×

กอนช. เผยน้ำยังท่วมอีก 20 จังหวัด เร่งบริหารจัดการน้ำสู่ภาวะปกติ ลดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
04.10.2021
  • LOADING...
flood in thailand 2564

วันนี้ (4 ตุลาคม) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุโกนเซินและเตี้ยนหมู่ ทำให้เกิดฝนตกหนักในบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า ในช่วงวันที่ 1-30 กันยายนที่ผ่านมา มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 31 จังหวัด 180 อำเภอ 304 ตำบล แบ่งเป็นภาคเหนือ 9 จังหวัด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด, ภาคตะวันออก 7 จังหวัด, ภาคกลาง 6 จังหวัด และภาคตะวันตก 1 จังหวัด 

 

โดยล่าสุด 11 จังหวัดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ได้แก่ ลำปาง, ตาก, กาญจนบุรี, ลพบุรี, เลย, ชลบุรี, ตราด, จันทบุรี, ปราจีนบุรี, ระยอง, นครนายก ขณะที่อีก 20 จังหวัดที่ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วม กอนช. ยังคงติดตามประเมินสถานการณ์เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สถานการณ์คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด แบ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างรวม 17 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์, กำแพงเพชร, สุโขทัย, พิจิตร, พิษณุโลก, นครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, ชัยภูมิ, นครราชสีมา, ขอนแก่น, ศรีสะเกษ, สุรินทร์ และน้ำท่วมขังอยู่บางจุดรวม 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กอนช. ได้วิเคราะห์ ประเมิน และเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ ในการเตรียมความพร้อมรับมือ 10 มาตรการฤดูฝน ทั้งการปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ, การปรับแผนการบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ โดยพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ, จัดจราจรน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ และลำน้ำ สำหรับรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน เพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย และให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว, การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลาก ป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

“ทั้งนี้ ทาง กอนช. ยังเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที โดยสื่อสารเตือนภัยด้านน้ำอย่างต่อเนื่อง อาทิ ประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง และระดับพื้นที่ในการเตรียมแผนป้องกันรับมือและให้การช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ เพื่อเน้นย้ำในเรื่องการประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ในการเตรียมพร้อมในการอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ด้วย” ดร.สุรสีห์กล่าว

 

ดร.สุรสีห์กล่าวอีกว่า ทาง กอนช. ได้สื่อสารเตือนภัยด้านน้ำ โดยออกประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสียหายทั้งแก่ชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด 

 

โดยวานนี้ (3 ตุลาคม) กอนช. ได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีตอนกลาง บริเวณอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม พร้อมออกประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในลำน้ำชีล้นตลิ่งในช่วงวันที่ 4-15 ตุลาคมนี้ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, ศรีสะเกษ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวได้รับทราบสถานการณ์ รวมถึงเตรียมยกสิ่งของขึ้นที่สูงและเตรียมอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงได้ทันเวลา 

 

ขณะนี้ กอนช. อยู่ในระหว่างการเฝ้าระวังสถานการณ์ในแม่น้ำมูล เพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยง โดยขณะนี้มวลน้ำจากจังหวัดนครราชสีมาได้เคลื่อนตัวมาผ่านจังหวัดศรีสะเกษแล้ว และมวลน้ำสูงสุดกำลังเคลื่อนผ่านจังหวัดอุบลราชธานี สูงสุด 2,576 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.46 เมตร โดยประเมินว่ามวลน้ำดังกล่าวจะเคลื่อนตัวไหลลงแม่น้ำโขง ก่อนที่มวลน้ำสูงสุดจากแม่น้ำชีจะดำเนินทางมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่ง กอนช. จะประสานแจ้งกรมชลประทานเพื่อปิดบานระบายน้ำแม่น้ำชี เพื่อเก็บกักน้ำไม่ให้ไหลมาสมทบที่จุดบรรจบน้ำมูล ที่จะมีมวลน้ำบางส่วนจากอ่างลำเชียงไกร ที่คาดว่าจะมีมวลน้ำลดน้อยลงจากการซ่อมแซมทำนบดินชั่วคราวแล้วเสร็จตามข้อสั่งการของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 

 

สำหรับการติดตามคาดการณ์สภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา โดยในช่วงสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 5-10 ตุลาคม ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมจะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ 

 

โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ในอีก 3-4 วันข้างหน้าจะมีมวลน้ำจากตอนบนลงมา ประกอบกับอาจจะมีฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่ง กอนช. จะประเมินคาดการณ์มวลน้ำที่จะไหลลงมา การคาดการณ์สถานการณ์น้ำทะเล เพื่อวางแผนจัดจราจรน้ำ รวมถึงประสานงานกับกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมความพร้อมในการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ รวมถึงจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานคร โดยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมการดูแล ป้องกัน และลดผลกระทบความเสียหายจากน้ำท่วมอย่างเต็มศักยภาพ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising