×

Facebook เปิดตัวแว่นตา VR ไม่ง้อสมาร์ทโฟน มาร์กหวังดึงคนใช้งานหลักพันล้าน!

12.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก (Facebook) เปิดตัวแว่นตา VR ‘Oculus Go’ โดยชูจุดเด่นของการใช้งานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์อื่นๆ เช่น สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ให้ยุ่งยากอีกต่อไป สนนราคาวางจำหน่ายอยู่ที่ 199 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,590 บาท เพื่อตีตลาดแมสโดยเฉพาะ
  • มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอสูงสุดประจำบริษัทตั้งเป้าดึงคนเข้ามาอยู่ในโลกเสมือนจริง หรือ Virtual Reality (VR) ให้ถึงหลักพันล้านคนให้ได้
  • วิเคราะห์กันว่าสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้ Oculus Rift แว่นตา VR รุ่นแรกของบริษัท Oculus หลังจากที่ถูกเฟซบุ๊กเทกโอเวอร์ไปไม่ได้รับความนิยมอย่างที่พวกเขาคาดการณ์เป็นเพราะราคาวางจำหน่ายของมันที่สูงเกินเรื่อง โดยมีราคาขายรวมจอยใช้ควบคุมอยู่ที่ 399 เหรียญสหรัฐ หรือ 13,213 บาท

     วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2017 ที่ผ่านมาถือเป็นอีกหนึ่งในวันที่น่าจับตาของแวดวงโลกเทคโนโลยี เมื่อบริษัทโซเชียลมีเดียมหาอำนาจ ‘เฟซบุ๊ก (Facebook)’ ได้ประกาศเปิดตัวแว่นตา VR แบบสแตนด์อโลนที่ไม่ต้องพึ่งสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ควบคู่ในการใช้งานให้ยุ่งยากอีกต่อไป ด้านมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอสูงสุดประจำบริษัทตั้งเป้าดึงคนเข้ามาอยู่ในโลกเสมือนจริงหลักพันล้านคนให้ได้

     วานนี้เฟซบุ๊กได้เปิดตัวแว่นตา VR ‘Oculus Go’ โดยชูจุดเด่นของการใช้งานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์อื่นๆ เช่น สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ มีกล้องและเซนเซอร์รวมถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการจับการเคลื่อนไหวติดตั้งอยู่ภายใน จอภาพ LCD คุณภาพความคมชัดสูง สนนราคาวางจำหน่ายอยู่ที่ 199 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,590 บาท เพื่อตีตลาดแมสโดยเฉพาะ และจะเริ่มทยอยจัดส่งอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2018 ที่จะถึงนี้

     มาร์กกล่าวในระหว่างโชว์คีย์โน้ตของเขากลางงานประชุมนักพัฒนาประจำปีซึ่งจัดขึ้นที่ซิลิคอนแวลลีย์ ในซาน โฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนียว่า Oculus Go เปรียบได้ดั่งผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของบริษัทที่เป็นส่วนผสมผสานระหว่างประสบการณ์เหนือจริงและการใช้งานสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง

     “มันเป็นสิ่งที่ใหม่หมดจด แว่นตา VR แบบสแตนด์อโลนที่ไม่ต้องเสียบโทรศัพท์หรือเสียบสายใดๆ อีกต่อไป” มาร์กกล่าว

     เขากล่าวต่อว่า “พวกเราต้องการดึงผู้ใช้งานมาอยู่ในโลกเสมือนจริง (VR) ให้ถึงหลักพันล้านคนให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าทางที่เรากำลังจะเดินไปถึงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แต่ผมเชื่อว่าโลกเสมือนจริงจะเปลี่ยนวิธีที่พวกเรามองโลกใบนี้และทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นกว่าเดิม”

 

 

 

บทเรียนครั้งใหญ่ ‘เมื่อไม่เปรี้ยง จึงต้องปรับ!’

     หากมีโอกาสได้ติดตามข่าวสารวงการเทคโนโลยีอยู่บ้าง น่าจะพอทราบว่าบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี VR อย่าง Oculus เป็นหนึ่งในบริษัทลูกของเฟซบุ๊ก

     ย้อนกลับไปในปี 2014 หรือเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว เฟซบุ๊กทุ่มงบไม่อั้นจำนวนมหาศาลกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 66,235 ล้านบาทเพื่อฮุบกิจการของ Oculus VR บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีเสมือนจริงที่ก่อตั้งเมื่อปี 2012 เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของเทคโนโลยีรูปแบบนี้

     แต่จนแล้วจนรอดหลังเปิดตัวผลิตภัณฑ์แว่นตา Oculus Rift ไปอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่แล้ว ผลตอบรับของผู้บริโภคที่ไม่สู้ดีนักก็ดูจะสวนทางกับความตั้งใจในการพัฒนาเทคโนโลยีของพวกเขาไม่น้อย

     จากผลการศึกษาของบริษัทให้ข้อมูลด้านการตลาด Canalys พบว่า Rift ทำยอดขายเมื่อปีที่แล้วได้ประมาณ 400,000 เครื่องเป็นรองคู่แข่งในตลาดเดียวกันอย่าง PlayStation VR และ HTC Vive ที่ทำยอดขายได้มากกว่า 800,000 เครื่องและประมาณ 500,000 เครื่องตามลำดับ (ไม่มีการเปิดยอดขายที่แน่ชัด แต่สื่อหลายสำนักเชื่อว่า Rift น่าจะขายได้แค่ 250,000 เครื่องเท่านั้น)

     วิเคราะห์กันว่าสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้ Rift ไม่เปรี้ยงอย่างที่คาดการณ์เป็นเพราะราคาวางจำหน่ายของมันที่สูงเกินเรื่อง โดยมีราคาขายรวมจอยใช้ควบคุมอยู่ที่ 399 เหรียญสหรัฐ หรือ 13,213 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกปรับลดลงมาหลายต่อหลายครั้งแล้วด้วยซ้ำ เพราะแรกเริ่มราคาเปิดตัวของมันอยู่ที่ 599 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 19,837 บาท

     ยังไม่นับรวมราคาอุปกรณ์ใช้เชื่อมต่อกับแว่นตา VR​ ที่ต้องใช้ในการทำงานร่วมกันอย่างคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ซึ่งนอกจากจะมีราคาสูงแล้ว การใช้งานตัวอุปกรณ์ก็เต็มไปด้วยความวุ่นวายและทำได้ยาก ไม่สะดวก เป็นอันว่าสุดท้าย Rift จึงตกกระป๋องไปอย่างน่าเสียดายและได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภควงแคบไปโดยทันที

     เมื่อสถานการณ์คับขันเช่นนี้ ที่สุดแล้วเงื่อนไขและปัจจัยแวดล้อมทุกจึงบีบให้ทั้ง Oculus ตลอดจนหัวเรือใหญ่สุดเจ้าของธุรกิจอย่างมาร์กต้องเร่งหาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวให้ได้

 

 

เดิมพันครั้งสำคัญ มุ่งหน้าสู่ตลาดผู้บริโภคระดับแมสของซักเคอร์เบิร์ก

     มองอีกมุมหนึ่ง การเปิดตัวแว่นตา Oculus Go ในครั้งนี้ของมาร์ก โดยชูจุดเด่นด้านการเป็นแว่นตาสแตนด์อโลนในราคาไม่แตะหลักหมื่นบาทจึงเปรียบเสมือนเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นในการเจาะตลาดผู้บริโภคกระแสหลักแบบเต็มตัว

     ซึ่งราคาจำหน่ายนี้ก็ยังถูกกว่าราคาจำหน่ายแว่นตา VR ของคู่แข่งในตลาดเจ้าอื่นๆ อย่าง Sony และ HTC อยู่พอสมควร (Sony PlayStation VR ราคา 549 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 18,181 บาท ไม่รวมเครื่องเล่นเกม ส่วน HTC Vive มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 599 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 19,837 บาท)

     นอกจากนี้ Oculus ยังชูฟีเจอร์ Venues ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถรับชมคอนเทนต์จำพวกคอนเสิร์ต, การแข่งขันกีฬาหรืออีเวนต์สำคัญต่างๆ แบบสดๆ ผ่านห้องโถงโลกเสมือนจริงขนาดยักษ์ได้ รวมถึงการสร้างคาแรกเตอร์จำลองผ่านอวาตาร์กราฟิกน่ารักๆ ของตัวเองเพื่อใช้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ในโลกนี้

     ด้านบริษัท Oculus ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาผ่านหน้าบล็อกเว็บไซต์ของพวกเขาว่าการปรับลดราคาลงในครั้งนี้ก็เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขามากขึ้น

     “พวกเราต้องการนำ VR ขยายเข้าไปอยู่ในมือของผู้คนให้มากขึ้น ฉะนั้นพวกเราจึงลดราคาของแว่น VR Oculus Rift ลงแบบถาวร ซึ่งการมีผู้คนเข้ามาใช้งานในโลก VR มากขึ้นย่อมหมายถึงการที่คุณจะได้เล่น ได้เชื่อมโยงและแชร์ประสบการณ์ในโลกเสมือนจริงที่มากขึ้นเช่นกัน”

     ย้อนกลับไปที่ตัวมาร์ก การที่เขาตั้งเป้าไว้ว่า Oculus Go จะต้องดึงผู้ใช้งานมาสู่โลกเสมือนจริงให้ได้ในหลัก 1 พันล้านคนแสดงให้เห็นถึงความกดดันอย่างหนักที่เจ้าตัวต้องแบกรับหลังตัดสินใจซื้อกิจการของ Oculus มาในปี 2014 แล้วพบว่ามันกลับไม่คืนทุนอย่างที่เขาต้องการ

     ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ที่มาร์กปิดดีลซื้อในเวลาไล่เลี่ยกันไม่ว่าจะ Instragram หรือ Whatsapp ต่างก็ทยอยออกดอกออกผลงอกเงยคืนทุนด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่มากขึ้นทุกวันๆ อยู่แล้ว (เดือนกันยายนที่ผ่านมา Instragram ระบุว่า พวกเขามียอดผู้ใช้งานมากกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก ส่วน The Verge เปิดเผยว่าแอปฯ แชต Whatsapp มีผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์ต่อวันมากกว่า 1 พันล้านคน)

     แว่นตาสแตนด์อโลน Oculus Go จึงเปรียบเสมือนการเดิมพันครั้งสำคัญที่มาร์กและเหล่าผู้ถือหุ้นของเฟซบุ๊กกำลังต้องผจญและลุ้นไปด้วยกัน ซึ่งในปี 2018 เราคงได้รู้กันว่าผลตอบรับของมันจะรุ่งหรือร่วงกันแน่!?

     นอกจาก Oculus Go จะถูกตั้งคำถามว่ามันจะได้รับความนิยมหรือล้มเหลวตามพี่ชายของมัน Oculus Rift หรือไม่? คลิปพรีเซนเทชันสาธิตการใช้งาน VR สร้างกราฟิกแอนิเมชันอวาตาร์ระหว่างมาร์กและราเชล แฟรงก์ลิน (Rachel Franklin) หัวหน้าแผนกวิดีโอของเฟซบุ๊ก ความยาว 10 นาทีก็ถูกวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมอย่างหนักเช่นกัน เพราะตอนหนึ่งในคลิป ทั้งคู่ได้พาตัวเองไปอยู่บนถนนที่มีน้ำท่วมขังในเครือรัฐเปอร์โตริโก ซึ่งเพึ่งจะประสบกับภัยพิบัติเฮอร์ริเคนมารีอาไปหมาดๆ จนภายหลังมาร์กต้องรีบออกโรงมาขอโทษขอโพยกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น

 

 

 

ฟีเจอร์อื่นๆ ที่น่าสนใจของ Oculus Go

  • น้ำหนักเบาแบบสุดๆ ด้วยการออกแบบโดยใช้วัสดุจำพวกผ้าถัก
  • ใช้สายรัดแบบผ้าตาข่าย
  • ใช้วัสดุจำพวกโฟมในการออกแบบภายในแว่นเพื่อให้รับกับรูปหน้าผู้สวมใส่ได้สบาย
  • จอ LCD แบบ Fast switching ความคมชัดสูงที่ 2,560 x 1,440 พิกเซล
  • เลนส์แบบ Next Gen ได้รับการพัฒนาต่อยอดจาก Oculus Rift
  • ลำโพงภายในที่ให้คุณภาพเสียงดีเยี่ยมพร้อมช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร
  • ตัวควบคุมการเคลื่อนไหวแบบชุดเดียวที่ให้อิสระในการเคลื่อนไหวได้ 3 ระดับ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising