×

THE FRONT PALACE & THE PRESERVATION OF ITS LEGACY

07.06.2018
  • LOADING...

ธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีใช้เวลาช่วงต้นของชีวิตส่วนใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา หากแม้กระนั้น ความใคร่รู้ที่จะทำความเข้าใจตัวตนและมาตุภูมิให้กระจ่าง ผลักดันให้เธอสนใจประวัติศาสตร์แห่งโลกตะวันออก และคว้าปริญญาตรีสาขาเอเชียศึกษา พร้อมเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กเป็นผลสำเร็จ

 

 

เช้าวันที่แดดจ้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในพื้นที่ของวังหน้า คุณใหม่สิริกิติยา เจนเซน เปิดโอกาสให้ THE STANDARD สัมภาษณ์พิเศษ เพื่อบอกเล่าถึงเส้นทางชีวิตหลังเรียนจบ งานแรกในโลกแห่งแฟชั่นและโฆษณา รวมถึงจุดเปลี่ยนที่นำพาให้กลับมาเป็นข้าราชการกรมศิลปากร ผู้กำลังมุ่งมั่นกับโครงการใหญ่นิทรรศการวังน่านิมิตที่จะย้อนรอยหนึ่งในโบราณสถานสำคัญที่สุดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ถูกลืมให้กลับมามีชีวิตโลดแล่นอยู่ในความทรงจำของคนยุคปัจจุบัน ในช่วงที่คนไทยกำลังโหยหารากเหง้าแห่งตัวตน  

 

ความสนใจด้านประวัติศาสตร์ของคุณใหม่ 
โดยเฉพาะประวัติศาสตร์เอเชียเริ่มตั้งแต่เมื่อไร

ใหม่เป็นลูกครึ่งอยู่ที่อเมริกามาตลอด แต่ตอนเด็กๆช่วงพักร้อนก็กลับมาเมืองไทยทุกปี มาออกงานกับแม่บางทีก็ไปวัด ไปอยุธยา ไปญี่ปุ่น ไปเมืองจีน รู้สึกมีความผูกพันกับเอเชีย มีความสนใจตรงนี้พอสมควร เลยอยากที่จะเข้าใจตัวเองมากขึ้น

 

อยากกลับมาทำงานอนุรักษ์ อยากนำส่วนที่เป็นครีเอทีฟ ศิลปะ หรือแฟชั่น ย้อนกลับไปในอดีตให้คนเข้าใจว่า เรามาถึงตรงนี้ได้อย่างไร เกี่ยวข้องกับอันนี้อย่างไร สนใจที่จะทำแบบนั้น 
อีกส่วนหนึ่งคือ รู้สึกว่าไม่ได้เข้าใจตัวเองเท่าไร เลยอยากเข้าใจตัวเอง เข้าใจความเป็นไทย
อยากพูดภาษาไทย อยากรู้จักคนไทยมากขึ้น

 

ความสนใจในวัยเด็กเข้มข้นจนทำให้ตอนเข้ามหาวิทยาลัยเลือกเรียนประวัติศาสตร์เลยหรือ

ตอนเด็กชอบเรื่องที่มีที่มาที่ไป มีเส้นแบ่งลำดับเวลา เช่น ถ้าอยากเข้าใจว่า ทำไมเมืองไทยถึงเป็นอย่างที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ ก็ต้องย้อนดูอดีต อย่างวังหน้าที่เห็นอยู่ตอนนี้ ถ้าเราอยากเข้าใจสถาปัตยกรรมหรือการวางผัง ก็ต้องย้อนกลับไปที่อยุธยา เพราะเราย้ายจากตรงนั้นเข้ามากรุงเทพฯ คนสมัยนั้นก็อยากตั้งให้คล้ายกับที่อยุธยา เราก็ต้องทำความเข้าใจไทม์ไลน์ว่าทำไมคนในยุคนั้นถึงเลือกตั้งไว้ตรงนี้แบบนี้ทุกอย่างมันเชื่อมกันหมดเลย

 

ตอนเข้ามหาวิทยาลัยยังไม่รู้ว่าอยากทำอะไร เราเข้าไปเรียนหลายวิชา โดยเฉพาะวรรณกรรมทั้งจีนและญี่ปุ่น ในความคิดของเรา ประวัติศาสตร์มีหลายมุมมอง ทั้งแบบที่บันทึกไว้เป็นทางการหรือวรรณกรรมก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่ต้องเข้าใจเช่นกัน

 

ตอนที่เลือกเรียนสาขาเอเชียศึกษา หรือ Asian Studies ก็คิดว่า อาจจะกลับมาทำงานที่เอเชีย ความตั้งใจส่วนหนึ่งก็คือ เราเรียนเพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย เพื่อที่ต่อไปทำงานร่วมกันจะได้เข้าใจวัฒนธรรม เข้าใจประวัติศาสตร์ ทำให้ทำงานได้ดีมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือ เพราะเป็นคนเอเชีย เป็นคนไทย ก็อยากเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น เพราะโตที่เมืองนอกมาตลอด แต่ปัญหาคือ ตอนเรียนประวัติศาสตร์เอเชีย ที่อเมริกาจะไม่ค่อยสอนเรื่องของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่าไร  แต่จะเรียนเรื่องญี่ปุ่น จีน เกาหลีเยอะกว่า

 

เมื่อเราทราบแล้วว่า อยากเรียนด้านเอเชียทั้งหมดเลย เรียนวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม วรรณคดี สุดท้ายก็เน้นอยู่สองอย่างคือ วรรณคดีและประวัติศาสตร์ มีหลายคนถามว่า ทำไมเรียนทั้งสอง มันต่างกัน เพราะประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ถ้าจะพูดเป็นภาษาอังกฤษ มันคือ Collection of Memories มันขึ้นอยู่กับเราว่าจะเลือกเก็บเรื่องไหน มุมไหน ประวัติศาสตร์มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมของประเทศนั้น มันเป็นสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในเชิงทางการ แต่ว่าจริงๆ แล้วประวัติศาสตร์มีหลายมุมมอง มุมมองศิลปะ มุมมองของบุคคลทางการเมือง มุมมองของนักวิชาการหรือมุมมองของคนทั่วไปที่ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นที่ทั่วไป คนแบบนี้จะเขียนเรื่องที่เราเห็นเป็นวรรณคดี บทกวี ถ่ายทอดผ่านละคร ศิลปะการแสดง นี่คือความรู้สึกของคนที่อยู่ในพื้นที่ในช่วงประวัติศาสตร์ตอนนั้นคือการแสดงตัวตนของเขา

 

ในความคิดของเรา ถ้าจะเข้าใจวัฒนธรรมของจีน ญี่ปุ่น ไทย หรือไม่ว่าที่ไหนๆ ก็ไม่ใช่แค่เข้าใจสิ่งที่ถูกบันทึกไว้อย่างเดียว ต้องเข้าใจวรรณกรรมและศิลปะการแสดงทั้งหมดเลย

 

 

คุณใหม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยจากทางไหน

เรียนจากการคุยมากกว่า สมัยก่อนที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่เรารู้เรื่องต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ได้ เพราะมีพวกศิลปะฝาผนัง หรือถ้ำ ถ้าจะเรียนรู้อะไร บางทีไม่จำเป็นต้องอ่านอย่างเดียวก็ได้ ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเข้าไปเรียนรู้กับคน เข้าไปถึงสถานที่โดยตรง

การเรียนประวัติศาสตร์ไทยคือ การเข้าไปคุย ตั้งใจไปค้นหาข้อมูลเอง ออกไปตามสถานที่ต่างๆ ถ้ามีนักวิชาการก็นั่งคุยกันยาวๆ ตั้งคำถามเยอะ เจาะลึกในเรื่องที่คนอื่นไม่ได้ให้ บางทีก็คุยกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ว่าช่วงนั้นเขารู้สึกอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็คุยกับคนที่ทำงานร่วมกัน อาจจะเป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์หรือสถาปนิก คุยกับชุมชนก็ได้ข้อมูลเยอะ คุยกับผู้สูงอายุก็ได้อีกมุมหนึ่ง ความทรงจำของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องฟังข้อมูลทั้งหมดถึงจะเข้าใจภาพหลัก

 

สมัยเด็กๆ เวลาที่กลับมาเมืองไทย ทูลกระหม่อมแม่พาไปที่ต่างๆ ก็ทำให้มีโอกาสได้เห็นและเรียนรู้อยู่บ้างแล้วใช่ไหม

ก็เห็นอยู่ ก็เข้าใจ เมื่อก่อนเคยกลับมาเป็นช่วงๆ 
2 เดือน 3 เดือน กลับมาก็เที่ยวสนุกสนาน แต่มันก็ไม่เหมือนกลับมาอยู่กับที่ มาอยู่ทุกวันประจำได้พัฒนาความสัมพันธ์ มีเพื่อนมีอะไรแบบตอนนี้     

 

ประเด็นที่ได้ยินกันบ่อยคือ คนไทยไม่ค่อยสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ คุณใหม่มองเรื่องนี้อย่างไร

เป็นปัญหาทั่วโลกเลย เพราะเราเลือกที่จะพัฒนาพวกตึกหรือสิ่งที่จับต้องได้ แต่ปัญหาคือ เราไม่ได้เอาคนมาด้วย เราเก็บตึกเก่าไว้ได้ก็จริง แต่ความรู้สึกของคนมันหายไปแล้ว มันจึงไปต่อไม่ได้ ทั่วโลกเขาก็พูดถึงเรื่องนี้ตลอด อย่างเช่นตอนนี้ในโมซุล ประเทศอิรัก มิวเซียมที่เก็บวัตถุโบราณอายุกว่าพันปีถูกทำลาย คนเข้าไปไม่ได้ เพราะมีสงคราม  คนรุ่นใหม่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์โบราณสถาน อนุรักษ์แหล่งประวัติศาสตร์ ทั้งนักโบราณคดี  นักประวัติศาสตร์ สถาปนิก ภัณฑารักษ์ ก็ต้องคิดว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร เลยขอให้คนที่เคยไปมิวเซียมและเคยถ่ายรูปเอาไว้ส่งมาเป็นข้อมูล คล้ายๆ กับ crowdsourcing เพื่อบันทึกให้เด็กรุ่นหลังได้เห็น

 

หลังเรียนจบ คุณใหม่เริ่มงานแรกในสายแฟชั่นและโฆษณา ความสนใจเบนไปทางนั้นได้อย่างไร  

ส่วนใหญ่คนที่เรียนประวัติศาสตร์จะทำงานด้านวิชาการ แต่ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบ และเป็นคนชอบอะไรเชิงสร้างสรรค์ กลัวว่าถ้าทำงานวิชาการจะไปด้วยกันไม่ได้ เราเลยไปทำอย่างอื่นก่อน ซึ่งถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ไม่เป็นไร ก็เปลี่ยนเส้นทางกลับไปทำประวัติศาสตร์ได้

 

 

ทำไมตอนนั้นสนใจแฟชั่นและงานโฆษณา

ตอนนั้นอาจเป็นวัยรุ่น ชอบเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายก็ดูหนังสือพิมพ์หางานทำ ก็เห็นว่ามีงานนี้เปิดรับอยู่ เราเลยส่งไป เราเป็นคนที่ครีเอทีฟ เลยอยากอยู่ในวงการที่คนมีความคิด มีความรู้เยอะ ตอนนั้นยังไม่มีประสบการณ์ ก็เลยทดลองทำงานคล้ายๆ กับเป็นเด็กฝึกงานไปก่อน ตอนนั้นทำงานที่ Yohji 
Yamamoto ซึ่งเป็นบริษัทที่คนรู้จักกันเยอะ ก็ชอบทำงานที่นั่น

 

มีหลายคนถามว่า เรียนประวัติศาสตร์มาแล้วมันเกี่ยวข้องกับแฟชั่นอย่างไร จริงๆ แล้วแฟชั่นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่แยกกันไม่ได้ แฟชั่นคือ วิธีที่จะแสดงตัวตน เป็นวิธีที่คนแสดงออกต่อความคิดที่ว่า How do they see themselves? เขามองเห็นประวัติศาสตร์อย่างไรเขาบันทึกประวัติศาสตร์อย่างไร บางคนก็ใช้ผ้าเพื่อแสดงความคิดของเขา บางคนทำวรรณกรรม บางคนก็ทำงานวิชาการ และบางคนก็ทำแฟชั่นในแต่ละยุคก็มีการเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของประวัติศาสตร์ บางทีเครื่องมือของการทำเสื้อผ้าเปลี่ยนไป มีการแลกเปลี่ยนผ้าจากเมืองนอก เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 3 ผ้าจะออกเป็นผ้าไทย ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เราเริ่มเห็นสไตล์ของฝรั่งเข้ามานี่เป็นประวัติศาสตร์ทั้งหมดเลย มันบันทึกสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมาตลอด

 

identity ความเป็นตัวตนเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราไม่เข้าใจว่า เรามาจากไหน มาอยู่ในสถานที่นี้ได้อย่างไร ถ้าเขาไม่รู้สึกว่ามี identity แล้วเขาจะสู้เพื่ออะไร ทำอะไรเพื่ออะไร และจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพื่ออะไร แบบนี้จะพัฒนาตัวเองได้อย่างไร นี่แหละประวัติศาสตร์ถึงสำคัญ 
เพราะถ้าประวัติศาสตร์หายไป มีหลายคนที่รู้สึกว่า เขาเสียตัวตนของตัวเองไป ก็จะอยู่ในโลกนี้ด้วยความไม่เข้าใจ

 

ประสบการณ์ด้านแฟชั่นกับ Yohji Yamamoto และ Hermès ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ทำงานที่บริษัทญี่ปุ่นเขาจะสอนเรื่องความตั้งใจของการทำงาน ถ้าเป็นเด็กไฟแรงอาจจะอยากเข้าไปทำงานที่ใหญ่ๆ ที่จะเห็นผลสำเร็จมหาศาล คนจะได้เห็นว่า ความเก่งของเราถึงระดับไหน แต่ญี่ปุ่นเขาจะถือว่า ต้องวางพื้นฐานทางความคิดก่อน ถ้าหากไม่เข้าใจพื้นฐาน คุณจะเข้าใจอะไรไม่ได้เลย

 

วิธีสอนของเขาดีมาก ขนาดการทำซูชิ คนที่เป็นซูชิเชฟแค่ปั้นข้าวเฉยๆ เขายังต้องทำ 2-3 ปี กว่าจะได้เลื่อนขั้น เพราะถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ก็ไปต่อไม่ได้ นั่นเป็นวิธีการทำงานกับ Yohji เขาจะให้ทำบางสิ่งบางอย่าง และเขาจะดุ จะสอนว่าต้องละเอียด เช่น แพ็กเกจอันนี้อาจจะเอาไปให้คนรู้จักกัน แต่ก็ต้องทำให้ใกล้เคียงกับแพ็กเกจที่จะเอาไปให้คนสำคัญ

 

คุณภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ เขาจะคอยดู เราชอบตรงนี้ เพราะมันทำให้เราเป็นคนละเอียด เป็นคนที่ไม่บ่นกับเรื่องอะไร ทุกอย่างมีทางออกหมด วิธีสอนของเขามันช่วยได้ตลอด ตอนที่ไปทำงาน Hermès คนที่นั่นยังพูดเลยว่าคุณเป็นคนละเอียด เป็นคนระวัง เป็นคนใจเย็นเพราะมันเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิ

     

สุดท้ายทำไมมารู้ว่า เราไม่อยากทำแฟชั่นแล้ว และอยากกลับมาทำงานด้านประวัติศาสตร์

ตอนนั้นทำงานเกี่ยวกับการสื่อสาร ถึงจะเห็นแล้วรู้แล้วว่า ชอบไม่ชอบอะไรก็ต้องทำไปก่อน พอทำไปสัก 2 ปี เริ่มรู้ว่าจริงๆ เราสนใจเรื่องแฟชั่น แต่อาจจะไม่ใช่ด้านการสื่อสารแบบที่ทำอยู่ ตอนนั้นหัวหน้าที่ทำงานด้วยเคยเป็นศาสตราจารย์ที่ THE MET Costume Institute คือคล้ายๆ กับเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ The Metropolitan Museum of Art 
ที่นิวยอร์ก ที่เจาะลึกเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย เขาจะเอาเสื้อผ้าในอดีตมาเล่าเรื่องให้คนเข้าใจว่า ทำไมในอดีตคนถึงแต่งตัวแบบนี้ เราคุยกัน หัวหน้าบอกว่าคุณยังสนใจในเรื่องของประวัติศาสตร์อยู่ คุณอาจสนใจคุยกับพวกภัณฑารักษ์คนที่ทำงานในวงการนี้ เพราะว่ามันสามารถเอาประวัติศาสตร์ส่วนที่เป็น Creative Fashion มานำเสนอได้

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดว่ากลับมาทำงานแบบนี้ได้ เอาศิลปะมารวมกับวัฒนธรรม ตอนนั้นสนใจว่า อยากกลับมาทำงานด้านอนุรักษ์ อยากเอาส่วนที่เป็นครีเอทีฟ ศิลปะ หรือแฟชั่น ย้อนกลับไปในอดีตให้คนเข้าใจว่า เรามาถึงตรงนี้ได้อย่างไรอีกส่วนหนึ่งเรารู้สึกว่า ไม่ได้เข้าใจตัวเองเท่าไรเลยอยากเข้าใจตัวเอง เข้าใจความเป็นไทย อยากพูดภาษาไทย อยากรู้จักคนไทยมากขึ้น

 

การทำงานระหว่างคนไทยกับที่นิวยอร์กมีความแตกต่างเยอะไหม

เยอะมาก คนที่นิวยอร์กเขาจะอยู่กับตัวเอง ไม่ค่อยมีความคุ้นเคยเป็นส่วนตัวเท่าไร ชอบบรรยากาศการทำงานที่เมืองไทยมากกว่า คือใช้เวลาพอสมควร แต่ก็สนุก เพราะคนไทยอบอุ่น มีการช่วยเหลือกัน แม้โดยส่วนตัวจะไม่ได้ใกล้ชิดกัน แค่ฝากให้ช่วยดูแลเพื่อน คนไทยก็จะดูแลเต็มที่เลย มีความอบอุ่น ซึ่งที่อเมริกาไม่มี

 

 

ทูลกระหม่อมแม่ให้คำแนะนำอย่างไรบ้างในเรื่องการทำงาน หรือการกลับมาอยู่ในสังคมไทย

แม่ให้คำแนะนำคือ การจะทำงานร่วมกันต้องให้เกียรติกัน อันนี้เป็นเรื่องหลักเลย ต้องให้เกียรติคน ทุกคนมีส่วนในการผลักดันองค์กร ทุกคนสำคัญหมด มีบทบาทหน้าที่ต่างกัน เราต้องให้เกียรติในจุดนี้ สิ่งที่คิดอาจไม่ตรงกันก็ได้ แต่ก็ต้องฟังไว้ก่อน เราต้องยอมรับในบางจุด ถ้าสิ่งที่เราเสนอผิด และสิ่งที่คนอื่นเสนอนั้นสำคัญกว่า เราก็ต้องยอมรับความคิดเห็นคนอื่น

 

โครงการแรกๆ ที่ทำในเมืองไทยคืออะไร

ช่วงแรกยังเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ก่อน เลยเข้าไปทำหลายอย่าง ก็ไปทำเรื่องมรดกโลก เพราะเราถนัดภาษาอังกฤษและการเขียน เลยสนใจวิธีว่า จะเอาประวัติศาสตร์มาเขียนให้คนสนใจอย่างไร จากนั้นเริ่มไปประชุมเยอะ เริ่มเจาะลึก และทำให้เราเข้าใจว่าตัวเองสนใจทางด้านไหน เหมือนเบื้องต้นเป็นการเรียนรู้ ทดลอง เข้าไปดูแหล่ง เข้าไปดูงาน ก่อนที่จะไปเจาะลึก ก็เป็นปีเลย เพราะต้องเข้าใจว่า ถ้าคนทั่วไปไม่เคยเห็นแหล่งนี้ แล้วเราก็ต้องใช้ประโยคเดียวเพื่อจะเขียนว่า ทำไมแหล่งนี้ถึงสำคัญ มันยากนะต้องเข้าใจวัฒนธรรมของแหล่ง เข้าใจความเป็นมาของแหล่ง ว่าแต่ละยุคมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เชื่อมกันอย่างไร ก็ต้องคุยกับนักโบราณคดีหรือนักประวัติศาสตร์คุยกับชุมชน เอาข้อมูลทั้งหลายมาประกอบเป็นภาพใหญ่ขึ้นมา ให้คนเข้าใจว่า แหล่งนี้สำคัญอย่างไร

 

ช่วงนี้คนไทยให้ความสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น โครงการวังน่านิมิตถือว่ามาถูกจังหวะพอดี  

ความเป็นมาของโครงการนี้คือ ไปสัมมนา ได้คุยกับคน ก็เริ่มเห็นว่า ข้อมูลมันเยอะ ถ้าเราพัฒนาด้านอนุรักษ์ตึกอย่างเดียวมันไม่พอ การจะอนุรักษ์มันมีหลายส่วน

ส่วนหนึ่งคือ การอนุรักษ์ตัวอาคาร หรือสิ่งที่จับต้องได้ อีกส่วนคือ ความรู้สึกที่อยู่ในจิตใจว่าเมื่อก่อนสร้างตึกนี้ขึ้นมาเพราะอะไร ทำไมถึงวางผังอย่างนี้ คนไทยมีความเชื่อเยอะมากเกี่ยวกับการวางผัง มีความรู้สึกของคนเยอะ เป็นความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่เราสั่งสมไว้

 

วังหน้าสำคัญอย่างไร ทีมงานจึงอยากนำเสนอนิทรรศการวังน่านิมิต

เราจะเน้นสิ่งที่คนอาจจะไม่ค่อยนึกถึง ในช่วงนั้นอยากทำโครงการให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ คล้ายๆ กับการตีความ เอาข้อมูลทั้งหมดที่เรามีอยู่ในกรมศิลป์ฯ เข้าถึงคนด้วยวิธีที่เข้าใจง่าย ให้คนเห็นความสำคัญในสิ่งที่เขาไม่เคยคิดว่ามันสำคัญ

มีการคุยกับคนที่สำนักฯ หลายครั้งว่า ก่อนนี้เคยมีโครงการวังหน้า และมีข้อมูลเยอะ เราก็ไม่เคยทราบว่า เมื่อก่อนมันใหญ่โตถึงขนาดนี้ ความเป็นมาของวังหน้าเป็นอย่างไร ทำไมสถาปัตยกรรมที่เราเห็นทั้งหมดถึงคล้ายกับสมัยอยุธยา เราก็คิดว่า โครงการนี้ขอเอามาทำต่อได้หรือเปล่า จะทำให้มันเข้าถึงคนได้ง่าย โดยการใช้เครื่องมือที่ร่วมสมัยใช้เทคโนโลยีที่เด็กเข้าใจให้มันสนุก มีสีสัน ทำให้รู้สึกว่า เป็นของที่ไม่นิ่ง เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เป็นการขอทำต่อในแง่ของการตีความ ก็คือเอาข้อมูลแต่ละมุมมาใช้ โดยการเล่าเรื่องใหม่และใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้เข้าถึงคนได้ง่าย

 

วังหน้ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์วังหน้าถือว่ามีอำนาจและบทบาท
เยอะมาก แต่คนสมัยนี้ไม่ค่อยรู้ ถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์ตรงนี้ แล้วเราจะรู้ความสำคัญของ
กรุงรัตนโกสินทร์ได้อย่างไร ถ้าจะเข้าใจความเป็นกรุงเทพฯ​ ก็ต้องเข้าใจหน้าที่ของวังหน้าด้วย

 

คุณใหม่เป็นคนเริ่มต้นนิทรรศการนี้ด้วยตัวเอง  

ไม่ได้เป็นคนเริ่มต้น เอาเครดิตไปไม่ได้เลย เพราะว่าโครงการนี้คนเก่งเยอะมากเลย คนเข้ามาช่วยเยอะ มีการดึงคนมาจากหลายสำนัก เราก็ต้องเข้าใจหลายๆ มุมมอง ทั้งของนักสถาปัตย์ ภูมิสถาปนิก นักประวัติศาสตร์ ภัณฑารักษ์ มุมมองของแต่ละคนสำคัญเท่ากัน ตอนที่จะเริ่มทำนิทรรศการก็ต้องใช้เวลาคุยกับทุกคนว่า มุมมองเขาคืออะไร คิดว่าข้อมูลที่เก็บสั่งสมเอาไว้จะทำให้คนเข้าใจได้อย่างไร ควรจะเอาอันไหน ต้องอธิบายในแง่ไหน ใช้เครื่องมืออะไร แล้วก็เริ่มสะสมภาพถ่ายเก่า ภาพถ่ายฟิล์มกระจก ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันมาจากการช่วยเหลือของทุกคน ต้องให้เครดิตทุกคนในโครงการนี้

 

ทำไมเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ในนิทรรศการนี้

บางทีเราอาจจะคิดว่า ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่ได้ตลอด ไม่ต้องกังวล แต่จริงๆ มันหายได้ เช่น อิรักที่มีการเข้าไปทุบพิพิธภัณฑ์ทิ้ง ประวัติศาสตร์ที่อยู่มาเป็นพันปีหายไปหมดภายในหนึ่งวัน เราก็ต้องคิดว่า ถ้าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เราไม่ได้เห็นกับตา เราจะทำให้มันคงอยู่ต่อไปได้อย่างไร ให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างไร

 

อีกอย่างหนึ่ง เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่เข้าใจกันดี ทุกคนมีไอแพด ไอโฟน ทุกคนเข้าใจว่า มันเป็นเครื่องมือที่สามารถเก็บข้อมูลทั้งหมดต่อไปในอนาคตได้ บางทีในวันข้างหน้า ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างหายไปหมดแล้ว แต่เรายังมีเครื่องมืออย่าง AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality) เอามาใช้ในเรื่องของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมันก็กลับขึ้นมาใหม่ได้ สร้างความสัมพันธ์กับคนได้ มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนเข้าถึงได้อย่างสนุกและมีความร่วมสมัย

 

ในมุมมองของคุณใหม่ ทำไมเราต้องเรียนรู้และดำรงประวัติศาสตร์ไว้

identity ความเป็นตัวตนเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราไม่เข้าใจว่า เรามาจากไหน มาอยู่ในสถานที่นี้ได้อย่างไร ถ้าเขาไม่รู้สึกว่ามี identity แล้วเขาจะสู้เพื่ออะไรทำอะไรเพื่ออะไร และจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพื่ออะไร แบบนี้จะพัฒนาตัวเองได้อย่างไร นี่แหละประวัติศาสตร์ถึงสำคัญ เพราะถ้าประวัติศาสตร์หายไป มีหลายคนที่รู้สึกว่า เขาเสียตัวตนของตัวเองไป ก็จะอยู่ในโลกนี้ด้วยความไม่เข้าใจ

 

วังหน้าสำคัญอย่างไรในแง่ของสถาปัตยกรรม

เป็นพระราชวังที่อยู่ด้านหน้าที่สำคัญมากในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช เช่น สมัยรัชกาลที่ 4 ก็เป็นที่ประทับของ Second King  (พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2) หรือพระบาทสมเด็จ-
พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

วังหน้ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ซึ่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์วังหน้าถือว่ามีอำนาจและบทบาทเยอะมาก แต่คนสมัยนี้ไม่ค่อยรู้ ถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์ตรงนี้ แล้วเราจะรู้ความสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ได้อย่างไร ถ้าจะเข้าใจความเป็นกรุงเทพฯก็ต้องเข้าใจหน้าที่ของวังหน้าด้วย

 

ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่นิ่ง เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากมุมมองเดียว แต่ประกอบขึ้นจากหลายทัศนะ นี่คือประเด็นสำคัญ ถ้าจะเข้าใจประวัติศาสตร์ต้องใจกว้างและต้องเข้าใจว่า เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ ถ้าไปค้นหาข้อมูลใหม่ แล้วทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด ก็ไม่ใช่เรื่องผิด

 

ย้อนกลับไปตอนเด็ก คุณใหม่บอกว่า ได้กลับมาเมืองไทยบ่อยๆ ได้พบเห็นโบราณสถานและสถาปัตยกรรมมากมาย มีอะไรที่คุณใหม่ชอบ หรือมีเรื่องราวของยุคไหนที่ชอบเป็นพิเศษไหม

เรารู้สึกว่า เมืองไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและจริงๆ สนใจเรื่องอยุธยาพอสมควร ขนาดพูดถึงยังต้องระบุว่าสมัยไหน เพราะเป็นยุคที่ยาวนาน 400 กว่าปี มันไม่เหมือนกันในแต่ละยุค หากเทียบกับยุคในละคร บุพเพสันนิวาส ก็คือเป็นช่วงที่เจริญเปิดให้ต่างชาติเข้ามา รับนวัตกรรมจากเมืองนอกเข้ามาเยอะขึ้น เลยเป็นช่วงที่มีความน่าตื่นเต้น

 

ตอนเด็กๆ เวลานึกถึงประวัติศาสตร์จะนึกถึงช่วงแบบนี้ อยากรู้ว่า เมื่อก่อนเคยเป็นแบบไหน อย่างที่วัดไชยวัฒนาราม เขาก็พูดกันว่า เมื่อก่อนจะมีสีแบบนี้ องค์ปรางค์ประธานเคยมีทองปิด ถ้าตอนพระอาทิตย์ตกดินคงจะสวยมาก  

 

ตอนนี้มีเครื่องมือเยอะขึ้น บางครั้งเราสนใจจะนำเรื่องนั้นมาตีความใหม่ เป็นภาพที่คนเข้าถึงได้

 

คุณใหม่สนใจเมืองเก่าในอดีตมากกว่าที่จะมองเมืองในอนาคตแบบ futuristic อะไรพวกนั้น

เป็นคนชอบอดีตมากกว่า แต่ถ้าถามว่ามันเกี่ยวข้องกันไหม มันก็เชื่อมกัน เช่น การวางแผนเมือง ถ้าจะทำงานตรงนี้ให้ได้ดี ก็ต้องมองย้อนกลับไปในอดีต ต้องเข้าใจว่า ทำไมสถานที่นี้ถึงตั้งแบบนี้ วางผังแบบนี้ ความสำคัญของแต่ละตึกคืออะไร ความเชื่อที่เข้าไปเกี่ยวข้องคืออะไร ถ้าเอาตึกตึกหนึ่งออกไป ความรู้สึกกับความเชื่อที่เกี่ยวข้องกันจะหายไปหรือเปล่า ความรู้สึกของคนและวัฒนธรรมที่อยู่ในสถานที่จะหายไปไหม เราก็ต้องคิดด้วย

 

คุณใหม่มองว่าประวัติศาสตร์ปรับเปลี่ยนได้ 
เมื่อมีการขุดพบข้อมูลใหม่ๆ ที่นำไปสู่การตีความใหม่อย่างสมเหตุสมผล

ถ้าจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้เข้าใจ เรื่องสำคัญที่จะพยายามย้ำตลอดเลยคือ ถ้ายกเรื่องสถาปัตยกรรม การแสดง หรือจิตรกรรมอะไรก็ตาม มันคือเครื่องมือการแสดงตัวตนในบริบทของสิ่งแวดล้อมนั้นๆและสิ่งที่สื่อออกมาก็มีหลายมุมตามสถานการณ์ เราก็ต้องเข้าใจให้หมด

 

ถ้าพูดให้ลึกกว่านี้ ประวัติศาสตร์คือ คอลเล็กชันของเรื่องที่เราอยากจะเก็บไว้ในความทรงจำ เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งของภาพใหญ่ การบันทึกประวัติศาสตร์ตามสื่อต่างๆ ถือเป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง ศิลปะการแสดงทั้งหลายเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะมันสะท้อนมุมมองของคนในช่วงนั้น ถ้าจะเข้าใจภาพทั้งหมด ก็ต้องเข้าไปศึกษาองค์ประกอบย่อยส่วนนี้ด้วย

 

ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่นิ่ง ไม่ได้เกิดขึ้นจากมุมมองเดียว แต่ประกอบขึ้นจากหลายทัศนะ นี่คือประเด็นสำคัญ ถ้าจะเข้าใจประวัติศาสตร์ต้องใจกว้างและต้องเข้าใจว่า เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ ถ้าไปค้นเจอข้อมูลใหม่ แล้วทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดก็ไม่ใช่เรื่องผิด

 

คุณใหม่ได้พบอะไรน่าตื่นเต้นระหว่างค้นคว้า
และเตรียมงานโครงการวังหน้าบ้างไหม

ในเนื้อหาของนิทรรศการเราจะพูดถึงสถาปัตยกรรมในเขตวังหน้าที่ไม่มีอยู่แล้ว เช่น พลับพลาสูง มีหลายคนรวมทั้งภัณฑารักษ์ที่พูดว่า เมื่อก่อนหากันนาน 
5 ปี พยายามหาภาพเก่าของพลับพลาสูงอย่างไรก็ไม่เจอ ไม่ทราบว่าหน้าตาแบบไหน แต่แล้วก็หาเจอ เขาก็ตกใจกันว่า ไม่เคยได้เห็นมาก่อน แต่ทีมงานก็ไปเจอจากหนังสือ Unseen Siam ของริเวอร์บุกส์มีนิทรรศการที่จัดไว้ที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ พอเราเจอรูปจากหนังสือ เราก็เอ๊ะ นี่ก็คืออันที่เราหานี่สำหรับคนที่ชอบภาพถ่ายเก่า เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก เราได้เห็นว่า รายละเอียดของตึกเป็นอย่างไร พลับพลาสูงสวยอย่างไร พระที่นั่งคชกรรมประเวศสวยอย่างไร

 

พลับพลาสูงเป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า-
เจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการสำรวจทัศนียภาพรอบๆ แล้วพระที่นั่งคชกรรมประเวศมีความสำคัญอย่างไรบ้าง

จริงๆ ที่วังหลวงก็มีโครงสร้างอาคารในลักษณะเดียวกันคือ ยอดเป็นปราสาท เป็นลักษณะเฉพาะทางสถาปัตยกรรมที่ระบุถึงพระมหากษัตริย์ แต่ที่มีที่วังหน้าด้วย เพราะรัชกาลที่ 4 ทรงยกย่องให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นเสมือนพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 จึงสร้างสถาปัตยกรรมที่มีฐานานุศักดิ์เป็นยอดปราสาทเหมือนของพระมหากษัตริย์ได้  

 

นอกจากอาคารสองหลัง ยังเจอสิ่งสำคัญอื่นอีกไหม

มีเยอะเลย ถ้าเทียบผังในยุคสุดท้ายสมัยรัชกาลที่ 4 หรือรัชกาลที่ 5 กับตอนนี้ จะเห็นว่า ผังในตอนนี้แทบจะเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้น อย่างส่วนใหญ่ของธรรมศาสตร์ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของวังหน้า เป็นพื้นที่ฝ่ายใน ที่หายไปเยอะคือ พื้นที่ฝ่ายในของผู้หญิง อาทิ พระที่นั่งรังสรรค์จุฬาโลก ที่มีโครงสร้างคล้ายกับอาคารในสมัยอยุธยา คล้ายเก๋งจีนที่มีน้ำล้อมรอบ ปัญหาคือ เราไม่ค่อยมีภาพถ่ายพื้นที่ด้านในให้เป็นข้อมูลในการศึกษา อาคารเหล่านี้สร้างด้วยไม้ เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่เหลือหลักฐานให้สืบค้น

 

ประเด็นสำคัญที่นักวิชาการในกรมศิลป์ฯ 
พูดเหมือนกันคือ เมื่อพื้นที่เดิมมีการปรับใช้
เพื่อจุดประสงค์ใหม่ การจะบูรณะหรือสืบค้น
หลักฐานเพิ่มเติมทำได้ยากกว่าพื้นที่อื่นๆ

บางทีเราก็ต้องพูดคุยว่า แต่ละฝ่ายอยากได้แบบไหน อย่างที่บอกว่า แหล่งหนึ่งไม่ใช่ว่าเราจะเลือกได้ว่าเราจะเก็บความทรงจำอะไรไว้ ประวัติศาสตร์ของแหล่งจะมีหลายช่วง แต่เราก็ต้องมาพิจารณาว่า ที่คนมีความผูกพันกับแหล่งเป็นแบบไหน จริงๆ ทุกส่วนมีความสำคัญหมด แต่ในบางกรณีก็ต้องมีการตัดสินใจว่า เราจะเลือกเก็บอะไรไว้ เป้าหมายคืออะไร แล้วเราจะไปถึงเป้าหมายอย่างไร

 

ตอนไปประชุมที่อินเดีย หัวหน้าโครงการหนึ่งที่เนปาลเล่าว่า ที่อัปเปอร์ มุสตางเคยมีโครงการบูรณะชุมชนที่อยู่ริมน้ำ แล้วปรับพื้นที่ใหม่ คนในชุมชนยังจำพื้นที่ไม่ได้เลย คนย้ายออกจากพื้นที่ไปที่ใหม่ได้สักพัก ก็ไม่ยอมอยู่ กลับไปที่เดิม สำหรับคนในพื้นที่ นี่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์แบบที่เขาเคยรู้จัก

 

เราต้องมาคิดว่า แม้จะเก็บประวัติศาสตร์ช่วงที่คิดว่าควรบันทึกไว้ แต่ถ้าเราไม่พิจารณาเรื่องความรู้สึกของคนด้วย ประวัติศาสตร์จะเหลือแค่ส่วนเดียว หัวใจของตึกอาจจะไม่ได้ไปด้วย มันก็ไม่ตอบโจทย์

 

 

นิทรรศการนี้จะช่วยทำให้คนเข้าใจเรื่องบทบาทการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ของชาติเพิ่มขึ้นไหม

ก็มีหลายส่วนที่เราพยายามตั้งใจให้เกิดผลแบบนั้น โครงการวังหน้ามีข้อมูลของกรมศิลป์ฯ ที่หลากหลาย เราอยากเชื่อมข้อมูลของเรา อยากเชื่อมกรมศิลป์ฯ กับทุกส่วน ถ้าจะเอาข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงคน จะเข้าไปวิธีไหนให้เข้าถึงได้ง่าย มีปฏิสัมพันธ์ ให้เขาเห็นว่า ไม่ใช่แค่สิ่งที่อยู่ในหนังสือ แต่สามารถดึงมาวิเคราะห์ เล่นกับมันได้หมด และเมื่อไรที่เขาอยากจะได้ข้อมูลเอาไปวิเคราะห์เพื่อทำงานก็เอาไปได้ และที่สำคัญ อยากให้คนตั้งคำถาม และคนคุยกัน เพราะถ้าไม่คุย ไม่วิเคราะห์ ประวัติศาสตร์จะไม่มีความต่อเนื่อง

 

บางคนรู้ว่าตรงนี้คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแต่ไม่รู้ว่าที่นี่เคยเป็นวังหน้า หลังจากเผยแพร่นิทรรศการนี้ คุณใหม่อยากจะต่อยอดอย่างไร  

จริงๆ แล้วโครงการวังหน้านี้ ประกอบด้วยนิทรรศการสองส่วน นิทรรศการแรกจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะเป็นส่วนที่ทำหน้าที่แนะนำโครงการวังหน้า และตัววังหน้าเองด้วย โดยหลังจากนิทรรศการวังน่านิมิตที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ จบลง นิทรรศการจะถูกย้ายกลับมาจัดแสดงยังบ้านที่แท้จริง ก็คือวังหน้าที่ในปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช่วงประมาณปลายปีนี้ และจะเป็นการจัดแสดงระยะยาว ซึ่งจะแตกต่างจากครั้งที่จัดแสดงที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ ตรงที่เราทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อที่จะผสานมุมมองของการจัดแสดงแบบถาวรเข้ามาด้วย

 

ส่วนในระยะยาว อยากทำเรื่องนี้ต่อไป เพราะเรื่องของวังหน้าเราสามารถค้นหาข้อมูลใหม่ๆได้ทุกวัน ไม่ใช่แค่เรื่องผังเมืองหรือสถาปัตยกรรมเท่านั้น แค่เรื่องสถาปัตยกรรมก็ทำได้ 5-10 ปีแล้ว จริงๆ ยังสามารถทำโครงการเจาะลึกเรื่องศิลปะการแสดงเฉพาะวังหน้าได้ เพราะมีเรื่องราวน่าสนใจ มีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยมาก มีหลายเรื่องเลยจริงๆ อยากให้โครงการนี้ไปได้ตลอด แต่ละนิทรรศการทำให้คนดูเห็นแต่ละมุม ก็คือวางพื้นฐานก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มความรู้สร้างเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ค่อยๆก่อเป็นภาพใหญ่ขึ้นมาทีละน้อย แล้วสุดท้ายคนดูจะเข้าใจภาพรวม

 

ทราบว่าคุณใหม่ได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับสมเด็จ-
พระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงให้คำแนะนำอย่างไรบ้าง

ท่านทรงมองว่า การชอบทำงานเป็นเรื่องที่ดีมากอาจเป็นในแง่ความตั้งใจทำงาน ไม่ยอมแพ้ง่ายๆทำอะไรต้องตั้งใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำไปแค่ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ก็แค่ครึ่งทาง ดังนั้นถ้าตั้งใจต้องตั้งใจหมด ต้องทำจนจบ

ตอนเด็กๆ จำได้ว่า เคยไปคุยกับพระ มีประโยคหนึ่งถ้าเป็นภาษาอังกฤษจะบอกว่า If you quit one time, you will quit the rest of your life. แม้ว่าอะไรจะยากก็ต้องทำต่อไป เพราะถ้าเลิกตอนนี้ก็จะมีครั้งต่อไปอีก ยิ่งเป็นงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมแบบนี้ มันยาก ความตั้งใจ ความรักในงานก็ต้องสูง ต้องทำจนถึงสุดท้ายเลย มีความรับผิดชอบ ให้เกียรติคน ให้เกียรติทุกฝ่าย ให้เกียรติตัวเอง  

 

โครงการวังหน้าในตอนนี้ถือว่าคุณใหม่ค้นพบแล้ว
ว่าเป็นสิ่งที่เราชอบ

ชอบ ตอนแรกก็มีความกลัวเหมือนกัน เวลาที่เราต้องเปลี่ยนแปลงชีวิต แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็ทำให้ทราบว่า นี่เป็นสิ่งที่ชอบทำ และชอบนิสัยของคนที่อยู่ในวงการนี้ เพราะความตั้งใจของคนกลุ่มนี้สูง เขารักประเทศ รักวัฒนธรรม และเข้าใจว่า มันเป็นงานที่ใช้เวลาและไม่ง่าย ถ้าไม่รักก็ทำยาก ต้องใจเย็นๆ ต้องเข้าใจคนอย่างดี คือไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหนก็ควรจะไปทำงานกับคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้เรา บางทีในวงการหลายๆ คนก็มอบสิ่งนี้ มันเลยทำให้เราอยากทำงานตลอด ยังไม่คิดที่จะเปลี่ยน  

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising