สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า บรรษัทรับประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (FDIC) มีแผนจะออกเกณฑ์เพื่อเรียกเก็บเงินสมทบพิเศษเข้ากองทุนรับประกันเงินฝาก (DIF) จากกลุ่มธนาคารที่เป็นสมาชิก เพื่อให้กองทุนมีเงินมาชดเชยผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากสูงกว่า 250,000 ดอลลาร์ที่ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ Silicon Valley Bank และ Signature Bank ซึ่งอาจต้องใช้เงินสูงถึง 1.92 หมื่นล้านดอลลาร์
แหล่งข่าวของ Bloomberg เปิดเผยว่า ภายใต้เกณฑ์ใหม่นี้กลุ่มธนาคารขนาดกลางและเล็กที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินสมทบพิเศษเข้ากองทุน แต่ภาระในการจ่ายเงินส่วนใหญ่จะถูกโยนไปให้กลุ่มธนาคารที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีจำนวนผู้ฝากเงินและมีงบดุลสูงกว่าแทน
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวระบุว่า ธนาคารบางแห่งที่มีขนาดสินทรัพย์สูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ก็อาจจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินสมทบพิเศษเข้ากองทุนได้เช่นกัน โดย FDIC จะพิจารณาขนาดเงินฝากในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารเป็นหลัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จุดจบธนาคาร First Republic! เมื่อ JPMorgan ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ เป็นผู้ชนะการประมูลเข้าซื้อกิจการ แม้รัฐไม่อยากให้เกิดขึ้นก็ตาม
- กลยุทธ์หยุด Bank Run
- ชมคลิป: FDIC โอด แบกรับต้นทุน ‘แบงก์ล่ม’ มูลค่าเกือบ 23,000 ล้านดอลลาร์ | THE STANDARD WEALTH
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เงินเรียกเก็บพิเศษในครั้งนี้จะไม่ครอบคลุมความเสียหายราว 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ที่เกิดจากการล้มของ First Republic Bank แต่เงินชดเชยในส่วนนี้จะมาจากการเรียกเก็บเงินนำส่งรายไตรมาสจากธนาคารสมาชิกตามปกติ
การนำเงินจากกองทุนประกันเงินฝากของ FDIC เข้าไปชดเชยให้กับผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากสูงกว่า 250,000 ดอลลาร์ ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้มีการยกเครื่องประกันเงินฝากของสหรัฐฯ รวมถึงการขยายวงเงินการคุ้มครองให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน
รายงานของ Bloomberg คาดการณ์ว่า FDIC น่าจะมีการเสนอแผนเรียกเงินสมทบพิเศษเข้ากองทุนรับประกันเงินฝากในสัปดาห์หน้า และในระยะต่อไปน่าจะมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การเรียกเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนแบบรายไตรมาส
อ้างอิง: