เป็นที่รู้ดีอยู่แล้วว่าการออกกำลังกายให้ประโยชน์ต่อสุขภาพกายและใจ แต่ถ้าเรามีหลักฐานยืนยันว่าแท้จริงแล้วช่วงเวลาที่เสียเหงื่อในยิมนั้นกลับสำคัญและมีค่ากับจิตใจของคุณยิ่งกว่าตัวเงินที่เสียไปล่ะ
และผลการศึกษาล่าสุดที่จัดทำโดยนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเยลและออกซ์ฟอร์ดก็คอนเฟิร์มเสียด้วย
ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet นักวิทยาศาสตร์เก็บข้อมูลพฤติกรรมทางร่างกายและสภาพจิตใจของคนอเมริกันกว่า 1 ล้าน 2 แสนคน โดยผู้เข้าร่วมทำการศึกษาตอบคำถามว่า ‘ในตลอด 30 วันที่ผ่านมา คุณรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีความสุข เครียด หรือโศกเศร้าบ้างหรือไม่’
พวกเขายังถามผู้เข้าร่วมถึงรายรับและกิจกรรมที่ต้องขยับร่าง ซึ่งมีกิจกรรมให้เลือกด้วยกัน 75 กิจกรรม ตั้งแต่ตัดหญ้า ดูแลลูก ทำงานบ้าน ปั่นจักรยาน วิ่ง ไปจนยกน้ำหนัก
คนบ้าพลังมีความสุขกว่า
นักวิทยาศาสตร์พบว่า แม้ใน 365 วัน คนที่ออกแรงหรือออกกำลังกายมีแนวโน้มว่าจะรู้สึกหดหู่หรือเครียดจากปัญหาในชีวิตประจำวันราวๆ 35 วัน แต่คนที่ไม่ชอบขยับตัวกลับรู้สึกแย่บ่อยและนานกว่ากลุ่มคนแอ็กทีฟราวๆ 18 วัน หรือราว 53 วัน หรือมากกว่านั้น ยิ่งกว่านั้นแล้วนักวิจัยยังพบอีกว่า คนที่ไม่อยู่นิ่งรู้สึกพึงพอใจกับชีวิตพอๆ กับคนที่ไม่ออกกำลังกาย แต่มีรายได้สูงประมาณ 25,000 เหรียญต่อปี (ราว 802,000 บาท)
นั่นแปลได้ว่าคุณต้องหาเงินเพิ่มขึ้นกว่าปกติเพื่อที่จะมีความสุขระดับเดียวกับคนที่เล่นกีฬาที่อาจรายได้น้อยกว่าด้วยซ้ำ
แต่ก่อนจะออกไปหวดลูกแบดมินตันหรือขึ้นเทรดมิลล์ 5 ชั่วโมงรวด โปรดรู้ว่า ยิ่งออกแรงเยอะไม่ได้แปลว่ายิ่งมีความสุขเสมอไป (เช่นที่ Spice Girls บอกเอาไว้ว่า “Too much of something is bad enough”) เพราะการโหมทำบางอย่างมากเกินไปก็ไม่ก่อให้เกิดผลดี
Photo: pixabay.com
แค่ไหนถึงเรียกว่ามากไป
อดัม เชคราวด์ (Adam Shekroud) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นดังกล่าวเสริมว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาในการเล่นกีฬาและสภาพจิตใจนั้นมีลักษณะเหมือนตัว U โดยการออกกำลังช่วยให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อเมื่ออยู่ภายในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น”
และจากการศึกษาแล้ว การออกกำลังกาย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละราวๆ 30-60 นาทีนั้นดีที่สุดต่อร่างกาย และเมื่อศึกษายังพบอีกว่า สภาพจิตของกลุ่มคนที่ออกกำลังเกิน 3 ชั่วโมงต่อวันกลับไม่มีความสุขยิ่งกว่ากลุ่มคนที่ไม่ชอบออกกำลังกายเสียอีก
นอกจากนั้นนักวิชาการยังสังเกตว่า กีฬาบางประเภทที่อาศัยการพูดคุยหรือเล่นร่วมกับผู้อื่นเป็นทีม สร้างผลดีกับสุขภาพจิตยิ่งกว่าประเภทอื่นๆ แต่ถึงแม้ว่าคุณจะปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก หรือชอบยกน้ำหนัก ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ได้อาศัยการทำงานเป็นทีม แต่ผู้เล่นก็ยังได้รับประโยชน์ ส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพกายและใจเช่นกัน
ดังนั้นหากรู้สึกเสียดายค่าสมัครยิมราคาแพงก้อนนั้น จงคิดเสียว่าเรา ‘ซื้อความสุข’ ในรูปแบบที่เงินก็หาซื้อไม่ได้ แถมยังได้หุ่นดีๆ แถมมาด้วยนะ
ภาพ : Shutterstock
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: