ทำงานมาตลอด 5 วัน ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ในที่สุดก็จะได้หยุดสักที แต่วันหยุดแค่ 2 วันจะไปทำอะไรได้ทัน ทั้งธุระมากมายที่ต้องสะสาง ครอบครัวที่ต้องดูแล สุดท้ายก็ไม่มีเวลาให้ตัวเอง และนำไปสู่การเบิร์นเอาต์ในที่สุด
ถ้าคนเราทำงานแค่ 4 วันต่อสัปดาห์จะเป็นอย่างไร?
เมื่อเกิดคำถามแล้วก็ต้องลองดู จึงเกิดเป็นโครงการนำร่องที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรในสหราชอาณาจักร ที่ร่วมมือกับ 3 สถาบันดังอย่างมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และวิทยาลัยบอสตัน
โครงการนำร่องนี้มีกว่า 70 องค์กรมาเข้าร่วม ตั้งแต่องค์กรเกี่ยวกับการเงินไปจนถึงร้านอาหารธรรมดา พนักงานกว่า 3,300 คนในโครงการจะถูกลดเวลาการทำงานลงเหลือ 80% ของเวลาทำงานปกติ หรือก็คือจาก 5 วันต่อสัปดาห์ เหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ โดยที่ค่าตอบแทนยังคงเดิม แต่ต้องสัญญากันว่า แม้จะลดเวลาลงแล้ว แต่ต้องทุ่มเททำงานให้เต็มที่ไม่มีแผ่ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สหราชอาณาจักรนำร่องทดลองโครงการ ‘การทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่มีการลดค่าจ้าง’ ครั้งใหญ่สุดของโลกแล้ว
- ทำงาน 5 วันเชยไปแล้ว เมื่อ Panasonic ในญี่ปุ่นประกาศให้พนักงานสามารถทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ได้
- พนักงานใน สหราชอาณาจักร ที่ได้ทดลอง ‘ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์โดยไม่หักเงิน’ พบว่า มีความสุข สุขภาพดี และทำงานได้ดีขึ้น
แม้ในช่วงแรกจะมีความกังวลเกิดขึ้นว่าการลดเวลาทำงานลง 20% จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานลดลง และทำให้ลูกค้าไม่พอใจหรือยกเลิกการติดต่อซื้อขายกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปครึ่งทางของโครงการ กว่า 95% ขององค์กรที่เข้าร่วมล้วนตอบตรงกันว่า ประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขานั้นยังดีดังเดิม บางองค์กรถึงกับเพิ่มขึ้นเลยด้วยซ้ำ และกว่า 86% บอกว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะยึดแนวทางการทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์แบบนี้ตลอดไป และไม่มีองค์กรไหนเลยที่บอกว่าอยากกลับไปทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์อีก
ถ้าพูดถึงประสบการณ์ในการทำงาน ตามรายงานชี้ให้เห็นว่า พนักงานรู้สึกดีกับโครงการนำร่องนี้ ทั้งในแง่จิตใจที่ความเครียดลดลง ความคิดเบิร์นเอาต์ลดลง และในแง่ร่างกายที่ความเหนื่อยล้าและอาการนอนไม่หลับก็ลดลงเช่นกัน และการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ไม่ได้ส่งผลดีแค่กับพนักงานเท่านั้น แต่จากรายงานก็พบว่า รายรับขององค์กรนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 38% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
จอน เลแลนด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของ Kickstarter บริษัทระดมทุนที่ร่วมโครงการนี้ กล่าวว่า นี่คือสถานการณ์ Win-Win ที่แท้จริง เขากล่าวว่า การปรับเปลี่ยนเวลาทำงานเป็น 4 วันต่อสัปดาห์นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธุรกิจและพนักงาน ทุกคนมีสมาธิกับการทำงานมากขึ้น ทุ่มเทกับงานมากขึ้น ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในเดือนมิถุนายนมีการสำรวจของ Gallup ที่สอบถามพนักงานกว่า 12,000 คนทั่วสหรัฐฯ พบว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ทำให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่จำเป็นต้องทำงานออนไซต์ตลอดเวลา และประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด พวกเขายังคงทำงานได้ดีดังเดิม
ฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารระดับสูงแล้ว ทางฝั่งพนักงานเองก็กล่าวตรงกันว่า พวกเขามีสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้น บางคนถึงกับสามารถลดน้ำหนักได้ จากก่อนหน้านี้ที่พวกเขามีภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน เพราะพวกเขามีเวลาที่จะเตรียมอาหารและไปออกกำลังกายที่ยิม
จูเลียต สกอร์ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาของวิทยาลัยบอสตัน กล่าวว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ทำให้องค์กรมีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่สำคัญในตลาดแรงงาน พนักงานส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ไม่เพียงพอ เวลา 2 วันนั้นไม่พอที่จะให้พวกเขาได้สะสางธุระ ดูแลครอบครัว พาลูกหลานไปทำกิจกรรม หรือแม้แต่ใช้เวลาส่วนตัวในการทำอะไรที่อยากทำ
การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์นั้นสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากทีเดียว เมื่อพนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพกายและใจดี ก็พร้อมทำงานและออกมามีประสิทธิภาพ แต่จะมีองค์กรไหนที่ยอมปรับมุมมองและยอมลงทุนกับสิ่งนี้ ก็ต้องรอดูแนวโน้มกันต่อไป
อ้างอิง: