×

จับตายุโรปกำหนดเพดาน ‘ราคาก๊าซ’ หลังต้นทุนพุ่ง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่วิกฤตพลังงานอาจลากยาวถึงปี 2026

20.12.2022
  • LOADING...
ราคาแก๊ส

ในวันนี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของแต่ละประเทศในยุโรปมีนัดหารือเกี่ยวกับนโยบายที่จะกำหนดเพดานราคาก๊าซ ซึ่งล่าสุดยังไม่ได้ข้อสรุปจากความเห็นที่แตกออกเป็นสองฝั่ง

 

ผู้นำของแต่ละประเทศพยายามที่จะผลักดันให้เกิดข้อสรุปเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว หลังจากที่ใช้เวลาหารือมาหลายเดือน และผ่านการประชุมเร่งด่วนมาแล้วถึงสองครั้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ ข้อเสนอล่าสุดที่เกิดขึ้นคือ การกำหนดเพดานราคาก๊าซล่วงหน้า หากราคาก๊าซอิงจาก Dutch Title Transfer Facility (TTF) สูงเกินกว่า 188 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง 3 วันติดต่อกัน ซึ่งเป็นระดับเพดานที่ต่ำกว่าข้อเสนอก่อนหน้านี้อย่างมากที่ระดับ 275 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง 

 

โดยรายละเอียดเบื้องต้นของข้อเสนอดังกล่าวคือ เมื่อราคาก๊าซทะลุระดับ 188 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ราคาก๊าซ LNG จะถูกจำกัดให้เพิ่มขึ้นได้อีกไม่เกิน 35 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง อิงจากราคาของ TTF 

 

ทินเน ฟาน เดอ สแตรเทน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของเบลเยียม กล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคตและความมั่นคงด้านพลังงาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับราคาที่เราสามารถจ่ายไหว ซึ่งจะเป็นการหลีกเลี่ยงการหยุดพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม”

 

แต่ในมุมของเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย กลัวว่าการกำหนดเพดานราคาก๊าซจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมพลังงาน และยิ่งทำให้การขนส่งก๊าซมายังยุโรปลดลงไปอีก 

 

โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี กล่าวว่า “ไม่มีใครในเยอรมนีไม่อยากเห็นก๊าซราคาถูกลง แต่เรารู้ว่าจะต้องระมัดระวังที่จะไม่ทำสิ่งที่ผิดเพื่อให้มาซึ่งสิ่งที่ดี” 

 

ต้นทุนด้านพลังงานของประเทศต่างๆ ในยุโรปเพิ่มขึ้นราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และดูเหมือนว่าวิกฤตพลังงานที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษอาจเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น 

 

เมื่อฤดูหนาวนี้ผ่านไป ยุโรปจำเป็นจะต้องเพิ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมสต๊อกที่เหลือไม่มากนัก โดยการนำเข้าล็อตใหม่นี้จะไม่สามารถนำเข้าจากรัสเซียดังเช่นในอดีต ขณะเดียวกันอุปทานพลังงานในตลาดดูเหมือนจะตึงตัวต่อไปจนกระทั่งปี 2026 ซึ่งจะเป็นช่วงที่การผลิตจากฝั่งสหรัฐฯ และกาตาร์ จะเริ่มออกสู่ตลาด นั่นหมายความว่าราคาพลังงานจะยังคงสูงต่อไป 

 

Bruegel บริษัทวิจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจในเบลเยียม ประเมินว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศในยุโรปสามารถที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของภาคธุรกิจและประชาชนด้วยเงินมากที่สุดกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ แต่ด้วยต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้การใส่เงินช่วยเหลือที่เพิ่มขึ้นมากกว่าอาจจะไม่สามารถทำได้ ทำให้วิกฤตด้านพลังงานจะยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายปี

 

มาร์ติน เดเวนิช ผู้อำนวยการของบริษัทที่ปรึกษาอย่าง S-RM กล่าวว่า “เมื่อคุณเพิ่มการช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ซึ่งคิดเป็นเงินจำนวนมหาศาล จะส่งผลให้รัฐบาลแต่ละประเทศบริหารจัดการวิกฤตได้ยากขึ้นในปีหน้า”

 

ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ในยุโรปต่างใส่เงินช่วยบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจและประชาชน คิดเป็นเงินกว่า 700 ล้านยูโร ในขณะที่ทุนสำรองสำหรับการช่วยเหลือของแต่ละประเทศก็เริ่มตึงตัวแล้ว สะท้อนจากประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปกว่าครึ่งหนึ่งที่รายงานออกมาว่า หนี้สาธารณะของประเทศพุ่งขึ้นสูงกว่า 60% ของ GDP 

 

ทั้งนี้ Bloomberg ประเมินว่า ต้นทุนพลังงานในยุโรปแพงขึ้นคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่การเร่งเติมสต๊อกในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาสามารถบรรเทาปัญหาอุปทานตึงตัวได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น 

 

เมื่อสัปดาห์ก่อนเยอรมนีรายงานว่า ปริมาณพลังงานที่เหลืออยู่อาจไม่เพียงพอต่อระดับการบริโภค ขณะที่บริษัทต่างๆ รวมทั้งครัวเรือนต่างถูกขอให้ลดการใช้ลง โดยยุโรปพยายามควบคุมให้การใช้พลังงานไม่เกิน 5 หมื่นล้านคิวบิกเมตรในปีนี้ แต่ปัญหาที่ยังอยู่คือปริมาณก๊าซที่ดูเหมือนจะไม่เพียงพอในปี 2023 ซึ่ง IEA ประเมินว่ายังขาดอยู่อีกราว 2.7 หมื่นล้านคิวบิกเมตร จากการประเมินว่าการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียจะลดลงเหลือศูนย์ และการนำเข้าก๊าซ LNG จากจีนจะกลับไปสู่ระดับเดียวกับปี 2021 

 

ด้านคณะกรรมาธิการยุโรปได้กำหนดระดับพลังงานสำรองไว้ที่ 45% ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่พลังงานจะเกลี้ยงเมื่อจบฤดูหนาว แต่หากฤดูหนาวครั้งนี้ไม่หนาวมาก เป้าหมายของปริมาณสำรองจะอยู่ที่ 55% 

 

เจมี รัช ประธานทีมเศรษฐกิจยุโรปของ Bloomberg Economics กล่าวว่า ราคาก๊าซล่วงหน้าเฉลี่ยของยุโรปอยู่ที่ 135 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ลดลงจากจุดสูงสุดที่ราว 345 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หากราคาพุ่งกลับไปที่ระดับ 210 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ต้นทุนการนำเข้าพลังงานจะคิดเป็น 5% ของ GDP ยุโรป 

 

ในขณะที่ เวโรนิกา กริมม์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเยอรมนี กล่าวว่า “ภารกิจสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้หลุดออกจากวิกฤตนี้ได้คือ เราต้องเร่งขยายพลังงานทดแทนอย่างมาก” 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising