×

นักวิชาการต่างชาติตั้งข้อสังเกต กองทัพเมียนมาอาจเดินตามโมเดลรัฐประหารไทย

07.04.2021
  • LOADING...
นักวิชาการต่างชาติตั้งข้อสังเกต กองทัพเมียนมาอาจเดินตามโมเดลรัฐประหารไทย

สำนักข่าว Channel NewsAsia ของสิงคโปร์ เผยแพร่บทความที่เขียนโดย ดร.พอล เวสลีย์ แชมเบอร์ส นักวิจัยประจำโครงการไทยศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Institute of Southeast Asian Studies: ISEAS) ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่ากองทัพเมียนมาอาจพยายามเดินตามรอยโมเดลรัฐประหารของไทย

บทความดังกล่าวซึ่งพาดหัวว่า Commentary: Thailand as a model? Why Myanmar military may follow Prayuth’s example หรือ บทวิจารณ์: ประเทศไทยเป็นต้นแบบ? เหตุใดกองทัพเมียนมาอาจทำตามแบบอย่างประยุทธ์ ชี้ว่าแรงจูงใจในการก่อรัฐประหารของตะมะดอว์ (Tatmadaw) หรือกองทัพเมียนมา นั้นมีความคล้ายคลึงกับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในไทย ทั้งช่วงปี 2006 และ 2014 ซึ่งผู้นำรัฐประหารต้องเผชิญกับรัฐบาลพลเรือนที่พยายามหาทางควบคุมอำนาจเหนือกองทัพ

เขาระบุว่า เหตุการณ์รัฐประหารในไทยเมื่อปี 2006 เป็นการเผชิญหน้าระหว่าง พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน กับ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ส่วนในปี 2014 เป็นการเผชิญหน้าระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ส่วนการรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้ เป็นการเผชิญหน้าระหว่าง พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กับ ออง ซาน ซูจี

การรัฐประหารเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่ผู้บัญชาการกองทัพจะเกษียณอายุราชการ และอาจเผชิญกับการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหรือสูญเสียอนาคตทางการเมือง ซึ่งในสังคมเสนานุภาพ (Praetorian Societies) ทั้งของไทยและเมียนมา นั้นมักให้กองทัพมีบทบาทนำในการเมืองระดับชาติเสมอ

ขณะที่กองทัพไทยและเมียนมายังครอบครองอำนาจรัฐ เศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล ภายใต้ชื่อของความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเมื่อรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งได้เป็นผู้นำประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับกองทัพ ต่างเต็มไปด้วยความตึงเครียดขั้นรุนแรง และบ่อยครั้งนำไปสู่การรัฐประหาร


ไทยอาจเป็นต้นแบบให้เมียนมา

บทความยังระบุว่า พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และผู้บัญชาการกองทัพเมียนมาคนอื่นๆ ได้เห็นและจดจำการรัฐประหารของไทยในปี 2014 ซึ่งกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิง ณ ขณะนั้น ก่อนจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบประชาธิปไตยแบบหลอกๆ ภายใต้การครอบงำของกองทัพเมื่อปี 2019

ซึ่งเป็นที่ถกเถียงว่า หลังการรัฐประหารของเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ บรรดานายพลเมียนมาดูเหมือนจะพยายามเดินตามโมเดลการควบคุมโดยกองทัพของไทย

สำหรับโมเดลรัฐประหารของไทยนั้น ผู้เขียนบทความบรรยายว่า เป็นโมเดลที่ชี้ให้เห็นว่ากองทัพสามารถประสบความสำเร็จในการก่อรัฐประหารและชี้นำประชาธิปไตยด้วยรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งซึ่งกุมอำนาจบริหาร ส่วนนักการเมืองพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่สามารถควบคุมกองทัพได้ อีกทั้งระบบตุลาการยังอยู่ข้างกองทัพและพลเรือนมีการแบ่งแยกมากกว่าเจ้าหน้าที่กองทัพ

 

เมียนมานำหน้าอยู่ก้าวหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมายังนำหน้าไทยอยู่หนึ่งก้าว จากการยึดครองที่นั่งในแต่ละสภาไว้ 25% อีกทั้งยังเป็นอิสระจากการตรวจสอบของรัฐบาลพลเรือน และครอบงำอำนาจในสภาความมั่นคงและการป้องกันแห่งชาติ

ที่ผ่านมา ผู้นำกองทัพเมียนมาประทับใจในรัฐธรรมนูญปี 2560 ของไทย ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระที่ดูเหมือนจะได้รับการแต่งตั้งจากกลไกรัฐบาลที่ยึดอำนาจ อีกทั้งสูตรการเลือกตั้งใหม่ยังป้องกันไม่ให้หลายพรรคการเมืองครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลต่อจากนี้ยังต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีงบประมาณมหาศาลสำหรับสนับสนุนกองทัพ

การเรียนรู้จากการเลือกตั้งของไทยในปี 2019 ที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เพื่อกุมอำนาจทางการเมือง ทำให้กองทัพเมียนมาพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2008 ของตน เพื่อเพิ่มอำนาจการควบคุมของกองทัพให้มากขึ้น

แต่ความพยายามเหล่านี้ ถูกขัดขวางโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ซึ่งคุมอำนาจคณะกรรมการร่วมรัฐสภาเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

สถานการณ์ ไทย-เมียนมา ยังมีความแตกต่างชัดเจน

ทั้งนี้ สถานการณ์ของไทยและเมียนมายังมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ข้อแรกคือประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีกองทัพเป็นกลไกสำคัญมาอย่างยาวนาน ขณะที่กองทัพมีอำนาจชอบธรรมตามกฎหมายในฐานะผู้พิทักษ์สถาบัน

ส่วนข้อสอง คือการที่กองทัพมีอิทธิพลต่อการเขียนรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 15 ฉบับ ซึ่งกองทัพของไทยประสบความสำเร็จในการครอบงำและฝังตัวเองเข้ากับระบบการเมืองมายาวนาน

แต่สำหรับเมียนมานั้น ผู้นำกองทัพวางตนเองเป็น ‘ผู้ช่วยชีวิต’ ของประเทศ ให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมและศัตรูต่างชาติ และเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ซึ่งเห็นได้ชัดในการรัฐประหารทั้งในปี 1962 1988 และในปีนี้

ขณะที่ผู้นำกองทัพเอง กลับกลายเป็นชนชั้นที่ได้รับสิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจและมีอำนาจมากที่สุดในประเทศ แต่ความรู้สึกในแง่บวกสำหรับกองทัพนั้น ไม่สามารถส่งต่อไปถึงประชาชนได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังคงนิยมในตัวผู้นำพลเรือนอย่าง ออง ซาน ซูจี

นอกจากนี้ กองทัพยังประสบความสำเร็จในการใช้กำลังเพื่อปราบปรามและกุมอำนาจ มากกว่าการสร้างพรรคการเมือง เห็นได้จากยอดผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามผู้ประท้วงหลังการรัฐประหารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจำนวนหลายร้อยคน

 

สร้างแรงสนับสนุนด้วยประชาธิปไตยแบบหลอกๆ

ถึงแม้ไทยและเมียนมาจะมีสถานการณ์ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดคือการใช้กำลังปราบปรามฝ่ายตรงข้ามเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถคงอำนาจและอิทธิพลของกองทัพอย่างยั่งยืนได้

หลังจากที่ตอบรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการเลือกตั้งนับตั้งแต่ปี 2011 กองทัพเมียนมายังไม่ยอมให้เกิดการปลุกระดมประชาธิปไตย และพร้อมจะกำจัดความพยายามเหล่านี้เมื่อเห็นว่าเหมาะสม

ซึ่งผู้เขียนบทความมองว่า จะเป็นการฉลาดกว่ามาก หากกองทัพเมียนมาหันมาสร้างแรงสนับสนุนผ่านระบบประชาธิปไตยแบบหลอกๆ เหมือนกับที่กองทัพไทยได้ทำ ไม่เช่นนั้นเมียนมาอาจก้าวไปสู่การเข่นฆ่านองเลือด เช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

และหากการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงของกองทัพเมียนมาไม่ประสบผลสำเร็จ ทางออกที่กองทัพเมียนมาทำได้ในตอนนี้มีอยู่ 3 ทางคือ

 

  • ยอมแพ้ต่อผู้ประท้วงและกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยก่อนการรัฐประหาร
  • พยายามดำเนินการตามโมเดลของไทย ในการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งให้อำนาจกองทัพมากกว่าเดิม เหนือระบอบประชาธิปไตยแบบหลอกๆ ด้วยการจัดตั้งระบบการเมืองแบบสองฝ่าย โดยมีวุฒิสภา คณะกรรมการเลือกตั้ง และตุลาการที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ ตลอดจนมีสูตรการเลือกตั้งที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่พรรคที่ได้รับความนิยมสูง (เช่น พรรค NLD) ใช้การครองเสียงข้างมากเป็นข้อได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาล
  • ย้อนกลับไปยุคก่อนปี 1990 ที่มีการใช้อำนาจเผด็จการทหารอย่างรุนแรง

 

ซึ่งหากดูสถานการณ์ในเดือนเมษายนนี้ ตัวเลือกแรกดูเหมือนจะไม่สามารถเริ่มต้นได้ ส่วนตัวเลือกที่สองก็ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ของเมียนมา และมีแนวโน้มที่สถานการณ์รุนแรง อาจนำพาประเทศไปสู่ตัวเลือกสุดท้ายที่มีการใช้อำนาจเผด็จการทหารอย่างรุนแรง

แต่ในท้ายที่สุด แน่นอนว่ากองทัพเมียนมาต้องตระหนักได้ว่า พวกเขาอาจต้องหาหนทางประนีประนอมกับฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรค NLD ที่ได้รับความนิยมท่วมท้น

ซึ่งคำถามสำคัญที่เหลืออยู่คือ จะต้องมีประชาชนเสียชีวิตอีกมากแค่ไหน ก่อนที่จะตั้งโต๊ะเจรจา

ภาพ: YE AUNG THU / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising