ณ เวลานี้คงไม่มีเพลงไหนฮิตไปกว่าเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย ของ BNK48 ไม่ว่าจะไปไหน เดินผ่านร้านอะไรก็มักจะได้ยินทำนองเพลงนี้ลอยแว่วมาเสมอ และเมื่อเคยฟังแล้วก็ยากเหลือเกินที่จะขจัดเพลงนี้ไปจากหัว สำหรับครั้งนี้เราคงไม่ได้จะมาวิจารณ์ศิลปินหรือวิเคราะห์เพลงแบบถอนรากถอนโคน แค่อยากชวนย้อนประวัติที่มาของ Fortune Cookie หรือ คุกกี้เสี่ยงทาย ขนมในเพลงฮิตติดชาร์ตประจำประเทศไทยกัน
คุกกี้เสี่ยงทาย เป็นแป้งบางกรอบรสหวานที่สอดไส้กระดาษเล็กๆ ซึ่งพิมพ์คำทำนาย ตัวเลขนำโชค หรือข้อความต่างๆ ตามแต่โอกาส และมักจะพบตามร้านอาหารจีนในอเมริกา จนทำให้หลายคนเข้าใจว่าคุกกี้นี้เป็นขนมแบบจีน แต่แท้ที่จริงคุกกี้เสี่ยงทายมีที่มาจากไหนกันแน่ และทำขึ้นเพื่ออะไร?
คุกกี้เสี่ยงทายเป็นหนึ่งในประเด็นทางสังคมและข้อถกเถียงโลกแตก เพราะมีการอ้างที่มาหลายแห่ง ย้อนกลับไปในปี 1909 มาโคตะ ฮากิวาระ (Makota Hagiwara) ผู้อพยพชาวญี่ปุ่นที่มาทำงานเป็นนักจัดสวน เขาเป็นคนออกแบบสวนชา Golden Gate Park Japanese Tea Garden ภายหลังนายกเทศมนตรีซานฟรานซิสโกผู้มีแนวคิดต่อต้านชาวญี่ปุ่นได้ไล่มาโคตะออกจากงาน และในเวลาต่อมานายกเทศมนตรีคนใหม่ก็เรียกมาโคตะกลับมาบรรจุตำแหน่งเดิมอีกครั้ง ด้วยความซาบซึ้งที่มาโคตะมีต่อนายกเทศมนตรีคนใหม่และเพื่อนฝูงคนแปลกหน้าที่ช่วยเหลือและเคียงข้างเขาในช่วงที่ถูกไล่ออกจากงาน ในปี 1914 เขาจึงทำคุกกี้สอดไส้กระดาษโน้ตเล็กๆ ซึ่งมีถ้อยคำขอบคุณจากใจ มาโคตะยังได้แจกจ่ายคุกกี้ของเขาให้กับผู้มาเยี่ยมชมสวนอีกด้วย ทำให้พ่อค้าชาวจีนบางกลุ่มเล็งเห็นโอกาสที่จะสร้างรายได้จำนวนมหาศาลจากคุกกี้เสี่ยงทาย พวกเขาจึงนำไอเดียไปผลิตคุกกี้เสี่ยงทายเองเสียเลย และเป็นที่รู้จักแพร่หลายในอเมริกาในชื่อ San Francisco’s Chinese Fortune Cookie
แต่บางคนกลับเชื่อว่าผู้คิดค้นคุกกี้เสี่ยงทายที่แท้จริงเป็นชาวจีนนามว่า เดวิด จาง (David Jung) ผู้อพยพชาวจีนที่อาศัยในลอสแอนเจลิส และผู้ก่อตั้งบริษัท Hong Kong Noodle Company ซึ่งผลิตคุกกี้เสี่ยงทายชิ้นแรกเมื่อปี 1918 จากการที่เขาเห็นว่ามีคนจนคนยากไร้มากมายในบริเวณใกล้เคียงร้านของเขา เดวิดจึงทำคุกกี้ที่ด้านในสอดไส้แผ่นกระดาษยาวๆ พร้อมข้อพระคัมภีร์ในไบเบิลเพื่อให้กำลังใจ โดยมีผู้รับใช้ (ศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกบุคคลที่อุทิศตัวเพื่อพระเจ้าและปฏิบัติงานในโบสถ์) นิกายเพรสไบทีเรียนเป็นผู้เขียนลงกระดาษ
ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนเห็นว่าเจ้าคุกกี้เสี่ยงทายนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งเป็นยุคที่ผู้คนมอบขนมไหว้พระจันทร์ให้แก่กัน ซึ่งภายในขนมจะสอดข้อความลับเข้าไปด้วย แต่นักคติชนวิทยาชาวญี่ปุ่น ยาสุโกะ นากามาชิ (Yasuko Nakamachi) ได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้คิดค้นคุกกี้เสี่ยงทายหาใช่ใครที่ไหนนอกจากร้านขนมอบเล็กๆ ที่ตั้งอยู่รอบๆ ศาลชินโตบริเวณรอบนอกเกียวโต แต่การแพร่หลายของคุกกี้เสี่ยงทายในอเมริกา จนถูกมองว่าขนมชิ้นนี้เป็นของหวานสัญชาติจีนนั้นเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ระหว่างยุคตื่นทองในแคลิฟอร์เนีย ช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังแสวงหาโชคลาภกันอย่างพัลวันนั่นเอง
ขณะที่ต้นศตวรรษที่ 20 ชาวญี่ปุ่นในแคลิฟอร์เนียเริ่มเข้าใจว่าอาหารของชาติตนนั้นแปลกประหลาดเกินกว่าที่ชาวอเมริกันจะรับประทานได้ ทำให้หลายคนหันไปเปิดร้านอาหารจีนซึ่งมีรสชาติถูกปากกว่าและเข้าใจได้ง่ายกว่า และหลังจากญี่ปุ่นเข้าโจมตีอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ทำให้เกิดคำสั่งที่ 9066 ให้กองทัพอเมริกันมีอำนาจประกาศเขตทหารได้ตามดุลยพินิจ ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นสัญชาติอเมริกันจำนวนมากที่มีกิจการร้านอาหารจีนที่เสิร์ฟคุกกี้เสี่ยงทายถูกสั่งปิดร้าน เป็นเหตุให้คุกกี้เสี่ยงทายกลายเป็นของหายาก กอปรกับทหารอเมริกันในแคลิฟอร์เนียที่ได้ไปทานอาหารในร้านอาหารจีนและเกิดประทับใจในคุกกี้ และได้นำคุกกี้จำนวนหนึ่งกลับบ้านเป็นของฝาก ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ขนมดังกล่าวกลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ และกลายเป็นตัวแทนการมีอยู่ของชาวจีนในอเมริกาในที่สุด
จากแต่เดิมที่คุกกี้เสี่ยงทายเป็นขนมแฮนด์เมดทำขึ้นทีละชิ้นโดยมีตะเกียบเป็นตัวช่วย เมื่อความต้องการขนมเพิ่มมากขึ้น ทำให้กระบวนการผลิตแบบแฮนด์เมดไม่อาจตอบโจทย์ได้ทันอีกต่อไป ท้ายสุดเครื่องจักรสอดไส้กระดาษทำนายและพับแป้งก็ได้เข้ามาแทนที่ 2 มือและคู่ตะเกียบในปี 1964 ซึ่งคิดค้นโดยเอ็ดเวิร์ด ลูอี้ (Edward Louie) จากบริษัท San Francisco’s Lotus Fortune Cookie Company
อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ของเจ้าคุกกี้เสี่ยงทายที่เรารู้จักกันนั้นกลับมีเรื่องชวนหัวให้ต้องเกือบแตกคอกันเชียว เมื่อ 2 เมืองบิ๊กเบิ้มในมลรัฐแคลิฟอร์เนียอย่างซานฟรานซิสโกกับลอสแอนเจลิส ต่างก็อ้างว่าตนนั่นแหละที่เป็นต้นกำเนิดคุกกี้เสี่ยงทาย!
จนกระทั่งปี 1983 มีการตัดสินโดยตุลาการศาลประวัติศาสตร์ (ตุลาการเก๊ที่ไม่ได้มีอำนาจหรือชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ตั้งขึ้นเพื่อตัดสินข้อพิพาทแปลกๆ อย่างการพิสูจน์คำพูดของนักประพันธ์อย่าง มาร์ก ทเวน (Mark Twain) ที่กล่าวว่า “ฤดูหนาวยะเยือกที่สุดเท่าที่เคยสัมผัสคือฤดูร้อนในซานฟรานซิสโก” เป็นความจริงหรือไม่ หรือสูตรค็อกเทลมาร์ตินีเกิดขึ้นที่ไหนกันแน่?) โดยให้ซานฟรานซิสโกเป็นต้นกำเนิดคุกกี้เสี่ยงทายไปโดยปริยาย ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายลอสแอนเจลิสหัวร้อนเป็นพัลวัน และไม่ยอมรับคำตัดสินที่เกิดขึ้น
ปัจจุบันผู้ผลิตคุกกี้เสี่ยงทายรายใหญ่ที่สุดในโลกคือบริษัท Wonton Food Inc. ตั้งที่ Long Island City แถบย่านควีนส์ ในนิวยอร์ก และมีกำลังการผลิตส่งออกทั่วโลกถึง 60 ล้านชิ้นต่อเดือน! และบริษัทฯ เองก็มี Fortune Writer หรือนักเขียนผู้รับหน้าที่ออกแบบและเขียนคำทำนาย (ที่บ้างก็อ่านแล้วชวนหัว) เพื่อจัดพิมพ์ลงกระดาษในคุกกี้เสี่ยงทาย และบางครั้งก็มีการใส่ตัวเลขนำโชค ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ เพราะเมื่อปี 2005 มีผู้เสี่ยงโชคพาวเวอร์บอลลอตเตอรี่กว่า 110 คน ถูกรางวัลรวมมูลค่าทั้งหมดกว่า 19 ล้านดอลลาร์ จากการซื้อลอตเตอรี่ตามเบอร์นำโชคในคุกกี้เสี่ยงทาย และมีการสอบสวนครั้งใหญ่เพื่อหาสาเหตุของความบังเอิญในครั้งนี้ จนกระทั่งทางพาวเวอร์บอลได้ข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญล้วนๆ และยอมจ่ายเงินรางวัลก้อนใหญ่ในที่สุด
อ้างอิง: