×

ราคาพลังงาน-เงินเฟ้อฉุดดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. ร่วง สภาอุตฯ วอนรัฐตรึงดีเซลต่อ-ออกคนละครึ่งเฟส 5 ช่วย

18.05.2022
  • LOADING...
ราคาพลังงาน-เงินเฟ้อ

ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น และกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อฉุดดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายนปรับตัวลดลง ส.อ.ท. เสนอรัฐตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร ต่ออีก 3 เดือน พร้อมออกมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 กระตุ้นใช้จ่ายช่วยผู้ประกอบการ

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ระดับ 86.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 89.2 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลกระกอบการ 

 

โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงานรวมถึงค่าขนส่ง ขณะที่กำลังซื้อในประเทศชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง นอกจากนี้วันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังทำให้การผลิตลดลง 

 

ในด้านการส่งออกสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลก รวมทั้งกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าประเภทวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี สินค้ากลุ่มโลหะ เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ตามปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังไม่คลี่คลาย และ Space บนเรือไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออกสินค้า รวมทั้งความล่าช้าของเรือขนส่งยังเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการส่งออก อีกทั้งปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี แม้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ส่งออกก็ตาม แต่สิ่งที่น่ากังวลคือเงินบาทที่อ่อนจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจนอาจยิ่งเร่งให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอีกได้

 

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,320 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเดือนเมษายน 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน 80.4% สถานการณ์การระบาดของโควิด 68.0% สภาวะเศรษฐกิจโลก 60.2% และเศรษฐกิจในประเทศ 55.2% ตามลำดับ 

 

ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 40.1% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 38.5% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 37.6% ตามลำดับ

 

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 95.9 ปรับตัวลดลงจาก 99.6 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นภายหลังจากภาครัฐลดการอุดหนุนราคา โดยจะปรับขึ้นแบบขั้นบันไดจนถึง 35 บาทต่อลิตร รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตกจะทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง

 

ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง นอกจากนี้นโยบายปิดเมืองของจีนเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด ส่งผลให้การขนส่งสินค้ามีความล่าช้า รวมถึงเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและส่งผลกระทบต่อ Supply Chain ในตลาดโลก 

 

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกระบบ Test & Go เพื่อเปิดประเทศเต็มรูปแบบในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 จะสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

 

  1. ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ

 

  1. ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน อาทิ โครงการคนละครึ่งเฟส 5 และขยายจำนวนสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน

 

  1. สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Security) ที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

 

  1. ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนจนเกินไป และให้สอดคล้องกับประเทศ อื่นในภูมิภาคเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

 

  1. ออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังการเปิดประเทศ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising