×

EXCLUSIVE: เปิดสูตรต่อยอดความสำเร็จของ ‘สุระ คณิตทวีกุล’ ทั้งตัวธุรกิจ COM7 และลงทุนหุ้น

15.08.2023
  • LOADING...
สุระ คณิตทวีกุล

ในแวดวงธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกสินค้าด้านไอที น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก สุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอมเซเว่น (COM7) ในฐานะผู้ปลุกปั้นให้บริษัทเติบโตขึ้นมาจนมีมูลค่าระดับ 7 หมื่นล้านบาทภายในเวลา 25 ปี 

 

หลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2558 คอมเซเว่น (COM7) เป็นหนึ่งในบริษัทที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากหุ้นที่เคยมีราคา IPO ที่เพียง 3.35 บาท ก็เพิ่มขึ้นไปสูงสุดถึง 43.75 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 1,200% ขณะที่จำนวนร้านค้าของธุรกิจทั้งหมดในเครือก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนมีสาขารวมกันมากถึง 1,287 แห่ง  

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ COM7 เป็นความสำเร็จทางธุรกิจที่ไม่ธรรมดา และน่าจะเป็นกรณีศึกษาให้กับใครหลายคนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การเติบโตของ COM7 คงไม่ได้หยุดลงเพียงเท่านี้ อย่างน้อยที่สุดก็ในมุมมองของ สุระ คณิตทวีกุล ที่ยังคงพยายามมองหา ‘เครื่องยนต์’ ตัวใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจต่อไป 

 

THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับสุระถึงอนาคตและเส้นทางการเติบโต เพื่อต่อยอดความสำเร็จของ COM7 ขณะเดียวกันก็มีโอกาสได้เรียนรู้หลักคิดในการทำธุรกิจและการลงทุนไปพร้อมกัน 

 

ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว

 

“เรายังเติบโตได้ปีละ 10-20% ในอีกประมาณ 3-5 ปีข้างหน้า จากการขายสินค้าใหม่ๆ ตลอดเวลา บวกกับการขยายสาขาต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 150 แห่ง” สุระเชื่อว่าธุรกิจหลักของ COM7 ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว “ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอทีมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ราว 20% จุดอิ่มตัวในความรู้สึกของผมคงจะอยู่ที่มาร์เก็ตแชร์ประมาณ 40% ถ้าทำได้เท่านี้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว” 

 

สุระกล่าวต่อว่า อีกหนึ่งคำถามสำคัญคือ ผลิตภัณฑ์ที่เราขายอยู่แนวโน้มเป็นอย่างไร อันนี้ก็สำคัญ เพราะต่อให้เราใหญ่ขึ้น แต่เค้กกลับเล็กลงเรื่อยๆ แบบนี้ก็ไม่ไหว เป็นความโชคดีที่เรามาทำธุรกิจที่มีมูลค่าตลาดค่อนข้างใหญ่ ทุกคนต้องใช้ และบางคนมีหลายอุปกรณ์ด้วย อีกทั้งยังต้องเปลี่ยนบ่อย เพราะเทคโนโลยีไม่หยุดนิ่ง

 

ปัจจุบัน COM7 จ่ายเงินปันผลประมาณ 50-70% ของกำไร และส่วนที่เหลือจากนั้นจะถูกนำไปลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 500-1,000 ล้านบาท

 

การรุกธุรกิจใหม่

 

แน่นอนว่า COM7 ในปัจจุบันไม่ได้หยุดอยู่แค่การขายสินค้าไอทีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่ผ่านมาเราจะได้ยินข่าวอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับการพยายามขยายขอบเขตออกไปยังธุรกิจอื่นๆ อย่างเช่น ร้านขายอาหารสัตว์เลี้ยง ร้านขายยา หรือแม้แต่สินเชื่อ เป็นต้น 

 

ปัจจุบันเรามีฐานลูกค้าอยู่ประมาณ 4 ล้านรายต่อปี ทำให้เราคิดต่อยอดว่าจะสามารถขายสินค้าอะไรเพิ่มเติมให้กับลูกค้าได้อีก เป็นที่มาของการเริ่มทดลองทำธุรกิจใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งสำคัญคือ หากการทดลองล้มเหลวจะต้องไม่ทำให้เราเจ็บหนัก

 

“เราจะใช้เงินเราก็ยังคงประหยัด ไม่ใช่ว่าหนึ่งปีเรามีกำไรเป็นพันล้านแล้วจะต้องใช้เงินพันล้าน เราโตมาแบบนั้น เพราะฉะนั้นผมก็ยังคงให้ทุกคนยึดหลักว่ามันเป็น SMEs แปลว่าเงินทุกบาทที่เราใช้มันต้องมีค่า” 

 

สุระมองว่าหนึ่งในจุดแข็งของ COM7 คือ เข้าใจเรื่องโลเคชันดี เข้าใจความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม “ที่ผ่านมาเราเริ่มต้นจากการขายคอมพิวเตอร์ ก่อนจะมาขายสินค้าของ Apple และแบรนด์อื่นๆ การที่เราจะขยับไปทำอะไรเพิ่มเติมก็เป็นเพียงสินค้าใหม่ ขณะที่พนักงานขายและร้านค้าก็ยังเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนสินค้า ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่าการขายสินค้าอื่นเราก็น่าจะขายได้” 

 

แต่การเลือกสินค้าใหม่เพื่อนำมาขายต้องเป็นสินค้าที่มีตลาดใหญ่ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะขายสินค้าอะไรก็ตามเราต้องใช้สมอง ใช้พลังเท่ากัน ดังนั้นต้องคิดว่าทำอะไรแล้วได้เยอะที่สุดและขยายได้มากที่สุดถึงจะคุ้ม

 

อย่างเช่น ยาและอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นสินค้าที่มีมูลค่าตลาดค่อนข้างใหญ่หลายหมื่นล้านบาท แน่นอนว่าเป็นตลาดที่มีคู่แข่งจำนวนมากในทุกพื้นที่ แต่สิ่งที่เราชอบคือ ร้านขายยายังเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีเจ้าตลาดชัดเจน 

 

“วิธีคิดของเราคือ ถ้าธุรกิจไหนมีเบอร์หนึ่ง เบอร์สอง เบอร์สาม ที่ใหญ่ทั้งหมด อันนี้เราไม่ชอบที่จะกระโดดไปเป็นเบอร์สี่ อีกมุมหนึ่งหากเป็นธุรกิจที่มีเบอร์หนึ่งใหญ่มากเพียงรายเดียว อันนี้ก็น่าสนใจ ทำให้เรามีโอกาสขึ้นไปเป็นเบอร์สองหรือสามได้”

 

อีกปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเลือกธุรกิจใหม่คือ ทราฟฟิก (Traffic) หรือการมีลูกค้าเข้าร้านสม่ำเสมอ ธุรกิจค้าปลีกที่ดีควรจะต้องมีทราฟฟิกที่ดี นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องเลือกโลเคชันที่ดี แม้ต้องจ่ายค่าเช่าสูง

 

“ที่ผ่านมาการทำร้าน BaNANA ข้อเสียคือไม่สร้าง Recurring Traffic หลังจากลูกค้ามาซื้อโทรศัพท์ กว่าลูกค้าจะกลับมาอีกครั้งผ่านไปหนึ่งปีก็ยังไม่รู้ว่าจะกลับมาอีกหรือไม่ ทำให้การทำแคมเปญเพื่อกระตุ้นการซื้อซ้ำเป็นเรื่องยาก”

 

ส่วนธุรกิจสินเชื่อและธุรกิจประกันก็เป็นการต่อยอดจากธุรกิจหลักของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อผ่อนชำระสินค้าไอทีให้กับลูกค้าบางกลุ่ม หรือการขายประกันสำหรับสินค้าไอทีที่ขายให้กับลูกค้า 

 

กระจายสาขาสู่ริมถนน

 

ที่ผ่านมา COM7 ขยายสาขาของแต่ละธุรกิจในห้างสรรพสินค้าไปมากพอสมควร ทำให้เราต้องการขยายไปยังริมถนนมากขึ้น ปีนี้เป็นปีที่เราขยายสาขาภายนอกห้างสรรพสินค้ามากกว่าด้านใน

 

“ส่วนนี้เป็นเหมือนการทำ R&D เป็นการทดลองว่าถ้าเราเปิดสาขาริมถนนห่างออกไปจากห้างสรรพสินค้า 2 กิโลเมตร ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ยอดขายในห้างจะลดลงหรือไม่ ถ้าไม่ลดแล้วยอดขายของร้านที่เปิดข้างนอกจะเป็นอย่างไร” 

 

แต่การเปิดสาขานอกห้างจะทำให้ทราฟฟิกลดลง เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องหาพื้นที่ที่มีร้านค้าอื่นๆ โดยรอบ เพื่อช่วยให้พื้นที่เป็นเหมือนคอมมูนิตี้ขนาดเล็ก

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจใหม่ที่ COM7 รุกเข้าไปนี้ปัจจุบันยังเป็นช่วงของการทดลองและติดตามผลว่าเป็นอย่างไร โดยพิจารณาจากยอดขาย แต่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องกำไรมากนัก 

 

“ช่วงแรกที่เริ่มตั้งธุรกิจใหม่มันอาจไม่ได้กำไร เพราะมีเรื่องต้นทุนคงที่ มันคือการดูความเป็นไปได้ในแต่ละเรื่องที่เราทำ เช่น เรื่องช่องทางการจำหน่ายสินค้า เรื่องความต้องการของลูกค้า ฯลฯ นั่นเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เราขยายธุรกิจต่อไปได้”

 

หลักคิดลงทุนหุ้น

 

นอกจากบทบาทในฐานะผู้บริหารของ COM7 แล้ว สุระยังมีอีกหนึ่งบทบาทในฐานะนักลงทุนในตลาดหุ้น ข้อมูลล่าสุดจาก SETSMART ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2566 ระบุว่า สุระถือครองหุ้นไทยอยู่ทั้งสิ้น 17 บริษัท รวมมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท แน่นอนว่าหุ้นที่มีมูลค่ามากที่สุดในพอร์ตคือ COM7 คิดเป็นกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท 

 

“จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นมาจากการหาโอกาสให้กับบริษัทเป็นหลัก แน่นอนว่าถ้าเราไปเจอธุรกิจอะไรที่สามารถ Synergy กับ COM7 ได้ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม เรายินดีที่จะทดลอง เพราะความมั่งคั่งทั้งหมดของผมอยู่ใน COM7 อยู่แล้ว บางครั้งก็ทำให้เราเห็นโอกาสว่าจริงๆ ธุรกิจนั้นก็ดีและเราเข้าใจ จึงตัดสินใจถือหุ้น”

 

หลักในการเลือกหุ้นจะเน้นเรื่องความเป็นไปได้ทางธุรกิจ จากประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับการทำธุรกิจ ขณะเดียวกันความสามารถของผู้บริหารก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อการตัดสินใจในการเลือกลงทุน

 

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ สินค้าของธุรกิจนั้นๆ ต้องเป็นสินค้าที่ผู้คนยังจำเป็นต้องใช้ประจำอย่างสม่ำเสมอ แต่หากเป็นสินค้าที่ไปตามกระแส โดยส่วนตัวแล้วจะพยายามหลีกเลี่ยง เพราะไม่มีเวลาในการติดตาม แม้ธุรกิจเหล่านี้จะมีช่วงเวลาที่วิ่งขึ้นไป แต่สุดท้ายก็จะกลับลงมา 

 

“เราไม่ได้เป็นนักลงทุนเต็มตัว เวลาส่วนใหญ่ยังคงทำงานในออฟฟิศ ส่วนมากการตัดสินใจซื้อจะมาจากความรู้สึกถูกใจผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นนักลงทุนที่ไม่ดีนัก เพราะไม่ได้มีเวลาติดตาม” 

 

อย่างไรก็ตามสุระย้ำว่า การลงทุนโดยส่วนตัวแล้วใช่ว่าจะประสบความสำเร็จอยู่ตลอด ขาดทุนก็มีเป็นเรื่องปกติ เป้าหมายหลักของการลงทุนคือ การที่เราได้เรียนรู้จากโอกาสที่ได้พบปะกับผู้บริหารเก่งๆ 

 

ก่อนที่จะจบการสนทนา สุระได้เปิดเผยถึงข้อสงสัยของใครหลายคนที่ว่า เหตุใดการลงทุนในช่วงหลังถึงผูกไปกับนักลงทุน VI ชื่อดังอย่าง นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี

 

“จริงๆ แล้วหมอพงศ์ศักดิ์มาลงทุนใน COM7 และเป็นนักลงทุนที่เก่งมากคนหนึ่ง จากที่ได้ฟังคำถามเกี่ยวกับ COM7 ตั้งแต่ช่วงแรกๆ หลังจากนั้นเมื่อ COM7 มองหาการลงทุนใหม่ๆ จึงคิดว่าหมอพงศ์ศักดิ์น่าจะมีความรู้และช่วยให้คำปรึกษากับเราได้ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising