×

วลีปลายพู่กัน ธรรมะใต้ต้นพลัม และ ‘ท่านติช นัท ฮันห์’ ในวันที่เบิกบานกับวัย 93 ปี

11.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • นี่คือนิทรรศการภาพวาดลายพู่กันของ ท่านติช นัท ฮันห์ ที่จัดขึ้นในเมืองไทย โดยครั้งแรกจัดเมื่อ พ.ศ. 2556 แต่จุดเริ่มต้นของนิทรรศการภาพลายพู่กันจริงๆ เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงใน พ.ศ. 2553
  • ประมาณไว้ว่า ท่านติช นัท ฮันห์ น่าจะวาดภาพลายเส้นพู่กันไว้นับหมื่นภาพ และครั้งนี้เป็นการคัดเลือกภาพลายพู่กันเพียง 73 ภาพ ที่วาดขึ้นใหม่ มาจัดแสดงพร้อมพิมพ์หนังสือรวมลายพู่กันของท่าน

“ฉันใช้ชาผสมกับน้ำหมึก ดังนั้น ภาพลายพู่กันของฉัน จึงมีรสชาติของชาอยู่ภายใน ฉันใช้พู่กันทั้งแบบจีนและแบบตะวันตก ทุกชนิดและทุกขนาด เมื่อฉันวาดวงกลม ฉันก็ตามลมหายใจ หายใจเข้า ฉันวาดวงกลมครึ่งวง และหายใจออก ฉันวาดอีกครึ่งวง ในภาพลายพู่กันของฉัน มีน้ำหมึก ชา ลมหายใจ สติ และสมาธิ นี่คือการภาวนา…”

 

หากพูดถึง ‘การภาวนา’ ในมุมมองที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยคุ้นเคยนั้น แน่นอนว่าภาพของการนั่งสมาธิ นุ่งขาวห่มขาว เดินจงกรมในวัด รวมทั้งการสวดมนต์ คือภาพแรกที่นึกถึง ทว่า สำหรับพระนิกายเซนชาวเวียดนามผู้ใช้เวลาค่อนชีวิตเผยแพร่พุทธศาสนาอยู่ในซีกโลกตะวันตกอย่าง ท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) การภาวนาและธรรมะย่อมไม่สามารถแยกออกจากชีวิตประจำวันได้

 

ไม่ว่าจะขับรถ นั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ฟังเพลง ทำสวน เขียนบทกวี หรือทำงานศิลปะ ก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นการภาวนาได้ทั้งสิ้น ซึ่งการที่ ท่านติช นัท ฮันห์ หรือหลวงปู่ หรือไถ่ (Thay แปลว่า อาจารย์ในภาษาเวียดนาม) ได้นำธรรมะมาเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 อย่างแยบยล ทำให้ชาวตะวันตก วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ และผู้ที่ไม่เคยศึกษาศาสนาพุทธมาก่อน สามารถเข้าถึงแก่นของธรรมะได้โดยไม่ต้องเข้าวัด เช่นเดียวกับธรรมะในหัวข้อ ‘เฉลิมฉลองชีวิต’ ที่หลวงปู่นำมาเทศนาในรูปแบบของนิทรรศการ ซึ่งมีเพียงบทกวีและวลีจากปลายพู่กันเป็นสื่อกลาง ณ หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

ท่านติช นัท ฮันห์

 

 

“นี่คือนิทรรศการครั้งที่ 2 ของหลวงพี่ที่จัดขึ้นในเมืองไทย โดยครั้งแรกจัดเมื่อ พ.ศ. 2556 แต่ครั้งแรกสุดจริงๆ ของการจัดนิทรรศการภาพจากลายพู่กันของไถ่จัดขึ้นที่ฮ่องกง โดยการเชื้อเชิญของฆราวาส จากนั้นก็เริ่มมีการตอบรับที่ดี เพราะบทกวีและภาพมีพลังในการสื่อสารมากกว่าการพูดเสียอีก บางคนก็อยากจะได้คำที่ไถ่เขียนไว้ไปฝึกปฏิบัติภาวนาที่บ้าน ที่ทำงาน ซึ่งการเขียนบทกวีและงานศิลปะเป็นสิ่งที่ สังฆะ*ในหมู่บ้านพลัม** ใช้ฝึกปฏิบัติกันอยู่แล้วรวมทั้งไถ่ด้วย”

 

พระธรรมาจารย์ฟับเหวี่ยน

 

พระธรรมาจารย์ฟับเหวี่ยน (Phap Nguyen) พระอุปัฏฐากผู้ทำงานใกล้ชิดกับหลวงปู่ ย้อนเล่าถึงงานนิทรรศการศิลปะปลายพู่กันครั้งแรกของหลวงปู่ ซึ่งจัดขึ้นในมหาวิทยาลัยฮ่องกง แต่ก่อนหน้านั้นหลวงปู่ได้ฝึกเขียนภาพลายพู่กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เป็นการเขียนชื่อบทเพลงและสัญลักษณ์ลงบนแผ่นไม้ เพื่อใช้ในหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อมีผู้สนใจขอนำภาพลายพู่กันเหล่านั้นไปฝึกภาวนา ท่านจึงเริ่มเขียนลายพู่กันลงบนแผ่นกระดาษ โดยใช้ทั้งพู่กันที่หลากหลายทั้งของตะวันตกและตะวันออก ส่วนหมึกนั้นใช้ของจีนและญี่ปุ่น ส่วนในระยะสิบปีให้หลัง ท่านได้เปลี่ยนมาเขียนลงบนกระดาษสาที่ทำจากฟางข้าว ว่ากันว่างานศิลปะจากลายพู่กันของท่านมีไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นภาพเลยทีเดียว

 

 

สำหรับนิทรรศการ ‘เฉลิมฉลองชีวิต หลวงปู่ติช นัท ฮันห์’ ที่จัดขึ้นถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครนี้ หลวงพี่ฟับเหวี่ยนเล่าว่า เป็นผลงานที่หลวงปู่ตั้งใจเขียนขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ตรงกับความหมายของนิทรรศการครั้งนี้โดยเฉพาะ ส่วนความหมายของการเฉลิมฉลอง สามารถตีความได้ 2 อย่าง คือ อริยสัจ 4 อันเป็นหัวใจแห่งพุทธและการเฉลิมฉลองชีวิตในวัย 93 ปีของหลวงปู่

 

“อริยสัจ 4 บอกว่า ชีวิตเป็นทุกข์ แต่จริงๆ แล้วชีวิตไม่ได้เป็นทุกข์ อีกด้านของทุกข์คือความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับชีวิต การมีสติ กลับมาเรียนรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับตัวเราและรอบตัวเรา จะทำให้เราเข้าใจเหตุแห่งความทุกข์นั้นมากขึ้น เมื่อเราเข้าใจในปัจจุบันขณะที่เกิดขึ้นกับตัวเรา เราก็จะเข้าใจกับความมหัศจรรย์ของชีวิตที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นได้ เหมือนที่ไถ่เคยกล่าวว่า ‘การมีชีวิตอยู่คือความมหัศจรรย์ และเมื่อเธอหายใจอย่างมีสติ เธอสัมผัสกับความมหัศจรรย์ของการมีชีวิตอยู่’

 

“อีกความหมายของการเฉลิมฉลองชีวิต หมายถึงการที่ไถ่มีอายุ 93 ปี ท่านมีปัญหาสุขภาพ แต่ท่านก็สามารถเบิกบานกับชีวิตได้ทุกลมหายใจ เพราะท่านเห็นความทุกข์และความสุขมันเป็นดั่งกันและกัน เมื่อเราดูแลความทุกข์ เราก็จะสามารถชื่นชมชีวิตได้มากขึ้น และจะสามารถเฉลิมฉลองชีวิตได้ แต่ก่อนจะเฉลิมฉลองชีวิตได้ เราต้องฝึกปฏิบัติสติก่อน”

 

 

และเมื่อเราถามต่อว่า ศิลปะ บทกวี รวมทั้งการเข้าชมลายพู่กันครั้งนี้จะสามารถสร้างเสริมสติได้อย่างไร หลวงพี่ฟับเหวี่ยนไม่ได้ตอบอย่างตรงไปตรงมา ทว่า ชี้ชวนให้เราหยุดดูหน้างานชิ้นหนึ่งที่มีปลายพู่กันตวัดไว้ว่า ‘This is it’

 

“เราทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างเคร่งเครียดทุกวัน จนลืมไปว่าความสุขในชีวิตของเราอยู่ไม่ไกลจากเราเลย เราสามารถเบิกบานกับชีวิตประจำวันของเราได้ เพียงแค่เรามีสติ รับรู้ถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เพื่อที่จะเตือนว่าอดีตคือเมื่อวาน อนาคตคือวันพรุ่งนี้ มีเพียงปัจจุบันขณะเท่านั้นที่อยู่ตรงหน้า เราสามารถใช้ลมหายใจและรอยยิ้มของเราสัมผัสกับปัจจุบันขณะได้ This is it วลีเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงคำสั้นๆ แต่ก็สามารถเป็นประตูที่เปิดไปสู่ปัญญาญาณ ส่วนการฝึกปฏิบัติด้วยการเขียนพู่กัน บทกวี งานศิลปะ หรือแม้แต่เพลง ก็เป็นการฝึกให้จิตของเรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะในงานที่เรากำลังทำด้วยเช่นกัน”

 

 

เราสังเกตว่า ลายพู่กันของหลวงปู่มีทั้งวลี บทกวีสั้นๆ ทั้งภาษาอังกฤษ จีน เวียดนาม แต่ที่สะกิดใจเรามากที่สุดเห็นจะเป็นวงกลมแห่งเซน ซึ่งไม่ได้มีความหมายเพียงความว่างเปล่า สุญญตา แต่ยังลึกซึ้งไปถึงคำสอนของหลวงปู่ที่ว่าด้วย Interbeing หรือ ‘เราเป็นดั่งกันและกัน’ ซึ่งเป็นคำสอนที่หลวงปู่มักจะกล่าวอยู่เสมอในงานภาวนา… เมฆและกระดาษเกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ออก ไม่มีเมฆ ไม่มีฝน ก็ย่อมไม่มีต้นไม้และไม่มีกระดาษ เมื่อมองกระดาษก็ให้มองให้เห็นไปจนถึงดวงอาทิตย์ ก้อนเมฆ และคนตัดไม้ เพราะกระดาษเกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่ใช่กระดาษ ร่างกายเราเองก็เช่นกัน ทุกอย่างเป็นดั่งกันและกัน ซึ่งทั้งหมดสามารถสื่อสารผ่านภาพวงกลมเพียงวงเดียว

 

นอกจากภาพจากปลายพู่กันแล้ว ‘เฉลิมฉลองชีวิต หลวงปู่ติช นัท ฮันห์’ ยังมีสวนเซนเล็กๆ ให้ได้ชมอยู่ตรงกลางนิทรรศการ ซึ่งนี่คือการฝึกปฏิบัติอย่างหนึ่งของหมู่บ้านพลัม เช่นเดียวกับที่หลวงปู่เคยบอกไว้ว่า ท่านไม่สามารถเขียนบทกวีได้ หากท่านไม่ได้ทำสวนผักสลัด และความพิเศษอีกหนึ่งอย่างของงานชิ้นนี้คือ การจำหน่ายหนังสือ รวบรวมลายพู่กันของท่าน ซึ่งได้สะท้อนคำสอนของหลวงปู่ที่ได้ยึดถือแนวทางภาวนาและฝึกปฏิบัติมาตลอด 70 ปี

 

 

“I have arrived, I am home” หรือ “การกลับบ้านที่แท้จริง” เป็นอีกประโยคจากปลายพู่กันที่กระตุกใจเรามาก เพราะตลอดเวลาที่หลวงปู่ลี้ภัยอยู่ฝรั่งเศสเมื่อคราวสงครามเวียดนาม และไม่ได้รับอนุญาตให้กลับประเทศหลังจากที่ท่านได้เรียกร้องสันติภาพในซีกโลกตะวันตก การกลับบ้านจึงเป็นความทรมานอย่างหนึ่งของผู้ลี้ภัยสงครามในช่วงนั้น ทว่า คำสอนของหลวงปู่ได้ดึงให้ทุกคนหันกลับมาสู่บ้านที่แท้จริงนั่นก็คือปัจจุบันขณะ และปัจจุบันในขณะนี้หลวงปู่ก็ได้เดินทางกลับสู่บ้านเกิดของท่านอีกครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันท่านได้พำนักอยู่ที่วัดตื่อฮิ้ว (Tu Hieu) เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม และ ณ วัดตื่อฮิ้วเมื่อ พ.ศ. 2469 เด็กชายคนหนึ่งได้ตัดสินใจมาบวชเป็นสามเณรและฝึกปฏิบัติภาวนาจนอุปสมบทในเวลาต่อมา และได้รับนามทางธรรมว่า นัท ฮันห์

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • นิทรรศการเฉลิมฉลองชีวิต หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 17 กุมภาพันธ์ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถนนพระราม 1 กรุงเทพฯ (ไม่เสียค่าเข้าชม)
  • ในช่วงทศวรรษที่ 60 ท่านติช นัท ฮันห์ ได้ลี้ภัยสงครามจากเวียดนามไปอยู่ในประเทศตะวันตก และได้ทำงานสันติภาพต่อต้านสงครามเวียดนาม พ.ศ. 2518 ท่านได้ตั้งชุมชน Sweet Potato ขึ้นใกล้กรุงปารีส และได้ย้ายไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เพื่อสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมที่ชื่อ ‘หมู่บ้านพลัม’ โดยตั้งชื่อตามต้นพลัมที่ขึ้นอยู่ทั่วบริเวณนั้น
  • ติช (Thich) ในภาษาเวียดนามใช้เรียกพระ

 

หมายเหตุ

*สังฆะ หมายถึง ชุมชนแห่งการฝึกปฏิบัติ เพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีสติของพุทธบริษัท 4 เช่น สังฆะหมู่บ้านพลัม

**หมู่บ้านพลัม หมายถึง ศูนย์ปฏิบัติธรรมที่ ท่านติช นัท ฮันห์ ก่อตั้งขึ้นในฝรั่งเศส

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising