×

เงินเฟ้อสหรัฐฯ ร่วงแรง หลังโควิด-19 กดดัน, อินเดียเตรียมขยายเวลาล็อกดาวน์สู่ระยะที่ 4: 5 ปัจจัยที่นักลงทุนต้องรู้ (13 พ.ค. 2563)

โดย FINNOMENA
13.05.2020
  • LOADING...
  • สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นตัวแทนของอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนเมษายนที่ -0.8%MoM หดตัวแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ปี 2008 สืบเนื่องจากแรงกดดันของราคาพลังงานและดัชนีราคาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ราคาตั๋วเครื่องบินและห้องพัก ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 2 หลังจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาหดตัว 0.4%MoM ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งเป็นตัวแทนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่รวมพลังงานและอาหาร ประจำเดือนเมษายนอยู่ที่ -0.4%MoM ซึ่งเป็นการหดตัวแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เช่นเดียวกับ CPI อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) จะพบว่าดัชนีราคาทั้งสองยังคงขยายตัวอยู่ที่ระดับ 0.3% และ 1.4% ตามลำดับ แต่ยังคงอยู่ในแนวโน้มชะลอตัว และเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี สอดคล้องกับการเทียบแบบ MoM สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกดดันเศรษฐกิจทั่วโลก

 

  • อินเดียเตรียมเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยวานนี้ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย แถลงว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาภาคธุรกิจจากผลกระทบของโควิด-19 เพิ่มเติม พร้อมระบุว่าอินเดียจะเข้าสู่ช่วงการล็อกดาวน์ระยะที่ 4 ในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ หลังจากสิ้นสุดระยะที่ 3 ในวันที่ 17 พฤษภาคม โดยระยะที่ 4 จะมีมาตรการบังคับใช้เพิ่มเติม ซึ่งจะประกาศให้ทราบต่อไป

 

  • มาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษกองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าการทดสอบยาต้านไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ WHO ดำเนินการร่วมกับสถาบันต่างๆ ทั่วโลกได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถลดความรุนแรงหรือลดระยะเวลาของการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบยาที่สามารถฆ่าไวรัสโคโรนา 2019 ได้โดยตรง

 

  • เดฟ คาลฮูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Boeing เชื่อว่าสายการบินขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในสหรัฐฯ จะล้มละลายภายในเดือนกันยายน แต่เขาไม่เปิดเผยชื่อของสายการบินดังกล่าว โดยคาลฮูนคาดว่าอุปสงค์ของธุรกิจการบินอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้เหมือนเดิม ขณะที่ธุรกิจการบินเชิงพาณิชย์อาจมีขนาดเล็กลงกว่าเดิม ถึงแม้อุปสงค์จะฟื้นตัวได้ก็ตาม

 

  • จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ โดยวันนี้สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนเมษายน ซึ่งเป็นตัวแทนของอัตราเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิต ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ -0.5%MoM หดตัวมากกว่าเดือนก่อนหน้าที่ -0.2%MoM และหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ต่อเนื่อง สะท้อนภาวะการผลิตที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ ขณะที่อังกฤษมีกำหนดประกาศ GDP เบื้องต้นประจำไตรมาส 1/2020 ซึ่งคาดว่าจะหดตัว 2.1%YoY สืบเนื่องจากการส่งออกและการบริโภคที่ชะลอตัวจากความไม่แน่นอนกรณี Brexit ในช่วงต้นปี ประกอบกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

 

ภาวะตลาดวานนี้

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยดัชนี CPI ลดลง 0.8% ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการติดลบมากกว่าช่วงวิกฤตครั้งก่อนในเดือนธันวาคม ปี 2008 ตลอดจนแรงกดดันจากความวิตกว่าอาจเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง หากเปิดระบบเศรษฐกิจเร็วเกินไป ซึ่งทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงออกมา สวนทางกันกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากผลประกอบการของบริษัทบางแห่งที่ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาอาจไม่แย่อย่างที่คาดการณ์ไว้

 

  • สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นจากการที่ทางรัฐบาลซาอุดีอาระเบียสั่งให้บริษัท ซาอุดี อารามโค ลดกำลังการผลิตน้ำมันในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการลดการผลิตนอกรอบการประชุมกลุ่ม OPEC+ ซึ่งช่วยคลายความกังวลที่จะเกิดภาวะน้ำมันล้นตลาด ด้านสัญญาทองคำปรับตัวขึ้นจากความกังวลที่อาจเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวไปอีกรอบ รวมไปถึงการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลดังกล่าว

 

สหรัฐฯ

  • Dow 30 อยู่ที่ 23,764.78 ลดลง 457.21 (-1.89%)
  • S&P 500 อยู่ที่ 2,870.12 ลดลง 60.2 (-2.05%)
  • Nasdaq อยู่ที่ 9,002.55 ลดลง 189.79 (-2.06%)

 

ยุโรป

  • DAX อยู่ที่ 10,819.5 ลดลง 5.49 (-0.05%)
  • FTSE 100 อยู่ที่ 5,994.77 เพิ่มขึ้น 55.04 (+0.93%)
  • Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 2,884.2 เพิ่มขึ้น 0.45 (+0.02%)
  • FTSE MIB อยู่ที่ 17,559.32 เพิ่มขึ้น 177.96 (+1.02%)

 

เอเชีย

  • Nikkei 225 อยู่ที่ 20,366.48 ลดลง 24.18 (-0.12%)
  • S&P/ASX 200 อยู่ที่ 5,403 ลดลง 58.2 (-1.07%)
  • Shanghai อยู่ที่ 2,891.56 ลดลง 3.25 (-0.11%)
  • SZSE Component อยู่ที่ 11,015.56 เพิ่มขึ้น 46.28 (+0.42%)
  • China A50 อยู่ที่ 13,523.63 ลดลง 8.62 (-0.06%)
  • Hang Seng อยู่ที่ 24,245.68 ลดลง 356.38 (-1.45%)
  • Taiwan Weighted อยู่ที่ 10,879.47 ลดลง 133.79 (-1.21%)
  • SET อยู่ที่ 1,299.69 เพิ่มขึ้น 12.39 (+0.96%)
  • KOSPI อยู่ที่ 1,922.17 ลดลง 13.23 (-0.68%)
  • IDX Composite อยู่ที่ 4,588.73 ลดลง 50.37 (-1.09%)
  • BSE Sensex อยู่ที่ 31,371.12 ลดลง 190.1 (-0.6%)
  • PSEi Composite อยู่ที่ 5,651.67 ลดลง 0 (0%)

 

Commodity

  • ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 25.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.83 (+3.39%)
  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 29.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 0.7 (-2.32%)
  • ราคาทองคำอยู่ที่ 1702.64 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 5.29 (+0.31%)

 

 

 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

  • Infoquest
  • Bloomberg
  • Investing
  • CNBC
  • Reuters

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising