20 ต้องพยายามกันอยู่หลายวันเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับภาษาที่จะใช้ในปฏิญญาผู้นำ (Leaders’ Declaration) โดยทางกลุ่มหวังว่า รัสเซียจะร่วมให้ความเห็นชอบในปฏิญญาผู้นำฉบับนี้

 

เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย ซึ่งเป็นตัวแทนประธานาธิบดีปูตินเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เปิดเผยว่าเขาจะขัดขวางร่างปฏิญญา (Final Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม เว้นแต่ร่างปฏิญญาดังกล่าวจะสะท้อนถึงจุดยืนของมอสโกเกี่ยวกับยูเครนและวิกฤตการณ์อื่นๆ

 

แหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งเปิดเผยกับ Reuters ว่า ย่อหน้าเกี่ยวกับสงครามกับยูเครนได้รับการอนุมัติจากประเทศตะวันตก และส่งไปยังรัสเซียเพื่อขอความเห็น เจ้าหน้าที่รายนี้กล่าวว่า รัสเซียมีทางเลือกที่จะยอมรับความคิดเห็นของประเทศตะวันตก หรือแสดงความเห็นแย้งโดยเป็นส่วนหนึ่งของปฏิญญา

 

ในกรณีที่ไม่มีข้อตกลง อินเดียจะต้องออกแถลงการณ์ของประธานการประชุม (Chair Statement) แทน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีของการประชุมสุดยอด G20 ที่จะไม่มีการออกปฏิญญาผู้นำ

 

ด้านเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีไบเดนจะกดดันให้ประเทศที่เป็นแกนนำของกลุ่ม G20 ดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในระดับที่สูงขึ้น เนื่องจากมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการขาดฉันทมติของที่ประชุมในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ทั้งนี้ ประเทศ G20 คิดเป็น 80% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และความคิดเห็นของที่ประชุมในครั้งนี้ถูกจับตามองเป็นอย่างมากก่อนถึงการประชุมโลกร้อน COP28 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในช่วงปลายปีนี้

 

ภาพ: Kay Nietfeld / Picture Alliance via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising