×

ต่างชาติแห่ซื้อบอนด์ไทย หวังเก็งกำไรค่าเงินบาท เน้นถือตัวสั้น ขณะพันธบัตรระยะยาวเผชิญแรงขายต่อเนื่อง ดันยีลด์พุ่งสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง

19.01.2022
  • LOADING...
ต่างชาติแห่ซื้อบอนด์ไทย

ตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ปี 2565 เป็นต้นมา เงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตร (บอนด์) ไทยต่อเนื่อง ล่าสุดวานนี้ (18 มกราคม) ซื้อสุทธิอีก 1.4 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดบอนด์ไทยรวมแล้วกว่า  6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิในบอนด์ระยะสั้น 3.3 หมื่นล้านบาท และซื้อสุทธิในบอนด์ระยะยาว 2.7 หมื่นล้านบาท นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องด้วย ซึ่งล่าสุดเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33.10 บาท 

 

อย่างไรก็ตาม แม้เงินลงทุนของต่างชาติจะไหลเข้าพันธบัตรระยะยาวบางส่วน แต่ถ้าดูภาพรวมของตลาดแล้วพบว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ได้ปรับ Position โดยลดการถือพันธบัตรระยะยาวลงเพื่อหันมาถือตัวสั้นแทน จึงทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) รุ่นอายุ 10 ปี ทะยานขึ้นต่อเนื่อง (จากราคาที่ลดลง) โดยวานนี้ปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.05% มาอยู่ที่บริเวณ 2.15% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ที่เพิ่มสูงขึ้นน่าจะเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยและลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากบอนด์ยีลด์ตัวยาวของไทยจะค่อนข้างเซนซิทีฟกับผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.5% เป็น 1.8% ไปแล้ว

 

ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยน่าจะเป็นผลมาจากการที่ผู้เล่นไทยเองมีความกังวลถึงแผนกู้เงินเพิ่มในปีนี้ของรัฐบาล ซึ่งจะมีผลต่ออุปทานในตลาด ทำให้มีการรอ Buy on Dip ขณะเดียวกันอาจมองว่าในจังหวะนี้บอนด์ยังไม่น่าสนใจ คนที่มีของอยู่จึงขายออกด้วย

 

“เราไม่ได้เห็นบอนด์ยีลด์ไทยที่ระดับนี้มานานแล้วเหมือนกัน โอกาสที่จะขึ้นไปได้มากกว่านี้ยังมีอยู่ แต่คงไม่มาก เพราะตลาดรับรู้ปัจจัยเรื่อง Fed ไปมากแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจไทยก็ยังไม่เอื้อ เราน่าจะได้เห็นตัวเลขที่ 2.2%” พูนกล่าว

 

พูนกล่าวอีกว่า คำแนะนำสำหรับนักลงทุนในช่วงนี้ กรุงไทยยังมีมุมมองต่อบอนด์เป็นลบ โดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงไปก่อน เพราะดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะเป็นขาขึ้น ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่มูลค่าตราสารหนี้จะปรับลดลงเมื่อ Mark-to-Market 

 

“การลงทุนในบอนด์ช่วงนี้ควรเป็นการลงเพื่อกระจายความเสี่ยงและมองไปที่กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปีของบ้านเรา เพราะจะได้รับผลกระทบจากบอนด์ยีลด์ไม่มาก ในกรณีที่เป็นกองตราสารหนี้ต่างประเทศควรดูกองที่ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย เป็นกองผสมและมีกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากยีลด์ขาขึ้น” พูนกล่าว

 

สำหรับโฟลวของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดบอนด์ไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทด้วย เนื่องจากเงินบาทในปีที่ผ่านมาอ่อนค่าลงค่อนข้างมาก ประกอบกับเงินเฟ้อของไทยยังต่ำกว่าหลายประเทศในโลก ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรแท้จริง (Real Yield) ของไทยสูงกว่าหลายประเทศทั่วโลก

 

ด้าน จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี กล่าวว่า เท่าที่ลองดูโฟลวในตลาดบอนด์ไทยช่วงนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดจากนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ขายบอนด์ระยะยาวแล้วมาซื้อบอนด์ระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรค่าเงิน เพราะปีที่แล้วเงินบาทอ่อนค่าที่สุดในภูมิภาค ปีนี้หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวก็มีโอกาสที่ค่าเงินจะแข็งขึ้น ส่วนอีกกลุ่มเป็นพวกเฮดจ์ฟันด์ที่พยายามขายบอนด์ออก

 

สำหรับแนวโน้มบอนด์ยีลด์รุ่นระยะยาวของไทยในระยะข้างหน้าคาดว่า ทั้งปีน่าจะเคลื่อนไหวใกล้เคียงบริเวณ 2% และสูงสุดน่าจะไม่เกิน 2.5% เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับ Fed น่าจะถึงจุดพีคช่วงขึ้นดอกเบี้ย ส่วนประเด็นเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เชื่อว่าเดี๋ยวก็น่าจะจบแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังไม่เห็นแผนการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งโดยปกติจะเห็นในอุตสาหกรรมพลังงาน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising