×

ตลาดหลักทรัพย์เตรียมปรับเกณฑ์การจัดทำดัชนีใหม่ โดยนำ Free Float เข้าคำนวณ

20.01.2021
  • LOADING...
ตลาดหลักทรัพย์

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเตรียมทบทวนหลักเกณฑ์และมาตรการเกี่ยวกับเกณฑ์การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ต่ำ เพิ่มเติม หลังจากที่ได้ทบทวนล่าสุดในปี 2560 

 

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจะปรับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการคำนวณดัชนี จากเดิมที่ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณ (Full Market Capitalization) เป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วย Free Float (Free Float Adjusted Market Capitalization) เพื่อให้ดัชนีสามารถสะท้อนสภาพการณ์ตลาดได้ดีมากขึ้นและเป็นไปในแนวทางเดียวกับสากล

 

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะหารือกับผู้เกี่ยวข้องและผู้ร่วมตลาด เพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนดำเนินการต่อไป

 

โดยก่อนหน้านี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)​ ได้ประสานไปยังตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ Free Float ของบริษัทจดทะเบียนให้สามารถซื้อขายได้อย่างคล่องตัวในราคาที่เหมาะสม และพิจารณาทบทวนมาตรการขึ้นเครื่องหมายเตือนผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นที่มี Free Float ต่ำ รวมถึงมาตรการอื่นใด เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน

 

โดยหลักเกณฑ์ Free Float เป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งหลักเกณฑ์ข้างต้นมีความสำคัญอย่างมากต่อสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียน และยังเป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์การคัดเลือกหลักทรัพย์สำหรับดัชนี SET50, SET100 และ SETHD อีกด้วย

อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีการปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2551 จึงเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ควรพิจารณาทบทวนว่าหลักเกณฑ์ข้างต้นยังสามารถสะท้อนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างแท้จริงอยู่หรือไม่ เนื่องด้วยสภาวะตลาดปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไป

 

จากตัวอย่างกรณีของราคาหุ้น DELTA ที่ในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ประสานไปยังตลาดหลักทรัพย์ ขอให้ติดตามสภาวะการซื้อขายของหลักทรัพย์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและป้องกันการบิดเบือนราคาและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ให้ผิดไปจากสภาพปกติ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 แล้วนั้น

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising