×

Fitch จับตาความชัดเจนดิจิทัลวอลเล็ต-แผนกู้ยืมเงินเพิ่ม ชี้อาจเป็นแรงกดดัน ‘เครดิตเรตติ้ง’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

26.10.2023
  • LOADING...
George Xu

Fitch Ratings เผยกำลังจับตาความชัดเจนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และแผนกู้ยืมเงินเพิ่มของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 อย่างใกล้ชิด เตือนอาจเป็นแรงกดดัน ‘เครดิตเรตติ้งไทย’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้านผู้เชี่ยวชาญแนะรัฐบาลไทยให้ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืน โดยควรกลับมาเน้นที่ฝั่งอุปทานไม่ใช่อุปสงค์ พร้อมเตือน Higer for Longer คือโจทย์ท้าทายใหญ่

 

George Xu Director, Sovereign Ratings จาก Fitch Ratings สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ให้สัมภาษณ์ในรายการ WEALTH IN DEPTH เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม โดยอธิบายถึงปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง ซึ่งมีส่วนทำให้ Fitch Ratings คงอันดับเครดิตไทย (Sovereign Ratings) ไว้ที่ BBB+ และมีมุมมอง (Outlook) เสถียรภาพ (Stable) 

 

โดยปัจจัยสนับสนุนมาจาก

 

  • เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง ซึ่งครอบคลุมหนี้ต่างประเทศได้หลายเท่า
  • การดำรงฐานะผู้ลงทุนระหว่างประเทศสุทธิ (Net Creditor) มายาวนาน ซึ่งตรงข้ามกับฐานะเป็นหนี้สุทธิ (Net Debtor)
  • มีกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง

 

อย่างไรก็ตาม Fitch มองว่าไทยยังมีความอ่อนแออยู่ ซึ่งเชื่อว่าจะจำกัดอันดับเครดิตของไทยในอนาคต ได้แก่

 

  • ไทยมีคุณลักษณะเชิงโครงสร้างต่างๆ (Structural Features) ที่อ่อนแอกว่าประเทศในกลุ่ม BBB ด้วยกัน ได้แก่ รายได้ต่อหัว (GDP per capita) และตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาล ที่ต่ำกว่าประเทศในกลุ่มเดียวกัน
  • ตัวชี้วัดด้านการคลังหรือการเงินสาธารณะต่างๆ ของไทยที่เคยเป็นจุดแข็ง ก็ไม่ใช่อีกต่อไป 
  • ไทยมีประชากรสูงวัยที่เร็วที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค โดยพัฒนาการดังกล่าวอาจเพิ่มความท้าทายต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะกลาง

 

Xu ยืนยันว่า แนวโน้มทางการคลัง (Fiscal Outlook) ก็ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ Fitch ใช้ในการประเมินอันดับเครดิตของประเทศ พร้อมแสดงความกังวลว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต และแผนการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมของรัฐบาล จะสร้างแรงกดดันต่อเชิงลบต่ออันดับเครดิตของไทยเช่นกัน

 

“แน่นอนว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้เกิดความตึงเครียดอย่างมาก และเรายังติดตามความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับแผนการระดมทุนของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากความชัดเจนนี้จะส่งผลต่อการประเมินอันดับเครดิต” Xu กล่าว

 

Xu อธิบายต่อว่า แผนการคลังระยะปานกลางในมุมมองของเราเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการประเมินระดับหนี้ในระยะกลางของรัฐบาล โดยเรายังคงสันนิษฐานว่า อัตราส่วนหนี้สินของรัฐบาลต่อ GDP จะ Stable ในระยะกลาง อย่างไรก็ตาม หากมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย (Policy Shift) ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อฐานะการคลัง ขณะที่แผนการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลล้มเหลวในการรักษาการเติบโตของ GDP สิ่งนี้อาจสร้างแรงกดดันต่ออันดับเครดิตของไทยได้มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล และอดีตรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า เป้าการสร้างการเติบโต GDP ที่ 5% ของนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากสะท้อนถึงศักยภาพของเศรษฐกิจที่สามารถไปถึงได้ แต่เป็นโจทย์ที่ยาก เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา GDP ไทยโตเฉลี่ยเพียง 1.9% ส่วนในรอบ 20 ปีโตเพียง 3.8% ไม่เคยถึง 5%

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการโตต่ำดังกล่าว บัณฑิตมองว่าไม่ควรแก้ด้วยการเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐและการบริโภค แต่ควรเน้นไปที่ฝั่งอุปทาน หรือความสามารถในการผลิตของประเทศ เนื่องจากไทยยังขาดการลงทุนของภาคธุรกิจ เมื่อการลงทุนน้อย การเติบโตในอนาคตจึงไม่มีพลัง ไม่มีการจ้างงานเท่าที่ควร และแรงงานมีผลิตภาพต่ำ

 

ดังนั้นหากรัฐบาลให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ เศรษฐกิจก็จะเติบโต รายได้ของประเทศและความสามารถในการชำระหนี้ก็จะเพิ่มขึ้น อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ก็จะลดลง

 

ดังนั้นที่เราติดหล่มอันดับเครดิตมา 10 ปี จึงอาจสะท้อนว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนฝั่งอุปทานมากพอ

 

ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ในฐานะสถาบันการเงินอยากเห็นกระแสเงินกลับมาลงทุนที่ไทย ทั้งตลาดหุ้น ตลาดบอนด์ หรือการลงทุนโดยตรง ดังนั้นประเด็นเรื่องอันดับเครดิตจึงเป็นเรื่องสำคัญในการดึงดูดต่างชาติให้มาลงทุน

 

ขณะเดียวกันเรากำลังเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยสูงและนาน (Higher for Longer) จึงอาจทำให้เศรษฐกิจในบางส่วนของโลกชะลอตัว เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป GDP โลกอาจโตไม่ถึง 3% จึงไม่ได้เอื้อต่อการค้าของไทย ดังนั้นตอนนี้เราจึงรอดูความชัดเจนของรัฐบาลในการหาสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพทางการคลังและการกระตุ้นเศรษฐกิจในยุค Higher for Longer ซึ่งจะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวไม่ได้เอื้อต่อการค้าเท่าเมื่อก่อน

 

รับชมต่อได้ที่: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising