×

รู้จัก FinCEN เอกสารลับเปิดโปงธนาคารระดับโลกอาจมีส่วนรู้เห็นการโอนเงินผิดกฎหมาย

โดย THE STANDARD TEAM
22.09.2020
  • LOADING...

เป็นข่าวที่สร้างแรงสั่นสะเทือนในโลกการเงินและกดดันหุ้นกลุ่มธนาคารทั่วโลก เมื่อเอกสารลับ FinCEN ที่หลุดออกมา และถูกเผยแพร่โดยเครือข่ายนักข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) เมื่อวันอาทิตย์ (20 กันยายน) ที่ผ่านมา เผยให้เห็นธุรกรรมการเงินอันน่าสงสัยของหลายธนาคารใหญ่ระดับโลก ที่เปิดช่องให้มีการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายทั่วโลก ทั้งยังเป็นช่องทางหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรจากนานาชาติของผู้มีอำนาจในบางประเทศอย่างรัสเซีย

 

รายละเอียดสำคัญของเอกสารลับฉบับนี้มีอะไรบ้าง THE STANDARD ได้รวบรวมและถอดความสรุปมาให้ได้อ่านกัน

 

FinCEN คืออะไร?

FinCEN ย่อมาจาก US Financial Crimes Enforcement Network หรือเครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินแห่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพื่อตรวจสอบและป้องกันการก่ออาชญากรรมทางการเงิน โดยไฟล์ของ FinCEN ถือเป็นหนึ่งในเอกสารลับด้านการเงินที่รั่วไหลออกมาหลายต่อหลายครั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนี้เปิดโปงให้เห็นทั้งข้อตกลงแบบลับๆ การฟอกเงินและการก่ออาชญากรรมทางการเงิน

 

FinCEN ประกอบด้วยเอกสารจำนวน 2,657 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นเอกสารที่ธนาคารต่างๆ ส่งถึงทางการสหรัฐฯ ในช่วงปี 2000-2017 เพื่อแจ้งถึงความกังวลต่อการทำธุรกรรมของลูกค้า ที่อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย

 

เอกสารเหล่านี้ บางส่วนเป็นเอกสารจากระบบธนาคารระหว่างประเทศที่ถูกเก็บรักษาเป็นความลับ ซึ่งหลายธนาคารใช้ในการรายงานพฤติกรรมต้องสงสัยของลูกค้า ที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่ามีการทำผิดกฎหมายหรือเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม

 

ข้อมูลในเอกสารนั้นเริ่มต้นหลุดไปยังสำนักข่าวออนไลน์ Buzzfeed News ก่อนจะถูกแชร์ต่อไปยังเครือข่ายนักข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ ซึ่งแจกจ่ายต่อไปยังองค์กรข่าวอีก 108 แห่งใน 88 ประเทศ 

 

นักข่าวหลายร้อยคนได้ทำการตรวจสอบและกลั่นกรองข้อมูลเอกสารทางเทคนิคจำนวนมาก ก่อนจะเปิดโปงให้เห็นกิจกรรมบางอย่างที่หลายธนาคารไม่ปรารถนาให้ประชาชนทั่วไปรับรู้

 

โดยทุกความผิดปกติในธุรกรรมการเงินที่ใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะต้องถูกส่งไปยัง FinCEN แม้ว่าจะเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นนอกสหรัฐฯ ก็ตาม

 

โดยรายงานกิจกรรมต้องสงสัยมีชื่อว่า Suspicious Activity Reports หรือตัวย่อคือ SARs ซึ่งบันทึกข้อมูลธุรกรรมการเงินต้องสงสัยที่ธนาคารต่างๆ จะต้องกรอกข้อมูลลงในรายงาน และส่งให้ทางการสหรัฐฯ หากมีความกังวลว่าลูกค้าบางรายอาจกำลังทำผิดกฎหมาย

 

ทำไมเอกสารนี้จึงสำคัญ?

หากคุณวางแผนที่จะมีกำไรจากองค์กรอาชญากรรม หนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องมี คือหนทางในการฟอกเงิน

 

การฟอกเงินนั้นเป็นกระบวนการนำเงินผิดกฎหมาย ที่ได้มาจากการก่ออาชญากรรม เช่น ค้ายาเสพติดหรือคอร์รัปชัน มาเข้าบัญชีธนาคารที่น่าเชื่อถือ 

 

ขั้นตอนการฟอกเงินนี้ยังจำเป็นสำหรับผู้มีอำนาจในบางประเทศ เช่น รัสเซีย ที่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรเพื่อขัดขวางไม่ให้นำเงินเข้าสู่ชาติตะวันตก 

 

ขณะที่ธนาคารต่างๆ มีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการช่วยเหลือลูกค้าในการฟอกเงินหรือโอนย้ายเงินไปมาในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย 

 

ตามกฎหมายแล้ว ธนาคารจำเป็นต้องรู้ว่า ลูกค้าของพวกเขานั้นเป็นใคร ซึ่งการแจ้ง SARs ทั้งที่ยังคงรับเงินผิดกฎหมายจากลูกค้า ในขณะที่คาดหวังให้ทางการจัดการกับปัญหานั้นไม่เพียงพอ และหากธนาคารมีหลักฐานว่าเงินนั้นเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม ก็ควรยับยั้งการทำธุรกรรมโอนย้ายเงินเหล่านั้น

 

เฟอร์กัส ชีเอล นักข่าวจาก ICIJ กล่าวว่าเอกสาร FinCEN ที่หลุดออกมานั้น เป็นข้อมูลเชิงลึก ที่บ่งชี้ว่าธนาคารต่างๆ นั้นรู้เกี่ยวกับการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายไปทั่วโลก ซึ่งจำนวนเงินที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้นมากในระดับที่ไม่ธรรมดา 

 

โดยข้อมูลใน FinCEN นั้นครอบคลุมการทำธุรกรรมการเงินที่มีจำนวนมหาศาลกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินจำนวนนี้ยังเป็นเพียงสัดส่วนเล็กน้อยของรายงาน SARs ที่ถูกส่งให้ทางการสหรัฐฯ ในช่วงปี 2000-2017

 

 

มีอะไรบ้างที่ถูกเปิดโปง?

– ธนาคาร HSBC อาจปล่อยให้บรรดานักต้มตุ๋นโยกย้ายเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐที่ได้มาโดยมิชอบไปทั่วโลก แม้จะรับรู้จากเจ้าหน้าที่สืบสวนสหรัฐฯ ก่อน ว่าเงินดังกล่าวมาจากการต้มตุ๋นหลอกหลวง

 

– ธนาคาร J.P. Morgan อนุญาตให้บริษัทหนึ่งเคลื่อนย้ายเงินมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านบัญชีในลอนดอน โดยไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของเงิน ก่อนที่ธนาคารจะตรวจพบภายหลังว่า บริษัทดังกล่าวอาจเป็นของสมาชิกแก๊งอาชญากรที่อยู่ในบัญชี 10 บุคคลที่ FBI ต้องการตัวมากที่สุด

 

– พบหลักฐานว่า หนึ่งในคนใกล้ชิดประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ใช้ธนาคาร Barclays ในลอนดอน เพื่อหลบเลี่ยงการคว่ำบาตร ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามผู้นำรัสเซียใช้บริการทางการเงินในชาติตะวันตก โดยเงินบางส่วนพบว่าถูกนำไปใช้ซื้อผลงานศิลปะ

 

– สามีของหญิงคนหนึ่งที่บริจาคเงิน 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของสหราชอาณาจักร สนับสนุนเงินแบบลับๆ ให้แก่ผู้มีอำนาจรายหนึ่งในรัสเซีย ที่มีความสนิทสนมกับประธานาธิบดีปูติน

 

– แผนกข่าวกรองของ FinCEN เรียกสหราชอาณาจักรว่า ‘เขตอำนาจศาลที่มีความเสี่ยงสูง’ และเปรียบเทียบกับไซปรัส สาเหตุเพราะชื่อของบริษัทจดทะเบียนในสหราชอาณาจักร ที่ปรากฏในรายงานของ SARs มีมากกว่า 3,000 บริษัท ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก

 

– โรมัน อบราโมวิช เจ้าของสโมสรฟุตบอลเชลซี เคยลงทุนแบบลับๆ กับนักฟุตบอลที่ไม่ได้เป็นของเชลซี โดยใช้บริการบริษัทนอกอาณาเขต หรือ Offshore Company

 

– ธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ล้มเหลวในการดำเนินการ หลังได้รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมของบริษัทท้องถิ่นที่ให้ความช่วยเหลืออิหร่านในการหลบเลี่ยงการคว่ำบาตร

 

– Deutsche Bank โยกย้ายเงินผิดกฎหมายของผู้ฟอกเงิน เพื่อนำไปใช้ก่ออาชญากรรม ก่อการร้าย และค้ายาเสพติด

 

– ธนาคาร Standard Chartered โยกย้ายเงินสดให้กับธนาคาร Arab Bank ในจอร์แดนมานานกว่าทศวรรษ โดยบัญชีลูกค้าของธนาคารหลายบัญชี ถูกพบว่านำไปใช้เพื่อการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย

 

 

อะไรคือความแตกต่างของการรั่วไหลในเอกสารการเงินครั้งนี้?

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการรั่วไหลของเอกสารข้อมูลการเงินครั้งใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้ง นับย้อนไปได้แก่

 

2017 Paradise Papers ชุดข้อมูลเอกสารจำนวนมากที่รั่วไหลมาจากบริษัทให้บริการด้านกฎหมายนอกอาณาเขต Appleby และบริษัท Estera โดยทั้งสองบริษัทดำเนินงานร่วมกันภายใต้ชื่อของ Appleby ก่อนที่ Estera จะแยกตัวออกไปในปี 2016 และเปิดโปงการทำข้อตกลงด้านการเงินนอกอาณาเขตของบรรดานักการเมือง เซเลบริตี้ และผู้นำทางธุรกิจหลายราย

 

2016 Panama Papers ชุดเอกสารลับ 11.5 ล้านฉบับ ที่หลุดมาจากบริษัทกฎหมาย Mossack Fonseca เปิดโปงให้เห็นว่าเหล่ามหาเศรษฐีนั้นใช้เขตแดนกำบังภาษี (Tax Haven) เพื่อผลประโยชน์ของตนเองอย่างไร

 

2015 Swiss Leaks เอกสารหลุดจากธนาคาร HSBC Private Bank ในสวิตเซอร์แลนด์ ที่เปิดโปงให้เห็นว่าธนาคารใช้กฎหมายลับของสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อช่วยลูกค้าในการหลบเลี่ยงภาษีอย่างไร

 

2014 LuxLeaks เอกสารจากบริษัทตรวจสอบบัญชี PricewaterhouseCoopers เผยให้เห็นว่าบริษัทใหญ่ๆ นั้น ใช้ข้อตกลงทางภาษีในประเทศลักเซมเบิร์กอย่างไร เพื่อช่วยลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายภาษี

 

สำหรับเอกสารจาก FinCEN นั้นมีความแตกต่างจากเอกสารหลุดที่กล่าวมา เพราะไม่ใช่เพียงเอกสารจาก 1 หรือ 2 บริษัท แต่มาจากธนาคารหลายแห่งทั่วโลก และแสดงให้เห็นถึงขอบเขตของการทำธุรกรรมต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับหลายบริษัทและบุคคล ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมธนาคารซึ่งแจ้งต่อทางการถึงธุรกรรมที่ผิดปกติเหล่านี้กลับไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อป้องกันหรือยับยั้ง

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อธนาคารส่งรายงานไปยังเจ้าหน้าที่แล้ว การดำเนินคดีกับผู้บริหารหรือผู้บริหารของธนาคารนั้นจะเป็นเรื่องยากมาก ถึงแม้ว่าทางธนาคารจะให้ความช่วยเหลือในการทำธุรกรรมต้องสงสัย และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไปแล้วก็ตาม

 

ขณะที่ FinCEN กล่าวว่า การรั่วไหลของเอกสารดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ตลอดจนการทำหน้าที่ของทางการในการสืบสวนและยอมความ และคุกคามความปลอดภัยของสถาบันและบุคคลที่ยื่นรายงาน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising