×

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ชี้แจงครั้งแรก กรณี Facebook ปล่อยข้อมูลผู้ใช้ 50 ล้านรายรั่ว

22.03.2018
  • LOADING...

วันพุธที่ 21 มีนาคม ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก ได้ออกมาโพสต์ข้อความชี้แจงเป็นครั้งแรก หลังบริษัทโดนโจมตีว่าปล่อยให้ Cambridge Analytica นำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านรายไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ของมาร์กมีใจความดังนี้

 

“ผมอยากจะอัปเดตสถานการณ์ของ Cambridge Analytica ทั้งขั้นตอนที่เราได้ดำเนินการไปแล้ว และขั้นตอนต่อไปที่เราจะแก้ปัญหาสำคัญนี้

 

“พวกเรามีความรับผิดชอบที่จะปกป้องข้อมูลของคุณ และหากพวกเราไม่สามารถทำได้ เราก็ไม่คู่ควรที่จะให้บริการพวกคุณ ผมได้ลงมาดูแลเพื่อทำความเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น และเพื่อทำให้แน่ใจว่าปัญหาเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยอีกในอนาคต ข่าวดีคือพวกเราได้ดำเนินการครั้งสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำสองไปแล้วเมื่อประมาณ 1 ปีกว่าๆ แต่มันก็เกิดข้อผิดพลาดจนได้ ยังมีหลายสิ่งให้เราต้องดำเนินการ และพวกเราจะยกระดับเพื่อทำมัน”

 

มาร์กได้ไล่ช่วงเวลาสำคัญในการเกิดเหตุการณ์ข้อพิพาทของเฟซบุ๊กทั้งหมด ย้อนกลับไปตั้งแต่เปิดตัวแพลตฟอร์มในปี 2007 กับเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เฟซบุ๊กกลายเป็นพื้นที่ทางสังคมของการแชร์ข้อมูลต่างๆ ระหว่างผู้ใช้งานและเพื่อนๆ

 

กระทั่งเข้าสู่จุดเริ่มต้นของปัญหาในปี 2013 หลังนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อเล็กซานเดอร์ โคแกน ได้สร้างแอปพลิเคชันทำนายบุคลิกภาพขึ้นมาและมีผู้โหลดไปใช้มากกว่า 300,000 ราย โดยแอปฯ นี้ได้ดึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ดาวน์โหลดและเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กของผู้ใช้งานไปเป็นหลัก 10 ล้านรายชื่อแบบไม่รู้ตัว

 

ต่อมาในปี 2014 เฟซบุ๊กได้ประกาศเปลี่ยนรูปแบบแพลตฟอร์มทั้งหมดเพื่อป้องกันแอปพลิเคชันที่ไม่เหมาะสม และเพื่อจำกัดการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานของแอปฯ เหล่านั้น โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปิดกั้นไม่ให้แอปพลิเคชันที่คล้ายๆ กับตัวแอปฯ ของโคแกนเข้าถึงข้อมูลของเพื่อนบนเฟซบุ๊กผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันรายอื่นๆ ได้อีก ทั้งยังออกระเบียบให้นักพัฒนาต้องได้รับอนุญาตก่อนจะขอข้อมูลละเอียดอ่อนจากผู้ใช้ ซึ่งมาร์กบอกว่าการดำเนินการในครั้งนี้ได้ปิดช่องตายไม่ให้แอปพลิเคชันทำนายบุคลิกภาพของโคแกนเข้าถึงข้อมูลเป็นจำนวนมากได้อีกต่อไป

 

ในปี 2015 พวกเขาทราบจากนักข่าวที่ The Guardian ว่าโคแกนได้แชร์ข้อมูลจากแอปฯ ของตนไปให้กับบุคคลที่ 3 หรือ Cambridge Analytica ซึ่งขัดกับนโยบายของเฟซบุ๊กที่ห้ามไม่ให้นักพัฒนาแชร์ข้อมูลต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใช้งาน ด้วยเหตุนี้เฟซบุ๊กจึงดำเนินการแบนแอปพลิเคชันของโคแกนบนแพลตฟอร์มทันที พร้อมเรียกร้องให้โคแกนและ Cambridge Analytica ดำเนินการรับรองอย่างเป็นทางการว่าพวกเขาได้ลบข้อมูลทั้งหมดออกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งพวกเขาก็ได้ดำเนินการตามที่เฟซบุ๊กร้องขอ

 

กระทั่งเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้ทราบจาก The Guardian, The New York Times และ Channel 4 ว่า Cambridge Analytica อาจจะยังไม่ได้ลบข้อมูลตามที่ได้ยืนยันกับเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กจึงแบนพวกเขาจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของบริษัททันที ขณะที่ทาง Cambridge Analytica ระบุว่าตนได้ลบข้อมูลทั้งหมดออกไปแล้ว และตกลงที่จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโดยบริษัทที่เฟซบุ๊กว่าจ้างขึ้น ขณะที่เฟซบุ๊กเองก็จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่กำกับดูแลเพื่อสืบสวนเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น

 

มาร์กบอกต่อว่า “มันอาจจะเคยเป็นการทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างโคแกน Cambridge Analytica และเฟซบุ๊ก แต่มันก็เป็นการทำลายความเชื่อใจระหว่างเฟซบุ๊กกับผู้คนที่แชร์ข้อมูลกับเราและหวังจะให้เราปกป้องมันด้วย ซึ่งเราจำเป็นต้องแก้ไข”

 

เพื่อกู้ศรัทธาและความเชื่อใจของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มคืน เฟซบุ๊กจะปฏิบัติตามแนวทาง 3 ข้อเหล่านี้เพิ่มเติมจากมาตรการที่ดำเนินการไปแล้วเมื่อปี 2014

 

  1. ดำเนินการตรวจสอบแอปพลิเคชันทั้งหมดที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานในระบบ ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายของแพลตฟอร์มครั้งใหญ่เมื่อปี 2014 และจะตรวจสอบทุกๆ แอปฯ ที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย พร้อมสั่งแบนนักพัฒนาที่ไม่ตกลงเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบออกจากแพลตฟอร์มทันที

 

หากเฟซบุ๊กพบนักพัฒนาที่นำข้อมูลไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็จะสั่งแบนด้วยเช่นกัน และจะแจ้งไปยังผู้ใช้งานที่ได้รับผลกระทบจากแอปพลิเคชันดังกล่าวทุกราย ในกรณีนี้นับรวมถึงคนที่ถูกโคแกนนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ชอบด้วย

 

  1.  จำกัดการเข้าถึงข้อมูลของนักพัฒนาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดในทุกๆ กรณี เช่น ลบการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานจากนักพัฒนาออกเมื่อไม่ได้ใช้แอปพลิเคชันภายใน 3 เดือน และจะลดข้อมูลที่ผู้ใช้จะต้องมอบให้กับตัวแอปพลิเคชันเมื่อลงชื่อเข้าใช้งานให้เหลือแค่ชื่อผู้ใช้ ภาพโปรไฟล์ และอีเมลเท่านั้น

 

ทั้งนี้จะกำหนดให้นักพัฒนาทั้งหลายต้องเซ็นสัญญากรณีขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้รายใดก็ตาม รวมถึงข้อมูลการโพสต์ด้วย


  1. เดือนหน้าเฟซบุ๊กจะเพิ่มเครื่องมือในหน้านิวส์ฟีดของผู้ใช้ทุกคน ซึ่งจะแสดงข้อมูลว่าแอปพลิเคชันใดบ้างที่คุณได้ใช้งานผ่านเฟซบุ๊ก และจะง่ายต่อการยกเลิกไม่ให้แอปพลิเคชันเหล่านั้นเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของคุณได้ โดยเดิมทีเครื่องมือนี้จะอยู่ในการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน

 

มาร์กบอกว่าเขาก่อตั้งเฟซบุ๊กขึ้นมาพร้อมความรับผิดชอบต่อส่ิงที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มของตัวเอง ทั้งยังจริงจังกับการปกป้องชุมชนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมากๆ  

 

“พวกเราจะเรียนรู้จากประสบการณ์ในครั้งนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยแพลตฟอร์มของเราในอนาคต และทำให้ชุมชนของพวกเราปลอดภัยมากขึ้น ผมอยากจะขอบคุณทุกๆ คนที่ยังคงเชื่อมั่นในภารกิจและงานของเราที่จะสร้างชุมชนแห่งนี้ร่วมกัน (เฟซบุ๊ก) ผมรู้ดีว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจะกินเวลานานกว่าที่เราต้องการให้เป็น แต่ผมขอสัญญากับคุณว่าจะดำเนินการให้ผ่านพ้นมันไปให้ได้ และจะสร้างบริการที่ดีขึ้นกว่าเดิมในระยะยาว” มาร์กกล่าวทิ้งท้าย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising