×

ไทยขยับความสามารถแข่งขันขึ้นอันดับ 25 แก้กฎหมายช่วยธุรกิจคล่องตัว งบวิจัยแตะ 0.8% ของ GDP

29.05.2019
  • LOADING...
GDP

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA รายงานผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ภายใต้ International Institute for Management Development หรือ IMD ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2562 โดยอันดับของไทยปรับสูงขึ้นจากอันดับที่ 30 ในปีที่ผ่านมา เป็นอันดับที่ 25 ในปีนี้

 

ขณะที่สิงคโปร์ปรับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 ของโลกแทนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งลดอันดับลงไปเป็นที่ 3 รองลงมาคือ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตามลำดับ ส่วนชาติในอาเซียนนั้น มาเลเซียอยู่อันดับ 22 คงที่จากปีก่อน อินโดนีเซียมีอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากอันดับที่ 43 เป็น 32 และฟิลิปปินส์จากอันดับที่ 50 เป็น 46

 

เป็นที่ทราบดีว่า IMD สำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยมีเกณฑ์การจัดอันดับแบ่งเป็น 4 ด้านได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคะแนนของประเทศไทยมีผลการจัดอันดับดีขึ้น 3 ด้าน ประกอบด้วยด้านสภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจลดลง 2 อันดับ

 

ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่าด้านการลงทุนต่างประเทศของไทยมีอันดับที่ดีขึ้นมาก ในขณะที่การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจก็ส่งผลให้อันดับด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดีขึ้นถึง 4 อันดับ ซึ่งขณะนี้ภาครัฐกำลังผลักดันต่อไปให้เกิดผลอย่างต่อเนื่อง และในวงที่กว้างขวางมากขึ้น

 

ส่วน วรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ยังเสริมประเด็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ที่เป็นรากฐานของการสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวก็มีอันดับสูงขึ้นถึง 4 อันดับจากปีที่แล้วด้วย ในภาคเอกชนมีสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาคิดเป็น 0.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP สิ่งที่เป็นเรื่องท้าทายของประเทศไทยคือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาช่วยเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจขนาดย่อมและภาคการเกษตร รวมถึงการพัฒนากำลังคนให้เท่าทันเทคโนโลยี และพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต ซึ่งยังเป็นโจทย์ที่ต้องทำต่อเนื่องทั้งภาครัฐและเอกชน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising