×

จุฬาฯ จับมือมหาวิทยาลัยระดับโลก วิเคราะห์ทักษะที่จำเป็นของผู้บริหารและคนทำงานในอนาคต

04.12.2018
  • LOADING...

เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalonglongkorn Business School – CBS) ทางคณะได้จัดงาน Flagship Summit 2018 : Skills for the Future เป็นเวทีที่ผู้บริหารจาก 3 สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจอันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งจัดอันดับโดย QS World University Rankings 2018 มาบรรยายเรื่องทักษะแรงงานที่ต้องการในอนาคต

 

 

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีของ CBS กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้บริหารในยุคดิจิทัลประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. การบริการจัดการการเปลี่ยนแปลงขององค์กร (Change Management) ผู้นำที่ดีต้องเป็นผู้เล่าเรื่องที่ดีด้วย สื่อสารวิสัยทัศน์ขององค์กรให้เห็นภาพไปในทิศทางเดียวกัน โดยที่เน้นความสำเร็จหรือผลลัพธ์มากกว่าตัวกระบวนการทำงาน นอกจากนั้นยังต้องกล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจในสถานการณ์ทางธุรกิจที่อาจจะยังคลุมเครือ เพื่อโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย

 

2. ผู้นำต้องสร้างแรงบันดาลใจให้คนในองค์กรได้ โดยให้โอกาสพนักงานเรียนรู้ ออกแบบ วางแผนงาน และตัดสินใจด้วยตัวของพวกเขาเอง ลงมือทำจริงด้วยตัวเอง เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพนักงาน ขณะเดียวกัน สิ่งแวดล้อมในการทำงานคือปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น และ  3. มีระบบความคิดที่เห็นภาพรวม เชื่อมโยงปัจจัยต่างๆ เพื่อมองทิศทางในอนาคตได้ และต้องมีความคิดริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กร

 

 

ด้าน ศ.ดร.ฮัม ซิน ฮุน รองคณบดี NUS Business School, National University of Singapore อ้างอิงผลการศึกษาที่เผยแพร่ในเวที World Economic Forum 2018 ที่ชี้ว่า 65% ของนักเรียนประถมในปัจจุบัน เมื่อเรียนจบจะทำงานที่ไม่เคยมีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งอธิบายบทบาทของเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI บล็อกเชน การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ในอนาคตจะเกิดงานประเภทใหม่ๆ ที่คาดเดาไม่ได้และยังไม่มีอยู่จริงในปัจจุบันขณะ ส่วนงานหลายประเภทจะถูกแทนที่ด้วยกระบวนการทำงานอัตโนมัติและเทคโนโลยีอื่น

 

ทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคตคือ Deep Soft Skills ซึ่งประกอบด้วยทักษะความเข้าใจด้านข้อมูล (Data Literacy) เนื่องจากข้อมูลมีปริมาณมหาศาล แรงงานในวันข้างหน้าจะต้องเข้าใจ เลือกใช้ และวิเคราะห์ข้อมูลได้ นอกจากนี้จะต้องมีทักษะความเข้าใจด้านเทคโนโลยี (Technological Literacy) มีพื้นฐานด้านวิศวกรรมระบบและการโค้ดดิ้ง เพราะต้องทำงานกับระบบที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและ AI สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทักษะความเข้าใจมนุษย์ด้วยกัน (Human Literacy) เพราะอย่างไรก็ตาม มนุษย์ยังต้องสื่อสารและทำงานร่วมกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง ดังนั้นคนทำงานในอนาคตต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เสริมทักษะใหม่ๆ ให้ตัวเองเสมอ เพื่อปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบงานชนิดใหม่

 

 

ส่วน ศ.ดร.คา ยัน ทัม คณบดี School of Business and Management, Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) กล่าวถึงบทบาทของกระบวนการทำงานอัตโนมัติในยุคดิจิทัล ซึ่งจะตัดสินใจได้ดีกว่ามนุษย์ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และเสริมสร้างขีดความสามารถในแข่งขัน และช่วยให้กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) ทำได้เร็วและเข้าถึงกลุ่มตลาดได้กว้างขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจในกลุ่มชาติตะวันตก ประชาชนส่วนใหญ่กังวลว่า หุ่นยนต์และเทคโนโลยีจะแย่งงานที่ทำอยู่ไป และอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจย่ำแย่ลงไปอีก ดังนั้น ในอนาคตแรงงานต้องมีทักษะในการทำงานร่วมกับสิ่งแวดล้อมที่เป็น AI และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ ได้ ซึ่งจะทำให้ค่าตอบแทนของแรงงงานเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นตามอุปสงค์ของตลาด ขณะที่แรงงานไร้ทักษะมีแนวโน้มว่างงานมากขึ้น และอาจจะได้รับค่าจ้างในระดับที่ต่ำลงกว่าเดิม องค์กรจึงควรเร่งอบรม ยกระดับทักษะของพนักงาน โดยเริ่มจากตำแหน่งงานที่มีความเสี่ยงในการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีสูงก่อน ขณะเดียวกันต้องมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ความเห็นอกเห็นใจต่อกัน ทำงานเป็นทีม และมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • Chulalongkorn Business School (CBS)
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising