×

ถอดนัยคำพูด Fed หลังจากนี้ตลาดหุ้นโลกจะเดินไปทิศทางไหน แล้วหุ้นไทยจะยังแข็งแกร่งกว่าตลาดอื่นหรือไม่

04.11.2022
  • LOADING...

เมื่อคืนนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้เปิดเผยผลการประชุมและตัวเลขการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ขยับขึ้นสู่ระดับ 3.75-4% ขณะเดียวกันตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ก็ยังคงเพิ่มขึ้น 2.39 แสนรายสำหรับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

 

การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในระดับ 0.75% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ได้เซอร์ไพรส์ตลาดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับค่อนข้างผันผวนในระหว่างการแถลงผลการประชุม ก่อนที่จะดิ่งลงในเวลาต่อมา 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ซึ่งสาเหตุสำคัญที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นคือถ้อยแถลงของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ที่กล่าวว่า “ระดับ Terminal Rate ของ Cycle การขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะอยู่สูงกว่าประมาณการเดิมของ Fed”

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า หากการแถลงผลการประชุม Fed เมื่อคืนนี้จบลงที่เพียงแค่คำแถลงอย่างเป็นทางการ ก่อนการแสดงความคิดเห็นของพาวเวลล์ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ น่าจะยืนในแดนบวกได้ เพราะคำแถลงที่ออกมานั้นค่อนข้างไปในโทนผ่อนคลายที่ว่า ในช่วงถัดไป Fed จะรอดูผลของนโยบายการเงินที่สะสมมา ซึ่งมักมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและระดับเงินเฟ้อในระยะเวลาที่ล่าช้าออกไป

 

“จากถ้อยแถลงทำให้ตลาดตีความว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งหน้าอาจเหลือเพียง 0.5% แต่เมื่อพาวเวลล์พูดกลับเน้นเป้าหมายระยะไกล ซึ่งเป็นปลายทางของการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ จากเดิมที่คนมองว่ารอบของการขึ้นดอกเบี้ยจะจบลงปลายไตรมาส 1/66 อาจลากออกไปไตรมาส 2/66 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอาจไปจบลงที่ 5.1% จากเดิมที่คาดกันไว้ 4.9%”

 

นอกจากตลาดหุ้นที่ดิ่งลงทันที บอนด์ยีลด์กับค่าเงินดอลลาร์ก็ขยับขึ้นอีกครั้งแม้จะยังไม่มากนัก สิ่งที่ต้องตามดูคือตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มทยอยประกาศออกมาตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคมนี้ 

 

สำหรับตลาดหุ้นเอเชียเหนือที่เชื่อมโยงกับหุ้นสหรัฐฯ มากกว่า ปรับตัวลดลงไปตามในเช้าวันนี้ ขณะที่หุ้นฝั่งอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมทั้งไทย ค่อนข้างแข็งแกร่งกว่า ยกเว้นเพียงฟิลิปปินส์ที่ลดลงแรง 

 

หุ้นไทยมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ออกมาดี เงินบาทเริ่มยืนอยู่ได้ ช่วยให้ Fund Flow ยังไหลเข้าในระยะสั้น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการที่ Fed อาจจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ซึ่งอาจจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง หากถึงตรงนั้นเงินบาทคงจะกลับมาอ่อนค่า และอาจเห็นนักลงทุนต่างชาติขายล็อกกำไรอีกระลอก

 

“เราแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นอื่นในเอเชียจริง แต่ประเด็นสำคัญคือการ Price In การขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของปีนี้ของ Fed”  

 

ในเชิงกลยุทธ์ ณัฐชาตประเมินว่า ไตรมาส 4 ปีนี้ – ไตรมาส 1 ปีหน้า ยังคงเป็นเพียงครึ่งทาง โดยความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยยังไม่หมดไป ตลาดหุ้นน่าจะขึ้นยากและลงยาก เพราะฉะนั้นการซื้อ-ขายตามกรอบน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในช่วงนี้ โดยประเมินกรอบดัชนี SET ด้านบนที่ 1,700-1,750 จุด และกรอบล่างบริเวณ 1,500 จุด 

 

สำหรับไอเดียการลงทุนช่วงปลายปี หุ้นที่ปันผลสูงมักจะโดดเด่นในช่วง 4 เดือนข้างหน้านี้ โดยเลือกผสมกับหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจภายใน ซึ่งอาจได้อานิสงส์จากการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า 

 

ด้าน สรพล วีระเมธีกุล หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า การขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ของ Fed เป็นไปตามตลาดคาด แต่เราคาดว่า Fed ส่งสัญญาณแบบ ‘แทงกั๊ก’ ได้อีกไม่นาน แม้ว่าในรอบนี้จะยังทำได้อยู่ เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ยังคงดี  

 

ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งจากคำพูดของพาวเวลล์คือคำว่า ‘Data Dependent’ สะท้อนว่าการตัดสินใจของ Fed จะขึ้นอยู่กับข้อมูลสำคัญที่จะตามมาในอนาคต ซึ่งข้อมูลที่สำคัญนี้ ได้แก่ 

 

  1. ผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2565
  2. ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือนตุลาคม ประกาศวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 

 

“หากพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาล่าง พร้อมกับตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอลง เชื่อว่าการประชุมของ Fed ในเดือนธันวาคม อาจเห็นการกลับลำนโยบายการเงิน และจากสถิติที่ผ่านมา 30 ปี ถ้า Fed จะกลับลำนโยบายต่างๆ จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมหรือไม่ก็เดือนธันวาคม” 

 

สรพลย้ำว่า ในเดือนธันวาคมนี้น่าจะเห็น Fed ส่งสัญญาณเกี่ยวกับการกลับลำนโยบายทางการเงินออกมาบ้าง และทำให้การปรับตัวลงของตลาดหุ้นรอบนี้อาจเป็นรอบสุดท้ายก่อนที่ตลาดจะเริ่มไต่ขึ้นไปจนถึงไตรมาส 1 ปี 2566 โดยเชื่อว่าดัชนี SET จะไม่ลดลงไปต่ำกว่า 1,560 จุด

 

สำหรับหุ้นไทยและค่าเงินบาท ถ้าความเสี่ยงอื่นๆ คงที่และมองแค่การเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินสหรัฐฯ เชื่อว่าหุ้นและค่าเงินบาทหากปรับลงจะลงน้อยกว่าตลาด และถ้าปรับขึ้นก็จะขึ้นได้แรงกว่า 

 

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในฝั่งขาขึ้น โชคดีที่เราเปิดประเทศช้า ทำให้ GDP ไตรมาส 4 ปีนี้ และไตรมาส 1 ปีหน้า จะปรับขึ้นได้ หนุนจากทั้งการบริโภคในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐก่อนการเลือกตั้งใหม่ และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว” 

 

ทั้งนี้ 4 ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามและอาจทำให้ภาพทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ 

 

  1. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
  2. สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจกลับมาทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงอีกครั้ง 
  3. การเปิดประเทศของจีน
  4. นโยบายการเงินของสหรัฐฯ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising