×

ตั้งเป้าสร้างวินัยการเงิน เตรียมพร้อมรับปี 67 รับมือกระแสโลกผันผวนมากขึ้น

24.12.2023
  • LOADING...

อีกไม่กี่วันก็จะเข้าปีใหม่แล้ว…คุณคิดว่าการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไรกันบ้างครับ?

 

หากคุณเป็นนักลงทุนระยะยาว หรือมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะลงทุนระยะยาว บอกได้เลยว่ามันก็ไม่ได้ง่าย…จนหลายๆ ครั้งอยากตะโกนว่า อิหยังวะ!!

 

แต่นี่คือสัจธรรมของชีวิต ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ยิ่งเส้นทางชีวิตของนักลงทุนยิ่งไม่มีทางที่จะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบตลอดทางครับ เพราะระหว่างทางในการลงทุนคุณจะเจอทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ตลอดเวลา

 

ต้องยอมรับว่าในโลกการลงทุนปัจจัยส่วนมากเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ค่อยได้ซะมากกว่า เช่น รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบาย ภาวะสงครามที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change

 

แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือหลักการลงทุน การมีวินัยในการลงทุน วินัยในการปรับพอร์ต ซึ่งทุกปลายปีสิ่งที่เราควรทำนั่นก็คือการนั่งพิจารณา 2 ปัจจัยเหล่านี้ว่าปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ในปีนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วสิ่งที่เราควบคุมได้เราทำได้ดีหรือไม่

 

Warren Buffett เคยพูดเอาไว้ว่า เวลาที่เราลงทุนในบริษัทที่ดีอย่าไปโฟกัสที่การขึ้นหรือลงของราคาสินทรัพย์ในระยะสั้นมากนัก แต่ให้ดูที่ ‘มูลค่าของสินทรัพย์’ ที่เราลงทุน ถ้ามูลค่ายังเติบโตขึ้นได้ ราคามันจะลงก็ไม่เป็นอะไร เพราะวันหนึ่งราคาจะขึ้นไปตามมูลค่าเอง

 

ส่วนปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้มักส่งผลกับการลงทุนของเราในระยะสั้นๆ แต่ถ้าหลักการลงทุนของเราดี ปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้จะมีผลน้อยลงไปเรื่อยๆ ในการลงทุนระยะยาว

 

ต้องบอกว่านับวันเราจะเจอกับเรื่องราวที่ควบคุมไม่ได้มากยิ่งขึ้นครับ เพราะเราอยู่ในโลก Digitalization จะยิ่งส่งผลกระทบ Sentiment การลงทุนแบบลมเพลมพัด

 

ผมขอมา Round Up ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโค้งท้ายปีนี้ให้ก่อนนะครับ แล้วจะต่อด้วยกลยุทธ์การรับมือสำหรับการลงทุนในปีมังกร 2567

 

Fed จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยส่งท้ายปี

 

ข่าวดีๆ มาแรงส่งท้ายปี 2566 ในเวลานี้ที่โลกจดจ่อรอมานานกันทั้งปี นั่นก็คือการส่งสัญญาณชัดเจนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ในการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้ (วันที่ 13-14 ธันวาคม 2566) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% พร้อมส่งสัญญาณสิ้นสุดวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว

 

การออกมาประกาศชัดเจนของ Fed จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยในโค้งท้ายปีแบบนี้ และยังส่งสัญญาณด้วยว่าปีหน้าจะเห็นการลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 1.25% รวมๆ ก็ 0.75% โดยคาดว่าจะเห็นการลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นในเดือนมีนาคม 2567 จากเดิมที่คาดว่าจะลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในการประชุมเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา ภาพนี้สะท้อนความคาดหวังว่า Fed กำลังประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไหลลงแบบ Soft Landing

 

ข่าวบวกแบบนี้หุ้นทั่วโลกก็พุ่งแรงโค้งท้ายปีกันสิครับ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ล่าสุด S&P 500 ก็ทำ New High ส่งท้ายปีไปเรียบร้อยแล้ว

 

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน 5.25-5.50% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีของสหรัฐฯ และการคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นการคงอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งติดต่อกัน หลังจากที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องถึง 11 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา

 

ขณะที่ข้อมูลจากเอกสารข่าวเผยแพร่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุว่า ตัวชี้วัดล่าสุดชี้ให้เห็นว่าการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากการเติบโตที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ 3 การจ้างงานได้ชะลอลงตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่ยังคงแข็งแกร่ง และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อได้ผ่อนคลายลงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ยังคงสูง

 

ระบบธนาคารของสหรัฐฯ มีเสถียรภาพและมีความสามารถในการรับมือวิกฤตและฟื้นตัว (Resilient) เงื่อนไขทางการเงินและสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับครัวเรือนและธุรกิจมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อ ขอบเขตของผลกระทบเหล่านี้ยังคงไม่แน่นอน คณะกรรมการยังคงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ

 

คณะกรรมการจะยังคงประเมินข้อมูลที่เข้ามาเพิ่มเติมและผลกระทบของมันที่มีต่อนโยบายการเงินต่อไป ในการพิจารณาขอบเขตของการกำหนดนโยบายเพิ่มเติมใดๆ ที่อาจเหมาะสมเพื่อที่จะนำอัตราเงินเฟ้อให้กลับลงไปอยู่ที่ 2% เมื่อเวลาผ่านไป คณะกรรมการจะพิจารณาถึงความเข้มงวดสะสมของนโยบายการเงิน ความล่าช้าที่นโยบายการเงินส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ และพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงิน

 

ด้าน Bloomberg ก็รายงานว่า Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหากแรงกดดันด้านราคากลับมา เขาชี้ว่าขณะนี้ผู้กำหนดนโยบายกำลังหันมาให้ความสำคัญกับการลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงลดลงสู่เป้าหมาย 2%

 

Powell เน้นย้ำว่าการคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยไม่ใช่แผนที่กำหนดไว้ล่วงหน้า แต่ยอมรับว่าในการประชุมสัปดาห์นี้ ผู้กำหนดนโยบายการเงินได้หารือกันถึงคำถามที่ว่าเมื่อใดจึงจะเหมาะสมที่จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย

 

ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ พุ่งแรง ดัชนีดาวโจนส์พุ่งทำสถิติปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลร่วงลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ส่งผลให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลรุ่นเก่าในตลาดพุ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน นักลงทุนก็ได้เพิ่มเดิมพันว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมเกือบจะแน่นอนแล้ว

 

มองข้ามช็อตปีมังกร ‘เศรษฐกิจกับตลาดหุ้นใหญ่’

 

ผมมองว่าตอนนี้ตลาดลดความกังวลในดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed ลงแล้ว แต่ถ้าจะมองข้ามช็อตเศรษฐกิจในปีมังกรก็เชื่อว่าคงไม่ได้สดใสไปกว่าปีนี้ โดยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกน่าจะชะลอตัวลงจากปีนี้และสภาพคล่องทั่วโลกน่าจะเกิดภาวะตึงตัวขึ้น ผลจากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดที่สุดในรอบหลายทศวรรษจะส่งผลกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ทั้งภาคบริการและภาคการผลิต ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางต่างๆ และมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวลดลงอย่างช้าๆ ธนาคารกลางต่างๆ ยังต้องเฝ้าระวังและควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ตามเป้าหมาย

 

ถ้าดูจากคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่มองว่าเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มที่พัฒนาแล้วจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง แต่ยังสามารถขยายตัวได้ ส่วนเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนา แม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้างแต่จะยังขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าหากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม ADB ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียปีนี้เป็น 4.9% จากเดิม 4.7% ขานรับเศรษฐกิจจีนฟื้นตัว แต่ปีหน้าคง GDP ที่ 4.8%

 

โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2567 แม้ชะลอตัวแต่มีน้ำหนักไม่มากที่จะเข้าสู่ ‘ภาวะถดถอย’ ที่ทั่วโลกกลัวกัน แต่ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจยังมีหลายๆ ปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงเหตุการณ์สงครามที่ยากต่อการคาดการณ์

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโมเมนตัมที่แผ่วลง แต่ก็ยังมีโอกาสขยายตัวได้จากแรงสนับสนุน ทั้งวัฏจักรการผลิต การย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ (Reshoring) จากภาวะการย้อนกลับของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) และมาตรการกระตุ้นการลงทุน ซึ่งส่งผลให้ผลิตภาพของแรงงานปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังมีแรงกดดันสภาพคล่องตึงตัวจากมาตรการ QT ที่เข้มข้นขึ้น ฝั่งนโยบายการคลังของสหรัฐฯ กำลังเผชิญปัญหาเพดานหนี้สาธารณะที่สูงมาต่อเนื่องหลายปี โดยยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา จะเห็นได้จากปีนี้ถูกลดอันดับเครดิตเรตติ้งของประเทศลง​ ที่สำคัญปี 2567 สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอาจมีการพลิกขั้ว Donald Trump จากพรรครีพับลิกัน อาจจะกลับมาอีกครั้ง ซึ่งเขาอาจทำให้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ความขัดแย้งในตะวันออกกลางมีโอกาสขยายตัวได้ ขณะที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Joe Biden มีท่าทีเจรจาสร้างความสัมพันธ์เป็นมิตรกับจีนมากขึ้น ประเด็นเหล่านี้คงต้องคอยติดตามกันต่อไป

 

เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มชะลอตัวทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาฟองสบู่แตกของภาคอสังหาริมทรัพย์ กำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ และปัญหาภาคส่งออกที่อ่อนแรง ซึ่งจีนไม่ได้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากเหมือนในอดีต รัฐบาลจีนเองก็พยายามหามาตรการต่างๆ มาช่วยพยุงเต็มที่ เช่น การปรับลด Loan Prime Rate 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อกระตุ้นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ มีการเพิ่มการขาดดุลจาก 3% เป็น 3.8% ธนาคารกลางจีนยังต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์ว่า GDP จีนเติบโตระดับต่ำกว่า 5% แต่ในระยะยาวยังมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

ญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่อันดับสามของโลกรองจากสหรัฐฯ และจีน ก็กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องปรับท่าทีนโยบายการเงินที่สวนทางสหรัฐฯ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านการยกเลิกมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า และยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในช่วงครึ่งหลังของปี และเช่นเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะที่อยู่ระดับสูงกว่า 200% ของ GDP ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นก็เตรียมเสนอมาตรการด้านภาษีนาน 10 ปี เพื่อกระตุ้นการผลิตใหญ่ใน 5 ภาคส่วน ซึ่งรวมถึง EV และเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง

 

ปีหน้าแนวโน้มการลงทุนเป็นอย่างไร กลยุทธ์รับมือให้รอด

 

ถ้าจะพูดถึงว่าเราจะลงทุนอะไรที่ได้ผลตอบแทนเยอะๆ ในมุมมองนักลงทุน VI ก็คือการลงทุนในประเทศที่วิกฤต ซึ่งถูกเทขายจนราคาลดลงมาแล้วแต่มูลค่าจริงยังดีอยู่ สิ่งที่เราลองศึกษาข้อมูลดูก็จะพบว่าผลตอบแทนหลังวิกฤตของ Jitta Ranking จะดีมาก

 

เช่น หลังวิกฤต COVID-19 ผลตอบแทน Jitta Ranking ชนะดัชนีหลักสูงมากๆ เพราะว่าพอเกิดวิกฤตคนเทขายหุ้นเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าเราเจอหุ้นดีราคาถูกมันก็จะวิ่งกลับมาได้เร็ว และถ้าถามว่าจะลงทุนประเทศไหนดี ก็ต้องบอกว่าประเทศที่หุ้นตกเยอะขณะที่เศรษฐกิจยังเติบโตได้ดีและราคาหุ้นยังถูก

 

ส่วนตัวผมถ้าดูจากข้อมูลตลาดที่ดีราคาถูกก็คือประเทศจีน เพราะ GDP ยังดีและมีการเติบโตอยู่ จากสถิติที่ผ่านๆ มา ในช่วงเวลา 10 ปี หุ้นจะขึ้น 7 ปี ลง 3 ปี ตลาดหุ้นจีนลงมาแล้ว 3 ปีติด หุ้นจีนปัจจุบันการเติบโตยังมีอยู่และราคาก็ค่อนข้างถูก แต่ถ้าแยกดู แบ่งเป็น 2 ภาค คือภาคธุรกิจ ก็อาจยังไม่ดีตามภาวะเศรษฐกิจจริงๆ แต่ว่าในภาคบริการ ภาคเทคโนโลยี ภาคอุตสาหกรรมใหม่ๆ ธุรกิจดีขึ้น รายได้และกำไรโตขึ้น ซึ่งราคาหุ้นลงทั้งตลาด แต่นี่อาจจะเป็นโอกาสลงทุนที่ดีก็ได้ครับ

 

ถ้าไปดูเพิ่มเติมในหุ้นจีนรายตัวมีหลายตัวที่รายได้และการเติบโตของธุรกิจยังดีอยู่แต่ราคาต่ำลงในรอบหลายปี และปัจจุบันหุ้นจีนบางตัวมีเงินสดอยู่ประมาณ 20% ของ Market Cap แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าหุ้นจีนบางตัวตอนนี้ราคาถูกผิดปกติแล้ว

 

แต่หุ้นจีนก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ระดับหนึ่ง เพราะหลายๆ ตัวก็เหมือน ‘ยังลงไม่สุด’ แต่ว่าธุรกิจอาจจะเติบโตขึ้น ซึ่งถ้าใครมีแผนจะลงทุนระยะยาวอยู่แล้วก็อาจจะเริ่มทยอยลงทุนไปเรื่อยๆ ได้แล้ว และยังต้องติดตามคือนักลงทุนต่างประเทศจะกลับไปลงทุนในหุ้นจีนหรือไม่

 

ส่วนอีกประเทศหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือเวียดนาม ปี 2565 ปรับตัวลงมาระดับหนึ่ง และค่อยๆ กลับขึ้นมาในปีนี้ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตกว่า 5.8% อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก และกำลังเตรียมพร้อมเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่หรือตลาดหุ้นกำลังพัฒนา แสดงว่ามีโอกาสที่ในอนาคตเงินจะไหลเข้ามาในตลาดหุ้นเยอะขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่เป็นประเทศที่เรายังไม่สามารถลงทุนได้เต็มที่ แต่ถ้ามองในภาพรวม การเติบโตต่างๆ ก็ดูสมเหตุสมผล แต่ไม่ได้ดูราคาถูกมากเมื่อเทียบกับหุ้นจีน

 

จริงๆ แล้วผมก็ยังมองว่าหุ้นสหรัฐฯ ก็เป็นอีกตลาดหุ้นที่ยังน่าสนใจ เพราะปีหน้ามีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นต่อ โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีเล็กๆ

 

อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยเสี่ยงใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังในปีหน้าคือตลาดการเงินทั่วโลก ‘ผันผวนมากยิ่งขึ้น’ ในปี 2567 จากการเลือกตั้งครั้งใหญ่หลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, อินเดีย, รัสเซีย, อินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งอาจทำให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าระหว่างประเทศในระยะต่อไป

 

สุดท้ายแล้วก็เหมือนที่พูดไปว่า การลงทุนมีทั้งปัจจัยที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ซึ่งในปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เราก็ควรรู้เอาไว้เพื่อจะได้มองความเป็นไปได้ในอนาคตอาจจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราจะได้วางแผนการลงทุนได้ถูกต้อง หรือหาโอกาสในการลงทุนได้ถูกต้อง

 

จริงๆ แล้วกลยุทธ์การลงทุนที่ง่ายและใช้ได้ตลอดกาลอย่าง DCA เป็นการลงทุนถัวเฉลี่ย ยิ่งเรามีวินัยการลงทุนจะทำให้เงินทำงานไปเรื่อยๆ ในระยะยาวคุณจะเห็นผลตอบแทนเป็นเงินก้อนใหญ่จริงๆ ครับ

 

ผมขอยกตัวอย่างการลงทุนในดัชนี S&P 500 ตั้งแต่ปี 2543-2564 ถ้าเราลงทุนด้วยวิธีซื้อครั้งเดียว 10,000 บาท ระหว่างทางก็มีขึ้นลงบ้าง แต่สุดท้ายถ้าถือมาเรื่อยๆ 20 ปี จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ +5.66% ต่อปี ซึ่งก็ไม่ได้แย่เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยฝากธนาคาร

 

แต่ถ้าลงทุนแบบ DCA เดือนละ 10,000 บาท ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่สูงถึง +9.59% ต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งไม่ใช่แค่ผลตอบแทนทบต้นอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันเหมือนการสะสมเงินด้วย ลงทุนครั้งเดียว 10,000 บาท เมื่อผ่านไป 20 ปี จะมีเงินอยู่ในพอร์ตประมาณ 30,000 กว่าบาท โดยมีวินัยลงทุน DCA ทุกเดือน นอกจากผลตอบแทนเฉลี่ยจะเยอะขึ้นแล้ว เรายังได้สะสมเงินไปเรื่อยๆ ด้วย ผ่านมา 20 ปี เงินในพอร์ตจะอยู่ที่ 8 ล้านกว่าแล้วสุดท้ายมันจะทบต้นด้วยครับ

 

ข้อดีของการ DCA ไปเรื่อยๆ คือการลดความผันผวนของพอร์ต ซึ่งถ้า DCA ไปเรื่อยๆ สักพักพอร์ตของคุณจะไม่ติดลบแล้ว แต่ก็ต้อง DCA ในสินทรัพย์ที่ดีและโตไปเรื่อยๆ ในอนาคตได้ด้วยนะครับ

 

แม้เราอาจจะควบคุมจังหวะในการลงทุนของเราไม่ได้ เพราะมันเป็นปัจจัยภายนอก แต่สิ่งที่เราควบคุมได้และจะทำให้พอร์ตของเราเติบโตไปได้คือการใส่ปุ๋ย หมั่นเพิ่มเงินต้น DCA ไปเรื่อยๆ ทุกเดือน พอผ่านไป 10-20 ปี คุณจะตกใจกับผลตอบแทนทบต้นของการ DCA ของคุณ

 

นี่คือพลังของการ DCA ครับ ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณตั้งหลัก ‘สร้างวินัยการลงทุน’ รับปีมังกร รวยๆ ปังๆ ฝันเป็นจริงนะครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising