ผมและภรรยามีนิยามของคำว่าเพื่อนที่แตกต่างกัน ด้วยความที่ตัวผมเป็นคนที่ค่อนข้างชอบเข้าสังคม และมักจะได้พลังงานจากการพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่น พูดง่ายๆ ก็คือผมเป็นคน Extrovert ผมจึงชอบคิดว่าผมมี ‘เพื่อน’ เต็มไปหมด คนนั้นก็เพื่อน คนนี้ก็เพื่อน
แต่ภรรยาของผมที่เป็นคนที่ชอบใช้เวลาอยู่คนเดียวมากกว่า และมักจะถูกดูดพลังไปเวลาที่เธอต้องเจอกับคนเยอะๆ ภรรยาของผมเป็นคน Introvert นั่นเอง และมักจะบอกกับผมว่าหลายๆ คนที่ผมคิดว่าเป็นเพื่อนนั้น ในนิยามของเธอพวกเขาไม่ใช่ ‘เพื่อน’ แต่เป็น ‘คนรู้จัก’
สำหรับภรรยาของผม นิยามของคำว่า ‘เพื่อน’ เป็นอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่าแค่ความรู้จักกัน เพราะ ‘Friendship is something you earned …’
‘ความเป็นเพื่อนเป็นอะไรที่คุณควรจะได้มาจากความพยายามเท่านั้น’
ซึ่งผมก็เพิ่งเริ่มจะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งเมื่อไม่นานมานี้หลังจากที่มีโอกาสอ่านหนังสือของ Brene Brown เกี่ยวกับ Shame หรือเรื่องที่เราละอายใจ
ในหนังสือ The Gift of Imperfection เธอเขียนเล่าไว้ว่า คุณจะโชคดีมากถ้าคุณมีเรื่องละอายใจบางอย่าง เมื่อไปเล่าให้เพื่อนฟังถึงความละอายใจนั้น แล้วเพื่อนของคุณไม่ทำดังต่อไปนี้
1. เพื่อนที่รู้สึกตกใจในสิ่งที่คุณละอายใจแล้วตอบกลับมาว่า “สมควรแล้วที่รู้สึกอย่างนี้” เพราะแทนที่คุณจะรู้สึกดีขึ้นจากความรู้สึกถึง Connection หรือความสัมพันธ์ที่คุณมีกับเพื่อน คุณกลับมาต้องรู้สึกแย่และละอายใจมากกว่าเดิม แถมยังอาจจะต้องพยายามทำให้เพื่อนคุณรู้สึกดีขึ้นจากความละอายใจของคุณอีกด้วย
2. เพื่อนที่แทนที่จะมี Empathy (ความเข้าใจและการมีอารมณ์ร่วมไปกับเราด้วย) กลับมี Sympathy หรือความสงสารแทน (“กูสงสารชีวิตมึงจังเลยว่ะ”) และหลังจากให้ความสงสารกับคุณเสร็จก็เปลี่ยนเรื่องคุย
3. เพื่อนที่พอคุณเล่าให้ฟังถึงความละอายใจ เขาคนนั้นกลับรู้สึกละอายใจในตัวของคุณเอง (“กูไม่เคยคิดเลยว่ามึงจะเป็นคนอย่างนี้ได้ ไม่เคยเลยจริงๆ”)
4. เพื่อนที่ไม่ชอบที่คุณเอาเรื่องที่ทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจมาเล่าให้ฟัง และเขาทำได้อย่างเดียวคือทำให้คุณรู้สึกแย่ลงไปอีก (“นี่เธอปล่อยให้เรื่องมันบานปลายอย่างนี้ได้ยังไง”)
5. เพื่อนที่ไม่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกแย่ๆ ที่คุณกำลังรู้สึกอยู่ และทำได้อย่างเดียวก็คือการบอกกับคุณว่า “มันไม่ได้แย่อย่างที่เธอบอกมาหรอก แค่นี้เอง ปัญหาเล็กน้อยจะตาย”
6. เพื่อนที่ถือโอกาสใช้ความละอายใจที่คุณกำลังรู้สึกอยู่ทำให้คุณรู้สึกว่าเขาอยู่เหนือกว่าคุณ (“โธ่เอ๊ย แค่นี้เอง กูเจอมาเยอะกว่ามึงเยอะกูยังไม่เคยบ่นเลย”)
Brene Brown เขียนเอาไว้ว่า คนพวกนี้ไม่ใช่ ‘เพื่อน’ ที่แท้จริง เพราะสิ่งที่เขาทำในขณะที่เรากำลังทุกข์ใจสุดขีดต่างเป็นการกระทำที่ตัดสายสัมพันธ์ทางความรู้สึกกับเราทั้งนั้น
เธอบอกว่า ถ้าเธอกำลังรู้สึกละอายใจอยู่ เธอต้องการเพื่อนที่รับฟังแล้ว Connect กับความรู้สึกของเธอเท่านั้น และแค่ Ride The Wave หรือโต้คลื่นของความละอายใจที่กำลังกระหน่ำอยู่ไปกับเธอเท่านั้นก็พอ
เธอบอกว่า “Friends are those who accept us not despite of our imperfections, but because of it.”
สำหรับเธอ ‘เพื่อน’ คือคนที่ยอมรับในตัวเรา ไม่ใช่เพราะเขาสามารถทนความไม่เพอร์เฟกต์ของเราได้ แต่เพราะความไม่เพอร์เฟกต์ของเราต่างหากที่ทำให้เขาอยากเป็นเพื่อนกับเรา
และถ้าเรามีคนอย่างนี้แค่คนเดียวในชีวิตของเรา ชีวิตของเราก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว
ภาพประกอบ: Dreaminem
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า